Shopping Cart

No products in the cart.

สัญญาณอันตราย…ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

ปัจจุบันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เป็นโรคที่มีสถิติผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี จากสถิติข้อมูลปี 2563 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า การเสียชีวิตของคนไทย ในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด พบว่า ร้อยละ 80 เสียชีวิตด้วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โดยส่วนมากจะไม่แสดงอาการและเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน กว่าจะรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว ดังนั้นโรคนี้จึงเป็นอีกหนึ่งโรคที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะทุกนาที วินาทีหมายถึงชีวิต

 

 

รู้จักโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน!!

ภาวะที่หลอดหัวใจเสื่อมสภาพ มีการปริแตกบริเวณผนังหลอดเลือดด้านใน ซึ่งกระตุ้นให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันขึ้นบริเวณของหลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและขาดออกซิเจน และสามารถนำมาสู่ภาวะหัวใจวาย หรือหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน!!

  • โรคความดันโลหิตและไขมันในเลือดสูง
  • โรคเบาหวาน
  • ความอ้วน
  • ผู้ที่มีความเครียด
  • สูบบุหรี่
  • เพศ : ผู้ชายมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง และผู้หญิงจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน
  • อายุ : ผู้ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป ส่วนผู้หญิงจะเริ่มในอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป
  • ผู้มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
  • ไม่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

อาการแบบนี้ต้องระวัง!!

  • ใจสั่น
  • เจ็บหน้าอก
  • หายใจลำบาก
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • เหงื่อออก
  • เวียนศีรษะ

สัญญาณอันตราย…ต้องรีบพบแพทย์!!

  • เจ็บตรงกลางหน้าอก เยื้องลงมาทางลิ้นปี่เล็กน้อย
  • จุกแน่น อึดอัด บางทีร้าวไปถึงคอหอย ไหล่ซ้าย ข้อศอก หรือท้องแขนซ้าย กรามหรือคอด้านซ้าย
  • มีอาการใจหวิว ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ เหงื่อซึม หน้ามืดหมดสติ

หากพบอาการผิดปกติ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพราะอาการเหล่านี้…เป็นส่วนหนึ่งของ “ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด” ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว หัวใจจะหยุดเต้น สมองอาจขาดออกซิเจน กลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตในที่สุด

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

รู้ได้อย่างไร…ว่าเป็น??

  • การซักประวัติและอาการของผู้ป่วย
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test : EST) สำหรับผู้ที่ไม่พร้อมในการวิ่งสายพาน จะเป็นการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงพร้อมการให้ยา (Dobutamine Stress Echocardiography)
  • การตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Coronary CT Angiography)

การป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน!!

  • ควบคุมความดันโลหิตและเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน เพราะคนอ้วนหัวใจต้องทำงานมากกว่าปกติ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงความเครียด
  • เลี่ยงอาหารที่มีไขมัน
  • เลิกสูบบุหรี่ เพราะสารนิโคตินและสารอื่นๆ มีอันตรายต่อผนังบุด้านในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดหัวใจหดตัว ลดปริมาณเลือดที่จะไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ

 

เพราะหัวใจพูดไม่ได้
หากรู้เร็วและมีอาการผิดปกติ
หรือแม้มีอาการเจ็บหน้าอกเพียงเล็ก
ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที เมื่อถึงมือแพทย์
จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิต
และได้รับการรักษาอย่างทันเวลา
โอกาสรอดชีวิตมีมากกว่า

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
พญ. อัญชิสา วงศ์ชนะยุทธ
พญ. อัญชิสา วงศ์ชนะยุทธ
แพทย์ประจำศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์