Shopping Cart

No products in the cart.

ยาคุมกำเนิด ตัวเร่งเกิดมะเร็งเต้านม

การรับประทานทานยาคุมกำเนิดต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลา 4-8 ปี เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม (Breast Cancer) สูงขึ้นประมาณ 1-1.6 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ได้รับประทาน

หากใครได้อ่านหัวข้อบทความนี้ก็คงสร้างความตกใจได้ไม่มากก็น้อย เนื่องจากยาคุมกำเนิดนั้นเป็นสิ่งใกล้ตัว มีการใช้กันมาอย่างยาวนาน ผลข้างเคียงต่างๆ ของยาคุมกำเนิดก็เป็นที่ทราบกันดี ดังนั้น หากจะบอกว่ายาคุมกำเนิดเป็นอันตราย และเป็นสาเหตุหลักของมะเร็งเต้านมอาจจะฟังดูเกินจริง สำหรับบทความนี้ต้องมาทำความเข้าใจกับเรื่องของยาคุมกำเนิด และปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งเต้านมกันก่อน

ในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าฮอร์โมนเพศหญิง โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) นั้น เป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมโดยชัดเจน โดยพบว่า 70-80% ของมะเร็งเต้านมนั้นเป็นชนิดที่มีตัวรับของฮอร์โมนเพศหญิงเป็นองค์ประกอบ โดยฮอร์โมนเพศหญิงสามารถกระตุ้นการทำงานของเซลล์ผ่านตัวรับฮอร์โมนเหล่านี้ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เซลล์มีการแบ่งตัวและเจริญเติบโตมากขึ้น

กินยาคุมต่อเนื่อง โปรดระวัง

โดยข้อมูลจากการศึกษาวิจัยในปัจจุบันค่อนข้างชัดเจนว่าในสตรีที่ได้รับอิทธิพลจากฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงกว่า ย่อมจะมีความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเต้านมที่สูงตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นจากปัจจัยภายในร่างกาย เช่น ช่วงระยะเวลาของการมีประจำเดือน ในสตรีที่ไม่เคยตั้งครรภ์ และให้นมบุตร หรือปัจจัยจากฮอร์โมนที่ได้รับจากภายนอก เช่น ยาคุมกำเนิด เป็นต้น ซึ่งแต่ละปัจจัยก็เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมในระดับที่แตกต่างกัน

สำหรับยาคุมกำเนิดนั้นมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน โดยนอกจากจะใช้เพื่อการคุมกำเนิดแล้ว ยังมีข้อบ่งชี้ในการใช้เพื่อรักษาโรคอื่นๆอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โรคถุงน้ำรังไข่ อาการปวดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปรกติ หรือแม้แต่การรักษาสิวก็ตาม แน่นอนว่าการทานยาคุมกำเนิดซึ่งมีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศหญิงโดยเฉพาะเอสโตรเจนต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานย่อมส่งผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ ข้อมูลจากการศึกษาพบว่าการทานยาคุมกำเนิดต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลา 4-8 ปี นั้น พบความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมที่สูงขึ้นประมาณ 1-1.6 เท่า ในขณะที่การทานยาเสริมฮอร์โมนภายหลังหมดประจำเดือนต่อเนื่องกัน 5-10 ปีนั้น พบความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมสูงขึ้นกว่า 2-6 เท่าเมื่อเทียบกับคนปกติ ความเสี่ยงดังกล่าวจะค่อยๆ ลดลงภายหลังการหยุดยา

ดังนั้นแล้วหากมีความจำเป็นต้องใช้ยาคุมกำเนิดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ควรอยู่ในความควบคุมดูแลของสูติ-นรีแพทย์ และการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างสม่ำเสมอช่วยให้สามารถรักษาได้ทันท่วงที และสามารถลดความรุนแรงของตัวโรคได้

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
นพ. ปัญญา ทวีปวรเดช
นพ. ปัญญา ทวีปวรเดช
ศัลยแพทย์ที่ปรึกษา   โรงพยาบาลไทยนครินทร์     
ข้อมูลแพทย์