Shopping Cart

No products in the cart.

ถ่ายเป็นเลือด ไม่ได้มีแค่ริดสีดวงทวารเท่านั้น

การขับถ่ายถือเป็นอีกหนึ่งกิจวัตรสำคัญในการกำจัดของเสียออกจากร่างกาย การสังเกตลักษณะและสีอุจจาระของตัวเองเป็นสิ่งที่ดี สามารถบ่งบอกปัญหาสุขภาพได้มากกว่าที่คิด  เช่น อุจจาระสีคล้ำ หรือถ่ายเป็นเลือด อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายที่แฝงภายในระบบทางเดินอาหารได้

 

เราจะรู้ได้อย่างไร อะไรคือถ่ายรุนแรง? 

การประเมินโรคและความรุนแรงของโรคนั้น สามารถดูได้จาก อายุ จำนวนครั้งที่ถ่ายเป็นเลือด ปริมาณเลือดที่ออกมารวมไปถึงอาการร่วม เช่น หน้ามืด เวียนศีรษะ อาการวูบ รวมถึงประวัติยาที่รับประทานอยู่ เช่น ยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งผู้ที่มีเลือดออกมาก ก็จะมีโอกาสเกิดรอยโรคมากกว่า

ทั้งนี้การมีเลือดหยดหลังจากถ่ายอุจจาระ อาจเกิดจากบาดแผลที่เส้นเลือดดำส่วนปลายทวาร แต่หากอุจจาระมีเลือดปนหรือถ่ายออกมามีเลือดอย่างเดียว นั่นหมายถึงการมีเลือดออกมากในลำไส้ใหญ่

ถ่ายเป็นเลือดมันมีสาเหตุอะไรบ้าง? 

โรคริดสีดวงทวาร

อาการถ่ายเป็นเลือดเป็นอาการหลักของโรคริดสีดวงทวาร 90% ของคนที่เป็นริดสีดวงทวาร เวลาถ่ายอุจจาระจะขับถ่ายเหมือนปกติก่อน หลังจากนั้นจึงตามมาด้วยหยดเลือด จุดสังเกตง่ายๆ คือ เลือดที่ว่านี้จะไม่ปะปนมากับอุจจาระเพราะเลือดที่เกิดขึ้นนั้นสาเหตุมาจากการเบ่งระหว่างขับถ่าย ทำให้กลุ่มหลอดเลือดดำที่ขอดอยู่ปริแตกออกมากลายเป็นหยดเลือดนั่นเอง บางคนอาจจะไม่รู้สึกเจ็บปวดเลย แต่บางคนอาจจะมีอาการเจ็บที่ทวารหนักรู้สึกว่าขับถ่ายยาก

สาเหตุเกิดจากการเบ่งอุจจาระเป็นประจำเนื่องจากท้องผูก ท้องเสีย ทำให้เส้นเลือดดำที่ปลายทวารหนักบวมและไม่ยุบลงไป บางคนอาจจะคลำเจอก้อนที่ปากทวารหนัก แต่ถ้าอาการไม่รุนแรงมากก้อนที่ว่าจะหดกลับเข้าไป แต่หากรุนแรงก็จะมีอาการเจ็บถึงกับนั่งเก้าอี้ปกติไม่ได้แม้แต่ยืนก็รู้สึกปวด

ถ้าดูแลตัวเองอย่างดี เช่น ไม่มีพฤติกรรมนั่งแช่นานๆ ก่อนขับถ่าย ไม่ปล่อยให้ท้องผูกเป็นประจำ ไม่อั้นอุจจาระนานๆ มีอาการปวดเมื่อไหร่ก็ควรขับถ่ายทันทีก็จะไม่มีอาการรุนแรง

ลำไส้ใหญ่อักเสบทั้งฉับพลันและเรื้อรัง

เกิดจากโรคติดเชื้อบางชนิด เช่น โรคบิดทั้งมีตัวและไม่มีตัว ซึ่งมีอาการสำคัญคือถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายบ่อยๆ มีไข้ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ถ่ายเป็นมูกร่วมกับมีเลือด หรือถ่ายเป็นเลือด ซึ่งต้องได้รับยาปฏิชีวนะหรือยากดภูมิขึ้นกับการอักเสบในลำไส้

ติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่

เป็นเนื้องอกที่เกิดจากกรรมพันธุ์ผิดปกติ มักพบในผู้ชายมากกว่าเพศหญิงที่อายุมากกว่า 50 ปี และสามารถพัฒนาเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ โดยติ่งเนื้องอกนี้เกิดได้ทุกส่วนของลำไส้ใหญ่ มีรูปร่างกลม หรือเป็นแท่งได้ อาจมีก้อนเดียวหรือหลายก้อน โดยผู้ป่วยอาจจะไม่มีอาการแสดงให้เห็นในช่วงแรก แต่บางครั้งจะมีเลือดออกถ้ามีถลอกหรือแผลที่ผิวเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ ทำให้มีเลือดเคลือบผิวอุจจาระที่ขับถ่ายออกมา ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นๆ หายๆ โดยแพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ตรวจลำไส้ใหญ่เพื่อตรวจหาติ่งเนื้อที่อาจเกิดขึ้น

มะเร็งลำไส้ใหญ่

เป็นมะเร็งที่พบบ่อยทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ส่วนใหญ่พบในคนที่อายุมากกว่า 60 ปี โดยผู้ป่วยจะขับถ่ายผิดปกติ เช่น ท้องผูก ท้องเสีย อุจจาระมีเลือด ปวดเบ่ง ถ่ายไม่สุด น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือผู้ป่วยบางรายมาพบแพทย์เพราะเสียเลือดจนเป็นโลหิตจาง ส่วนมากจะพบมะเร็งบริเวณลำไส้ใหญ่ในช่องท้องมากกว่าลำไส้ตรง

มะเร็งชนิดนี้เกิดจากการรับประทานอาหารไขมันสูงเป็นประจำและส่วนหนึ่งเกิดจากกรรมพันธุ์ มักจะรักษาไม่หายขาด ต้องใช้การส่องกล้องหรือวิธีอื่นเพื่อตรวจหาโรคและตัดเนื้อร้ายออกเพื่อป้องกันการลุกลามของโรค

โรคเส้นเลือดของลำไส้ใหญ่ผิดปกติ

เกิดจากเส้นเลือดเล็กๆ มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ ทำให้เวลาขับถ่ายจึงมีเลือดออก อุจจาระออกมามีทั้งเป็นเลือดสดทั้งก้อนหรือเป็นน้ำเลือด มักพบในผู้สูงอายุมากกว่า 70 ปี โดยที่ไม่แสดงอาการปวดท้อง แม้ว่าบางรายโรคเส้นเลือดลำไส้ใหญ่ผิดปกติ เลือดอาจจะหยุดได้เอง แต่แนะนำให้มาโรงพยาบาล เพื่อตรวจสอบดูเพื่อความแน่ใจเพราะอาการที่เกิดขึ้นมักแยกไม่ออกจากโรคอื่นๆ

เลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็ก

อาการของภาวะนี้อาจเริ่มจากอาเจียนออกมาเป็นเลือดก่อน หรืออาจไม่มีอาการอาเจียนเลยก็ได้ จากนั้นอาจตามด้วยการถ่ายเป็นเลือด โดยสามารถสังเกตได้ง่าย ๆ ว่าเลือดจะเป็นสีเข้มจนเกือบดำกลิ่นเหม็นคาวมากผิดปกติ

โรคลำไส้ขาดเลือด

ภาวะนี้มักพบในคนไข้โรคหัวใจและหลอดเลือดผิดปกติ รวมถึงหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยโรคนี้เกิดจากการที่เลือดไม่สามารถเข้าไปไหลเวียนในลำไส้ได้จนทำให้เซลล์ลำไส้เริ่มไม่ทำงานและขาดเลือดในที่สุดและเมื่อเวลาผ่านไปสักพัก ลำไส้ก็จะเริ่มเน่าจนมีแบคทีเรีย โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยมักมีอาการปวดเกร็งท้องและอาจปวดมาก หรืออาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิตได้ หากระหว่างปวดท้องมีอาการถ่ายเป็นเลือดร่วมด้วย แสดงว่าอาการเริ่มรุนแรงและมีความเสี่ยงถึงขั้นวิกฤต

