Shopping Cart

No products in the cart.

‘โรคซึมเศร้า’ เศร้าแค่ไหน…ก็รักษาได้

‘โรคซึมเศร้า’ คือ ภาวะจิตใจที่หม่นหมอง หดหู่ ร่วมกับความรู้สึกท้อแท้ มองโลกในแง่ร้ายมีความรู้สึกด้อยค่าในตัวเอง และมีอาการในลักษณะเป็นต่อเนื่องนานมากกว่า 2 สัปดาห์ จนถึง 1 เดือนขึ้นไป โดยไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้น ซึ่งข้อแตกต่างระหว่างภาวะซึมเศร้ากับภาวะเครียดทั่วไป คือ ภาวะซึมเศร้าจะมีความต่อเนื่องของอาการยาวนานกว่า และภาวะซึมเศร้าสามารถเกิดโดยมีสิ่งกระตุ้น (Stressor) หรือไม่มีก็ได้ แตกต่างจากภาวะเครียดทั่วไปที่มักเกิดโดยมีสิ่งกระตุ้นให้เครียด กังวล นำมาก่อนเป็นส่วนใหญ่ หากมีอาการหรือสงสัยว่าจะมีอาการควรรีบมาปรึกษาจิตแพทย์โดยเร่งด่วน

 

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

  1. ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง
  2. พันธุกรรม
  3. เหตุการณ์สิ่งกระตุ้นที่ทำให้เครียด
  4. โรคทางกายภาพและยาบางชนิด

อาการของโรคซึมเศร้า

  • ด้านอารมณ์ เศร้าท้อแท้ อารมณ์อ่อนไหว เบื่อหน่ายกับสิ่งรอบข้าง ไม่มีความสุขหรือสนุกกับกิจกรรมที่ทำอยู่ประจำ หรือบางคนมีอาการหงุดหงิดฉุนเฉียวง่ายมากขึ้น
  • ด้านความคิด เริ่มมองสิ่งต่างๆ รอบตัวในเชิงลบมากกว่าความเป็นจริง อาจมีความคิดเรื่องไม่อยากมีชีวิต อยากฆ่าตัวตายในผู้ที่มีอาการซึมเศร้ารุนแรงมากๆ
  • ด้านความจำ เริ่มไม่สามารถจดจ่อกับงานที่ทำ หลงลืมบ่อยๆ ทำงานผิดๆ ถูกๆ จนมีปัญหากระทบในชีวิตประจำวัน เช่น สอบไม่ผ่าน ถูกให้ออกจากหน้าที่การงาน
  • ด้านร่างกาย อ่อนเพลียง่าย เบื่ออาหาร กินมากขึ้น นอนหลับยาก หรือนอนมากกว่าเดิม
  • ด้านสังคม เริ่มแยกตัวไม่อยากยุ่งกับใคร บุคลิกเปลี่ยนไปจากเดิมจนเป็นที่สังเกตได้ของคนรอบข้าง

วิธีรับมือเมื่อมีภาวะซึมเศร้า

  1. ผ่อนคลายความเครียดด้วยกิจกรรมที่ชอบ หรืองานอดิเรกที่ชอบทำ
  2. พยายามพูดคุยกับคนใกล้ชิดหรือคนที่ไว้วางใจ แสดงความรู้สึกให้คนอื่นได้รับรู้ หลีกเลี่ยงการปิดบังความรู้สึก หรือเก็บกดความรู้สึก เพราะอาจทำให้ภาวะซึมเศร้าแย่ลง
  3. ออกกำลังกาย 30-45 นาที อย่างน้อย 3 ครั้ง/สัปดาห์
  4. ช่วงมีภาวะซึมเศร้าให้หลีกเลี่ยงการตัดสินใจเรื่องที่สำคัญๆ ในชีวิต เพราะเป็นช่วงที่ใช้ความคิดต่างๆ ได้ไม่ตรงความเป็นจริงอาจมีทัศนคติเชิงลบมากกว่าปกติ ที่ทำให้ตัดสินใจได้ไม่ถูกต้อง
  5. หลีกเลี่ยงการดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์ (มีผลวิจัยในต่างประเทศว่า สุรา แอลกอฮอล์ มีผลให้ผู้มีภาวะซึมเศร้ามีอาการรุนแรงมากขึ้น เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากขึ้น)

การรักษาโรคซึมเศร้า

การรักษาด้วยยา

  • ปัจจุบันมียารักษาโรคซึมเศร้าที่ถูกพัฒนาขึ้นมาให้มีประสิทธิภาพ ตามลักษณะเฉพาะของผู้มีภาวะซึมเศร้า โดยยาเหล่านี้จะทำหน้าที่ปรับสารสื่อประสาทที่ควบคุมเรื่องอารมณ์ในสมอง ให้กลับมาทำงานปกติ (มีการค้นพบว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากสารสื่อประสาทในสมองบางตัวทำงานน้อยเกินไป ยาจึงไปช่วยปรับให้สารสื่อประสาทนี้กลับมาทำงานตามปกติ)
  • ยารักษาโรคซึมเศร้าจะออกฤทธิ์ค่อนข้างช้า จะต้องทานต่อเนื่องอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ จึงจะเริ่มเห็นว่าอารมณ์แจ่มใส และมักต้องใช้เวลา 4-6 สัปดาห์ ยาจึงออกฤทธิ์เต็มที่
  • เมื่ออาการเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ แพทย์จะแนะนำให้ทานยาต่ออีกอย่างน้อย 6 เดือน หรือนานกว่านั้น ตามลักษณะอาการผู้ป่วย

การรักษาด้วยวิธีจิตบำบัด

มักใช้วิธีนี้ในรายที่เป็นซึมเศร้าระดับน้อยๆ ที่ไม่รุนแรง หรือจิตแพทย์ประเมินแล้วว่ายังไม่รุนแรงถึงขั้นใช้ยา วิธีนี้ต้องใช้เวลานาน โอกาสสำเร็จจะต่ำกว่าวิธีการรักษาด้วยยา

บทบาทของญาติ

  1. ใส่ใจ ให้กำลังใจผู้ป่วย
  2. รับฟังความคิดผู้ป่วย เข้าใจในสภาวะความรู้สึกของผู้ที่เป็นซึมเศร้ามองว่าเป็นสิ่งที่ต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ ไม่ควรคิดว่าโรคซึมเศร้าเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยเลือกจะเป็นเอง หรือมองว่าจะหายได้เองโดยไม่รักษา
  3. ในรายที่มีความเสี่ยงสูง มีความคิดฆ่าตัวตาย ญาติจะต้องดูแลใกล้ชิด 24 ชม. ไม่ปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่คนเดียวจนกว่าจิตแพทย์จะประเมินแล้วว่าผู้ป่วยอาการดีขึ้น ความเสี่ยงลดลง พึงตระหนักว่าโรคซึมเศร้าและภาวะคิดฆ่าตัวตาย เป็นสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ว่าอาการจะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อไร สามารถเกิดเหตุไม่คาดฝันได้ทุกเสี้ยววินาที จึงจำเป็นต้องเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด ตลอดเวลาในช่วงที่ยังมีอาการ
Share
ผู้ที่เขียนบทความ
พญ. น้ำค้าง แก้วก่า
พญ. น้ำค้าง แก้วก่า
จิตแพทย์ประจำคลินิกสราญรมย์โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์