Shopping Cart

No products in the cart.

มะเร็งลำไส้ใหญ่ ตรวจพบก่อน รักษาหายขาด

Colon cancer หรือ มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 4 ของโลก และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง การคัดกรองและตัดติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่เพื่อตรวจโดยการส่องกล้องจึงเป็นอีกวิธีที่ช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และการเสียชีวิตลดลงได้

 

จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ มะเร็งลำไส้ใหญ่ พบบ่อยในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยอัตราการเกิดมะเร็งลำไส้ในผู้ชายเท่ากับ 16.2 ต่อประชากร 100,000 ราย และในผู้หญิง 11.1 ต่อประชากร 100,000 ราย โดยกว่า 90% มะเร็งลำไส้เป็นชนิด Adenocarcinoma ซึ่งเป็นการเซลล์เยื่อบุในผนังลำไส้มีการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นติ่งเนื้อเล็กเล็กที่เรียกว่า polyp ติ่งเนื้อบางส่วนโตขึ้นและพัฒนาการเป็นมะเร็งได้ อัตราการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และการเสียชีวิตลดลงได้ด้วยการตรวจคัดกรองและตัดติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่โดยการส่องกล้อง

เสี่ยงเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่

ลำไส้ใหญ่ในร่างกายของเรามีความยาว  1.5 เมตร ถึง 1.8  เมตร โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ลำไส้ใหญ่ที่อยู่ในช่องท้อง (colon) มีความยาว 1.5  เมตร  และสำไส้ที่อยู่ในอุ้งเชิงกราน (Rectum) ยาว 15 เซนติเมตร โดยปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ มี 2 ส่วนหลัก

ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การรับประทานเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์แปรรูปเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น เนื้อหมู เนื้อวัว ไส้กรอก เบคอน กุนเชียง เป็นต้น ในปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานาน รวมถึงการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกฮอล์ ภาวะไม่ได้ออกกำลังกาย โรคอ้วน และรับประทานผักผลไม้น้อย

ปัจจัยจากตัวบุคคล โดยพบว่าอัตราการเกิดมะเร็งลำไส้จะเพิ่มสูงขึ้นในคนอายุมากกว่า 50 ปี ซึ่งมักพบในคนไข้ที่มีโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (inflammatory bowel disease) ทั้ง crohn disease และ ulcerative colitis รวมถึงคนไข้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ มีประวัติเกี่ยวกับโรคถ่ายทอดทางพันธุกรรม และมีประวัติการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ (Personal history of Adenomatous polyp)

ระยะของมะเร็งลำไส้

ระยะที่ 0 โรคมะเร็งยังอยู่ในเยื่อบุลำไส้ (Intramucosal carcinoma)
ระยะที่ 1 โรคมะเร็งผ่านเยื่อบุลำไส้ มายังชั้นใต้เยื่อบุลำไส้ (Submucosa) และชั้นกล้ามเนื้อ (muscularis propria) ยังไม่มีทะลุเยื่อหุ้มลำไส้ใหญ่ส่วนนอก ไม่มีการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง
ระยะที่ 2 โรคมะเร็งทะลุเข้ามาในชั้นกล้ามเนื้อของลำไส้และหรือทะลุถึงเยื่อหุ้มลำไส้ใหญ่ส่วนนอก ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียงแต่ไม่มีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง
ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง แต่ยังไม่ลุกลามไปอวัยวะอื่น
ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไปหรือลุกลามไปยังอวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ตับ ปอด เป็นต้น

อาการแรกเริ่ม

ในระยะเริ่มแรกอาจจะไม่มีอาการชัดเจน ซึ่งหากหากเจาะเลือดตรวจก็จะพบค่ามะเร็งลำไส้ผิดปกติ (CEA) หรือเจาะเลือดตรวจสุขภาพอาจพบมีโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก มีภาวะสูญเสียเลือดทางเดินอาหาร มีอาการถ่ายเป็นเลือด ถ่ายดำ อุจจาระมีเลือดปน มีท้องผูกเรื้อรังต้องใช้ยาระบายช่วย หรือมีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย ปวดหน่วงบริเวณทวาร ปวดเบ่ง มีภาวะท้องผูกแบบเฉียบพลัน อุจจาระลำเล็กลง
นอกจากนี้ รวมถึงน้ำหนักลดลงโดยหาสาเหตุอื่นไม่เจอ ในบางกรณีที่ก้อนมีขนาดใหญ่จะสามารถคลำก้อนได้ในช่วงท้อง และอาจมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เนื่องจากการกดเบียดของก้อนเนื้อ

การตรวจคัดกรอง

ควรตรวจคัดกรองในผู้ที่มีอายุ 45-50  ปีขึ้นไป ซึ่งครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ มีประวัติลำไส้อักเสบเรื้อรัง และมีประวัติติ่งเนื้อในลำไส้ที่มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งลำไส้ได้ (Adenomatous polyp) โดยการตรวจคัดกรองสามารถทำได้หลายวิธี เช่น มีการตรวจโดยการเก็บอุจจาระดูเม็ดเลือดแดงแฝง การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ การทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ตรวจดูลำไส้ใหญ่ ทั้งนี้ไม่แนะนำการเจาะเลือดตรวจดูค่ามะเร็งลำไส้ (CEA) เพียงอย่างเดียว

การเตรียมตัวส่องกล้องลำไส้ใหญ่

การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เป็นการใช้กล้องใส่เข้าไปทางทวารหนักเพื่อดูลำไส้ใหญ่ในกรณีที่พบความผิดปกติสามารถตัดชิ้นเนื้อเพื่อเอาไปตรวจวินิจฉัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็นติ่งเนื้อขนาดเล็ก ซึ่งจำเป็นต้องเตรียมตัวก่อนการส่องกล้องเป็น 3 วัน
โดยรับประทานอาหารรสอ่อน ย่อยง่าย งดรับประทานผักผลไม้ที่มีกากใยสูง รับประทานยาระบายตามคำสั่งแพทย์ งดน้ำงดอาหาร 6-8 ชั่วโมงก่อนการส่องกล้อง ทั้งนี้ในกรณี มียาบำรุงเลือด ยาละลายลิ่มเลือด แจ้งแพทย์ก่อนการส่องกล้อง ต้องมีญาติ

อัตราการรอดชีวิต 

  • หากมะเร็งอยู่เฉพาะที่เยื่อบุลำไส้ อัตราการรอดชีวิต 5 ปี สูงถึง 70-90 %
  • หากมะเร็งกระจายไปต่อมน้ำเหลือง อัตราการรอดชีวิต 5 ปี อยู่ที่ 50-70 %
  • หากมะเร็งกระจายไปอวัยวะอื่น อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี อยู่ที่ 10 %

“เพราะฉะนั้น มะเร็งลำไส้ รู้เร็ว รู้ไว รักษาเร็ว รักษาไว สามารถรักษาหายขาดได้”

 

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
นพ. สิทธิยศ จันทรสาขา
นพ. สิทธิยศ จันทรสาขา
แพทย์ประจำศูนย์ทางเดินอาหาร โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์