Shopping Cart

No products in the cart.

ผ่าตัดมะเร็งเต้านม คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย

เมื่อผู้ป่วยทราบว่าเป็นมะเร็งเต้านมแล้วต้องรักษาด้วยการผ่าตัด มีความกังวลเกิดคำถามมากมาย การผ่าตัดมะเร็งเต้านมนั้นเจ็บไหม? ต้องสูญเสียเต้านมออกทั้งหมดหรือไม่? หลังการผ่าตัดต้องพักฟื้นหลายวันหรือไม่ และผ่าตัดแล้วจะหายขาดหรือไม่ 

ปัจจุบันมีวิธีในการรักษามะเร็งเต้านมหลากหลายทั้งการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด และหากพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มต้น โอกาสหายขาดสูง ทั้งนี้ยังมีวิธีการผ่าตัดแบบอนุรักษ์เต้านมร่วมกับการฉายรังสีรักษา และการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดร่วมกับการเสริมสร้างเต้านมใหม่เพื่อให้ผู้ป่วยยังคงซึ่งภาพลักษณ์ความเป็นผู้หญิงอยู่ และไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสูญเสียต่อทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

การผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมน่ากลัวหรือไม่

โดยการผ่าตัดดังกล่าวนี้ส่วนใหญ่เป็นการผ่าตัดโดยการดมยาสลบ ซึ่งขณะผ่าตัดผู้ป่วยจะหลับไม่รู้สึกตัว ไม่รู้สึกเจ็บในขณะผ่าตัด ใช้เวลาในการผ่าตัดโดยส่วนใหญ่ประมาณ 1-2 ชั่วโมง หากเป็นการผ่าตัดมะเร็งเต้านมแบบผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด และการผ่าตัดมะเร็งเต้านมแบบอนุรักษ์เต้านม

แต่หากเป็นการผ่าตัดแบบผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดร่วมกับการเสริมสร้างเต้านมใหม่นั้น อาจใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดประมาณ 3-5 ชั่วโมง ซึ่งหลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับการรักษาในโรงพยาบาลประมาณ 2-4วัน ก็สามารถไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้ ในผู้ป่วยบางรายสามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีสายระบายน้ำเหลืองคากลับบ้านซึ่งดูแลไม่ยาก

ทั้งนี้จะมีเจ้าหน้าที่แนะนำก่อนกลับบ้าน ส่วนแผลผ่าตัดจะปิดเป็นแผ่นพลาสเตอร์กันน้ำ ไม่ต้องเปลี่ยนแผล และมาพบแพทย์ตามนัดหลังการผ่าตัดประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อติดตามต่อเนื่องดูแผลผ่าตัดและวางแผนการรักษาในขั้นตอนต่อไป หลังการผ่าตัดและเอาสายระบายออกก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทำงาน ขับรถ วิ่ง ออกกำลังกายได้ตามปกติ แต่ต้องหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักๆ ที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อหน้าอกหรือแขนข้างที่ผ่าตัดได้

ผ่าตัดมะเร็งเต้านม สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างไร

โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมักคิดว่าเป็นมะเร็งเต้านมวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดนั้นต้องตัดเต้านมออกทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งเต้านมเป็นอวัยวะที่บ่งบอกถึงความเป็นภาพลักษณ์ของความเป็นผู้หญิง หากสูญเสียเต้านมไปทำให้ผู้หญิงรู้สึกขาดความมั่นใจและรู้สึกสูญเสียทั้งทางด้านกายภาพและทางด้านจิตใจ ซึ่งมีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่ยอมมารับรักษา และทิ้งเอาไว้จนทำให้มะเร็งมีการแพร่กระจาย หรือระยะของโรคมะเร็งเป็นมากขึ้น

