Shopping Cart

No products in the cart.

วิธีลดอาการปวดต้นคอ บ่า ไหล่ และหลัง

สำหรับใครที่ทำงานออฟฟิศหรือนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานานๆ เชื่อว่าอาการปวดต้นคอ บ่า ไหล่ และหลัง สร้างความลำบากต่อการทำงานมากจนน่ารำคาญ และหากปล่อยทิ้งไว้หรือไม่ทำการรักษาให้ทันท่วงที อาการจะยิ่งแย่ลงตลอดจนกลายเป็นโรคสุดฮิตอย่าง ‘โรคออฟฟิศซินโดรม’ ได้ในท้ายที่สุด แต่ทว่าเราจะมีวิธีใดบ้างที่ช่วยแก้ไขอาการปวดต้นคอ ตึงบ่า ไหล่ และหลังให้หมดไป ในวันนี้เรามาหาคำตอบไปพร้อมๆ กันเลย!

 

 

พฤติกรรมที่เป็นสาเหตุของอาการปวดต้นคอ บ่า ไหล่ และหลัง  

นอกจากพฤติกรรมการนั่งเก้าอี้ทำงานเป็นเวลานานแล้ว การนอนคว่ำเป็นประจำ การหนุนหมอนสูงหรือเตี้ยเกินไป การสะบัดผมแรง ๆ หรือการใช้คอกับบ่าหนีบสมาร์ตโฟนขณะคุยธุระ ฯลฯ ต่างเป็นสาเหตุของอาการปวดต้นคอ บ่า ไหล่ และหลังทั้งสิ้น ซึ่งอิริยาบถอันผิดรูปนี้หากไม่ปรับพฤติกรรมเสียใหม่ อาจทำให้อาการปวดรุนแรงมากขึ้นจนเป็นเรื้อรัง (โรคออฟฟิศซินโดรม) และพัฒนาเป็นโรคที่ส่งผลต่อบุคลิก เช่น หน้ายื่นหรือไหล่ห่อ เป็นต้น

โรคออฟฟิศซินโดรม

แนวทางการรักษาอาการปวดต้นคอ บ่า ไหล่ และหลัง มีวิธีใดบ้าง?

ทางแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูได้ระบุวิธีการรักษาไว้มากมายหลายรูปแบบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยมีอาการปวดต้นคอ บ่า ไหล่ และหลังมากน้อยแค่ไหน ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะประเมินวิธีการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติสุข โดยวิธีการรักษาอาการปวดต้นคอ บ่า ไหล่ และหลัง มีดังต่อไปนี้

  1. การปรับพฤติกรรม : เปลี่ยนทั้งท่านั่งและนอนเสียใหม่ ร่วมกับการยืดเหยียดกล้ามเนื้อสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดต้นคอ บ่า ไหล่ และหลังไม่มาก
  2. การฝังเข็ม หรือ Dry Needling : เป็นการรักษาโดยการฝังเข็มตรงจุดที่กล้ามเนื้อมีอาการหดเกร็งและปวด เพื่อคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีจุดปวดชัดเจน และไม่ต้องการรับประทานยาใด ๆ การฝังเข็มจะช่วยให้อาการปวดหายอย่างรวดเร็ว
  3. การรับประทานยา : ได้แก่ ยาลดปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยลดอาการปวดต้นคอ บ่า ไหล่ และหลัง รวมถึงลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการว่าเป็นมากน้อยเพียงใด
  4. กายภาพบำบัด : มีหลากหลายวิธี เช่น การอัลตราซาวนด์ ประคบอุ่น กระตุ้นไฟฟ้าหรือรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (PMS) รวมไปถึงการทำ Shockwave Therapy อย่างไรก็ตามก่อนทำการรักษาควรปรึกษาแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อเลือกวิธีกายภาพบำบัดอาการปวดต้นคอ บ่า ไหล่ และหลังที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติสุข
  5. การฉีดยา : แพทย์จะฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อโดยตรง เพื่อรักษาและคลายจุดปวดที่ต้นคอ บ่า ไหล่ และหลัง ซึ่งวิธีนี้จะใช้ภายหลังจากที่การรักษาด้วยการฝังเข็ม กินยา หรือการทำกายภาพบำบัดแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น
  6. การผ่าตัด : หากทำการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น เราจำเป็นต้องค้นหาสาเหตุเพิ่มเติม โดยเป็นไปได้ว่าอาการปวดต้นคอ บ่า ไหล่ และหลัง อาจเกิดจากการที่ ‘หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท’ ซึ่งการจะรักษาโรคนี้ หากตรวจพบว่ามีการกดทับบริเวณเส้นประสาท ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด เพราะหากปล่อยไว้อาการอาจแย่ลง

โดยการผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท มีทั้งแบบเปิดแผลปกติและแบบส่องกล้อง Endoscope ซึ่งอย่างหลังจะช่วยลดอาการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อ แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยไม่เสียเลือดมาก และไม่ต้องนอนโรงพยาบาลเป็นเวลานานอีกด้วย

โรคออฟฟิศซินโดรม

 อาการปวดต้นคอ บ่า ไหล่ และหลังที่เป็นสัญญาณเตือนของ ‘โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท’  

  • มีอาการปวดต้นคอ บ่า ร้าวลงแขน, สะบัก, ปลายมือ, ชาที่แขน, มือ หรือนิ้วมือ
  • มีอาการปวดหลังร้าวลงสะโพก, ขา, น่องถึงข้อเท้า หรือมีอาการชาร่วมด้วย
  • มีอาการปวดต้นคอ บ่า ไหล่ หลังเฉียบพลันและรุนแรงจากอุบัติเหตุ, การยกของหนัก, ไอจามอย่างรุนแรง
  • มีอาการปวดเรื้อรังมากกว่า 3 เดือนตามที่กล่าวมาข้างต้น และรักษาโดยการกินยา ทำกายภาพบำบัดไม่ดีขึ้น
  • อาการอื่น ๆ หากมีการกดทับเส้นประสาทบริเวณหลัง อาจทำให้มีอาการคือไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายและปัสสาวะได้, ขาอ่อนแรง, รู้สึกชาบริเวณขา เท้า หรือรอบทวารหนัก

สรุป

โรคออฟฟิศซินโดรม คือ โรคที่ส่งผลเสียต่อกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น อันเนื่องมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตเป็นหลัก ทำให้เกิดอาการปวดต้นคอ บ่า ไหล่ และหลัง ซึ่งการรักษาขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เป็นสาเหตุของแต่ละบุคคล ทั้งนี้หากมีอาการปวดต้นคอ บ่า ไหล่ หลังเล็กน้อย เพียงทานยา ฝังเข็ม และกายภาพบำบัดร่วมกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมท่าทางเสียใหม่ ก็ช่วยให้อาการปวดบรรเทาลงได้ แต่ทว่าถ้าอาการปวดร้าวกลับหนักขึ้นหรือเป็นเรื้อรังควรตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม

โรคออฟฟิศซินโดรม

โดยหากสาเหตุของอาการปวดต้นคอ บ่า และหลังมาจากหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท การรักษาโดยการผ่าตัดผ่านกล้อง Endoscope ก็จะเป็นทางเลือกและเป็นวิธีที่กำลังได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เพราะเปิดแผลเล็กจึงไม่เสียเลือดมาก รักษาได้ตรงจุด และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้นกว่าการผ่าตัดเปิดแผลแบบปกติ

ดังนั้นหากใครมีอาการปวดต้นคอ บ่า ไหล่ และหลังแบบเรื้อรัง ก็สามารถติดต่อมาที่ โรงพยาบาลไทยนครินทร์ เรามีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดเพื่อทำการรักษาอย่างตรงจุด และพร้อมให้บริการคุณด้วยความเต็มใจ!

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
พญ. วันทนียา วัชรีอุดมกาล
พญ. วันทนียา วัชรีอุดมกาล
แพทย์ที่ปรึกษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์