Shopping Cart

No products in the cart.

รู้จัก Cytokine Storm ในผู้ป่วยโควิด

เชื่อว่าทุกคนเวลาอ่านหรือฟังคอนเทนต์เรื่องโควิด-19 จะต้องได้ยินคำว่า การอักเสบและการเกิด ไซโตไคน์ สตรอม (Cytokine Storm) กันอยู่หลายครั้ง แล้วก็ชักเริ่มสงสัยว่าคือกลไกอะไร และมีผลอย่างไรกับร่างกายของเรา วันนี้มาทำความเข้าใจกันค่ะ

 

Cytokine (ไซโตไคน์) คืออะไร

Cytokine มาจากคำว่า ‘Cyto’ ซึ่งแปลว่า เซลล์ และ ‘Kino’ ซึ่งแปลว่า การเคลื่อนไหว ไซโตไคน์ ก็คือ สารกลุ่มโปรตีนที่เซลล์สร้างขึ้นเพื่อส่งสัญญาณต่อไปให้เซลล์อื่นๆ เกิดความเคลื่อนไหวและทำหน้าที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการสื่อสารระหว่างเซลล์นี้ มักถูกใช้ในกระบวนการภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น เมื่อมีการบาดเจ็บหรือติดเชื้อ เม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ ในร่างกาย ก็จะส่งสัญญาณไซโตไคน์นี้ไปยังเซลล์เม็ดเลือดขาวและเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันอื่นๆ

Cytokine Storm เกิดจากอะไร

เมื่อร่างกายตรวจพบเจอสิ่งแปลกปลอม หรือเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อไวรัส เซลล์ภูมิคุ้มกันจะสร้างสารไซโตไคน์ออกมาโดยมีความตั้งใจเพื่อที่จะช่วยกระตุ้นการอักเสบตามกลไกธรรมชาติที่จำเป็นต่อการจำกัดเชื้อโรคที่มารุกรานร่างกาย แต่ถ้าหากเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันสร้างไซโตไคน์ออกมามากเกิน และเสียการควบคุมในการยับยังการสร้างสารเหล่านั้นไม่ให้ออกมาเกินความจำเป็นได้ ก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า Cytokine Storm หรือ พายุไซโตไคน์ และส่งผลทำร้ายต่อเซลล์ทำให้เกิดระบบอวัยวะต่างๆ ล้มเหลวได้ ดังที่เราอาจพบในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีปอดอักเสบอย่างรุนแรง และมีระบบทางเดินหายใจล้มเหลวตามมานั่นเอง

ใครบ้างที่เสี่ยงในการเกิด Cytokine Storm

คนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรดหัวใจ โรคอ้วน มักมีการอักเสบเรื้อรังซ่อนอยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลานานๆ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อมีการติดเชื้อโควิด-19 และมีการอักเสบตามมา จึงมีโอกาสที่จะเกิดพายุไซโตไคน์ได้ง่าย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังมักมีความรุนแรงจากการติดเชื้อโควิดมากกว่าคนอื่นๆ

Cytokine storm กับการรักษาโควิด-19

ปัจจุบันในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แพทย์อาจมีการตรวจติดตามค่าบ่งชี้การอักเสบในเลือดเพื่อช่วยในการพยากรณ์ความรุนแรงของโรค อีกทั้งนอกจากการให้ยาต้านไวรัสเพื่อยับยั้งเชื้อโรคแล้ว การใช้ยาเพื่อควบคุมการอักเสบของร่างกาย หรือการฟอกเลือดเพื่อกำจัดไซโตไคน์ ก็เป็นอาจวิธีที่สำคัญในการรักษาภาวะปอดอักเสบแบบรุนแรงจากโควิด-19 เช่นกัน
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ความเสี่ยงในการเกิดพายุไซโตไคน์นี้ส่วนหนึ่งมาจากการอักเสบและโรคประจำตัวเดิม ดังนั้นการดูแลสุขภาพพื้นฐาน รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม การควบคุมโรคประจำตัวให้ดี จึงเป็นจุดสำคัญที่ควรใส่ใจทั้งในแง่เสริมภูมิคุ้มกัน ลดการติดเชื้อ และยังป้องกันการเกิดโรคที่รุนแรงได้อีกด้วย

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
พญ. อรกมล อินกองงาม
พญ. อรกมล อินกองงาม
แพทย์ประจำศูนย์ Wellness โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์