Shopping Cart

No products in the cart.

การทำดิจิตอลแมมโมแกรม มีข้อเสียหรือไม่?

ในปัจจุบันเราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า มะเร็งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามากขึ้น หลายๆ ครั้งที่ได้ทราบข่าวว่าคนรู้จักเป็นมะเร็ง พอได้ยินแล้วก็เกิดคำถามว่า แล้วเราจะเป็นไหม? เป็นเมื่อไหร่? หรือตอนนี้เราเป็นแล้วหรือยัง?

 

สำหรับผู้หญิงมะเร็งเต้านมคงเป็นหนึ่งในเรื่องที่สร้างความไม่สบายใจ เนื่องจากเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศหญิงและมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่กลับเป็นสาเหตุที่ไม่สามารถควบคุมแก้ไขได้ เช่น พันธุกรรม อายุ เชื้อชาติ การถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมนเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะมาจากรังไข่ภายในร่างกายหรือจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ดังนั้น การคัดกรองมะเร็งเต้านมจึงมีส่วนสำคัญมากในปัจจุบัน

การตรวจเต้านม ลดโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งได้หรือไม่?

การคัดกรองมะเร็งเต้านม คือการตรวจเต้านมโดยแพทย์ร่วมกับการใช้เครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมและเครื่องอัลตร้าซาวน์เต้านมในการตรวจหาความผิดปกติต่างๆ ซึ่งการตรวจไม่ได้ลดโอกาสการเป็นมะเร็ง แต่มีประโยชน์ในการคัดกรองให้เจอมะเร็งเต้านมในระยะแรกก่อนที่จะแสดงอาการ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก เนื่องจากเราพบว่า หากตรวจพบมะเร็งในขณะมีอาการแล้วนั้น มักจะเป็นระยะที่ยากต่อการรักษาให้หายขาด

ทั้งนี้ อย่างที่ทราบกันดี มะเร็งยิ่งรู้เร็ว โอกาสหายขาดยิ่งสูง นอกจากนั้นยังนำไปสู่การวางแผนการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยการผ่าตัด ด้วยปัจจุบันการรักษาด้วยวิธีที่ทันสมัยสามารถผ่าตัดโดยวิธีเก็บเต้านมแทนที่การผ่าตัดออกทั้งหมด หรือการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบางส่วนแทนการตัดออกทั้งหมด ซึ่งสามารถลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ หลังการผ่าตัด เช่น แขนบวม หรืออาการชาของแขนได้

รวมถึงการรักษาด้วยยาและการฉายรังสี หากตรวจพบเจอมะเร็งในระยะแรกย่อมมีโอกาสที่จะได้รับยาเคมีบำบัดที่น้อยกว่า หรือในบางกรณีสามารถลดโอกาสที่จะต้องรับการรักษาด้วยการฉายรังสีหลังผ่าตัด ซึ่งจะเห็นว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมส่งผลให้มีโอกาสหายขาดสูง มีตัวเลือกในการรักษามากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

ใครควรได้รับการคัดกรองบ้าง?

การคัดกรองมะเร็งเต้านมทำได้ตั้งแต่ การตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองในทุกช่วงอายุ อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง หากพบว่ามีอาการผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นคลำได้ก้อน มีน้ำนมไหลผิดปกติ หรือมีผื่นที่มีลักษณะเหมือนผิวส้ม หรือหากไม่มีอาการใดๆ แต่เมื่อมีอายุมากขึ้นตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจคัดกรองด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์

การทำ Digital Mammogram มีข้อเสียหรือไม่?

หลายครั้งเราอาจเคยได้ยินว่า ตรวจด้วยดิจิตอลแมมโมแกรมแล้วจะได้รับรังสีที่เป็นอันตราย ทำให้เป็นมะเร็ง หรือการบีบบริเวณเต้านมทำให้มีอาการเจ็บหรือการมีก้อนอาจทำให้มะเร็งกระจายได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การตรวจดิจิตอลแมมโมแกรมมีการใช้รังสีเช่นเดียวกับการถ่ายภาพเอ็กซเรย์ปอด ซึ่งใช้ปริมาณรับสีเพียงเล็กน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณรังสีที่ทำให้เกิดมะเร็ง และการตรวจโดยการบีบเต้านมขณะทำดิจิตอลแมมโมแกรมนั้น ใช้แรงเพียงเล็กน้อย

โดยจุดประสงค์หลักของการฉายภาพรังสีด้วยแมมโมแกรมเพื่อให้ได้ภาพถ่ายในเต้านมที่ชัดเจน โดยที่ไม่มีผลทำให้ก้อนใดๆ ในเต้านมแตกหรือมะเร็งกระจายได้ เพราะฉะนั้นหากยังไม่แน่ใจเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองด้วยเทคโนโลยีขอให้สบายใจได้ว่า การตรวจแมมโมแกรมเป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยที่สุดในปัจจุบัน

 

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
พญ.กษมา ชิตเมธา
พญ.กษมา ชิตเมธา
แพทย์ประจำบ้านต่อยอด สาขาศัลยศาสตร์เต้านมและต่อมไร้ท่อภาควิชาศัลยศาสตร์
ข้อมูลแพทย์