ในความเป็นจริงวิธีการรักษามะเร็งเต้านมมีการพัฒนาขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นก็จะโอกาสหายขาดสูง และมีวิธีการรักษาให้เลือกหลากหลายวิธี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันนี้วิธีการผ่าตัดมะเร็งเต้านมนั้นก็มีให้เลือกหลากหลายวิธีด้วยเช่นกัน ไม่ใช่เพียงการผ่าตัดเต้านมทิ้งออกทั้งหมดเท่านั้น เราสามารถที่ยังคงทำให้ผู้ป่วยยังคงซึ่งความเป็นผู้หญิงโดยทำให้ผู้ป่วยยังมีเต้านมเหลืออยู่ด้วยการผ่าตัดมะเร็งเต้านมแบบอนุรักษ์เต้านม และการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดร่วมกับการเสริมสร้างเต้านมใหม่ด้วยเนื้อเยื่อผู้ป่วยเอง หรือถุงเต้านมเทียม

อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดของมะเร็งเต้านมนั้นมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็ง ซึ่งผู้ป่วยและทีมแพทย์จะร่วมกันวางแผนการรักษาด้วยการผ่าตัดให้เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย เปรียบเสมือนการผ่าตัดนั้นคือการออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าให้ผู้หญิง

โดยควรออกแบบตัดเย็บให้พอดีตัวกับผู้ป่วยในแต่ละราย เพื่อผู้ป่วยใส่ได้พอเหมาะและเหมาะสมกับผู้ป่วยนั้นๆ เพื่อให้ผู้ป่วยยังคงภาพลักษณ์ความเป็นผู้หญิงอยู่ เพิ่มความพึงพอใจและเสริมความมั่นใจแก่ผู้ป่วย และเพิ่มคุณภาพชีวิตแก่ผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยสามารถใส่เสื้อผ้า ชุดชั้นใน และใช้ชีวิตเช่นเดิมได้ โดยไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสูญเสียทั้งทางด้านกายภาพและทางด้านจิตใจอีกด้วย

ติดตามผลหลังการผ่าตัดเต้านมอย่างไรบ้าง

หลังการผ่าตัดมะเร็งเต้านมในช่วงแรกจะมีการนัดติดตามอาการหลังการผ่าตัดทุก 1-2 สัปดาห์ เพื่อดูแผลหลังการผ่าตัด และฟังผลชิ้นเนื้อหลังการผ่าตัด เพื่อวางแผนการรักษาเสริมหลังการผ่าตัดให้เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย เนื่องจากมะเร็งเต้านมนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 4-5 ชนิด ซึ่งการรักษาของมะเร็งเต้านมมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรคมะเร็ง

โดยผู้ป่วยและทีมแพทย์จะร่วมกันวางแผนการรักษาให้เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย เหมือนการตัดเสื้อผ้าให้ผู้หญิง ควรตัดให้พอดีตัวเพื่อให้พอเหมาะและเหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละราย และหลังการรักษาด้วยการรักษาเสริมเสร็จเรียบร้อยแล้วนั้น จะมีนัดติดตามอาการทุก 3 เดือน ในช่วง 2 ปีแรก และ ทุก 6 เดือน ในอีก 3 ปีถัดมา เพื่อตรวจร่างกายโดยแพทย์ว่ามีรอยโรคกลับมาเป็นซ้ำหรือไม่

รวมถึงมีการตรวจเอกซเรย์เต้านมและอัลตร้าซาวด์ (Digital Mammogram and Breast Ultrasound) ในทุกปี เพื่อประเมินรอยโรคกลับมาเป็นซ้ำ และหากผู้ป่วยมีรับประทานยาต้านฮอร์โมนอาจต้องมีการตรวจภายในทุกปีร่วมด้วย นอกไปจากนั้นก็จะมีการตรวจเช็คสุขภาพประจำปีด้วยการตรวจเลือดและเอกซเรย์ปอดเหมือนบุคคลทั่วไป

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
พญ.ชญานุตม์ รัตตดิลก
พญ.ชญานุตม์ รัตตดิลก
ศัลยแพทย์ที่ปรึกษาศูนย์โรคเต้านม โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์