เราจะป้องกันไม่ให้ถ่ายเป็นเลือดได้ยังไงบ้าง

วิธีการดูแลตนเองเพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นมะเร็งที่ถูกพบบ่อยอันดับ 2 ในเพศชายและอันดับ 3 ในเพศหญิง

  1. รับประทานอาการที่มีกากใยมากๆ เช่น ผักและผลไม้ เพื่อป้องกันอาการท้องผูก รวมไปถึงหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง
  2. ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  3. เมื่อปวดอุจจาระควรขับถ่ายทันที ไม่ควรกลั้นเอาไว้นานๆ เพราะช่วงเวลาที่กลั้นเอาไว้ ลำไส้ใหญ่จะทำงานไปพร้อมๆ กัน เพื่อดูดน้ำกลับเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เหลืออุจจาระเริ่มแข็งตัวเพราะขาดน้ำ จึงสร้างความลำบากและทรมานในการขับถ่าย ดังนั้นแต่ละคนควรจะฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา เช่น หลังจากตื่นนอน และที่สำคัญไม่เบ่งมากในขณะขับถ่าย เพราะการเบ่งจะทำให้เลือดคั่งที่บริเวณทวารหนักเกิดอาการบวมและอาจเป็นแผลได้
  4. ออกกำลังกายเป็นประจำและอย่างสม่ำเสมอแบบ cardio เช่น วิ่งหรือเดินเร็ว และไม่นั่งหรือยืนเป็นเวลานานๆ เพราะเมื่อเกิดความดันในหลอดเลือดดำตรงช่องทวารหนักจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดริดสีดวงทวาร
  5. เมื่อทำธุระส่วนตัวเสร็จควรล้างด้วยน้ำมากกว่าการใช้กระดาษทิชชูเช็ดก้น เพราะหากกระดาษที่เนื้อสัมผัสไม่นุ่มพออาจจจะเกิดการถลอกของเนื้อเยื่อทวารหนักจนเกิดการอักเสบได้

เมื่อไหร่ต้องรีบมาพบแพทย์?

คนที่มีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ เวลาขับถ่ายจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย คือเวลาขับถ่ายจะมีอาการปวดเบ่ง อุจจาระจะปนมากับมูกเลือด ลักษณะของอุจจาระจะเป็นก้อนเรียวเล็กผิดจากปกติ เนื่องจากลำไส้มีความผิดปกติ และสีอุจจาระจะออกสีแดงถึงดำ เนื้อค่อนข้างเหลว มีกลิ่นเหม็นกว่าปกติ รวมถึงน้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ เบื่ออาหารร่วมด้วย

อาการผิดปกติเช่นนี้อาจเข้าข่ายมะเร็งลำไส้ใหญ่ จึงควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการตรวจอุจจาระ หรือ ส่องกล้องลำไส้ใหญ่เพื่อแพทย์จะได้ทำการรักษาได้อย่างเหมาะสม

หากท่านมีอายุ มากกว่าหรือเท่ากับ 50 ปี รวมไปถึงมีประวัติมะเร็งลำไส้ในครอบครัว ไม่ต้องรอให้มีอาการถ่ายเป็นเลือด ก็ควรได้รับการตรวจเช็กมะเร็งลำไส้

“ก่อนออกจากห้องน้ำ … อย่าลืมดูสีอุจจาระ ด้วยความห่วงใยจากศูนย์ทางเดินอาหาร รพ.ไทยนครินทร์”

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
นพ. นิกร ปริญญาวุฒิชัย
นพ. นิกร ปริญญาวุฒิชัย
แพทย์ประจำศูนย์ทางเดินอาหาร โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์