Shopping Cart

No products in the cart.

Triple Assessment ตรวจรอบด้าน บ่งชี้มะเร็งเต้านมแม่นยำ

เมื่อเรามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นในเต้านม สิ่งแรกที่ควรทำคือ การไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล แต่รู้หรือไม่ว่า แพทย์มีการวิเคราะห์ข้อมูลก่อนตรวจวินิจฉัยอย่างไรบ้าง ทำไม Triple Assessment จึงสำคัญ

สำหรับการทำงานของแพทย์นั้น จะว่าไปแล้วในทางปฏิบัติคงไม่แตกต่างจากการเป็นนักสืบเท่าไรนัก กว่าจะได้การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องก็ต้องอาศัยการรวบรวมข้อมูล การตรวจพิสูจน์ข้อสันนิษฐานต่างๆ มากมายมาประกอบกัน แม้เทคโนโลยีในปัจจุบันจะก้าวหน้าไปมากแค่ไหนก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีเครื่องมือใดที่จะสามารถสแกนเพียงครั้งเดียวก็ระบุตัวโรคได้ทันที

Triple Assessment

การตรวจวินิจฉัยโรคของเต้านมในทางการแพทย์นั้น เราอาศัยข้อมูลจาก 3 ส่วนประกอบสำคัญ คือ

  • ข้อมูลทางคลินิก หรือการซักประวัติและการตรวจร่างกาย
  • การตรวจทางรังสีวิทยา หรือการตรวจเอกซเรย์
  • การตรวจทางพยาธิวิทยา หรือที่เรียกกันว่า การตรวจชิ้นเนื้อ

ประวัติสำคัญอย่างไร?

ข้อมูลทางคลินิก ทำไมข้อมูลเหล่านี้ถึงจำเป็นในยุคที่ความละเอียดของเครื่องมือการตรวจแทบจะเรียกได้ว่า ถึงไม่มีอาการอะไรก็ไปขุดคุ้ยโรคขึ้นมาจนเจอได้ ทั้งนี้ความผิดปกติหลายชนิด เช่น ฝีหนอง เลือดคั่งจากการบาดเจ็บ หรือแม้แต่แผลเป็นจากการผ่าตัดครั้งก่อนนั้น ก็อาจจะพบผลการเอกซเรย์ที่เหมือนกับโรคมะเร็งเต้านมแบบไม่ต่างกัน หรือรอยโรคของมะเร็งระยะเริ่มต้นบริเวณหัวนมก็อาจไม่เห็นความผิดปกติใดๆ จากการเอกซเรย์

ทั้งนี้ รวมไปถึงรอยโรคที่อยู่ในตำแหน่งที่ลึกหรือชายขอบของเต้านม ซึ่งหากไม่ระวังก็อาจไม่เห็นอยู่ในฟิล์มเอกซเรย์ หรืออัลตราซาวด์เต้านมได้ ทำให้ข้อมูลจากประวัติผู้ป่วยและการตรวจร่างกายที่ละเอียดถี่ถ้วนนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการวินิจฉัย

ทำไมต้องตรวจ ดิจิตอลแมมโมแกรม-อัลตราซาวนด์?

การตรวจทางรังสีวิทยา หรือการเอกซเรย์นั้นเปรียบเสมือนตาที่สามของศัลยแพทย์ แทบจะเป็นตัวเอกของเรื่องราวการวินิจฉัยโรคในยุคปัจจุบัน สำหรับการตรวจทางรังสีวิทยาของเต้านมนั้นโดยมาตรฐานแล้วจะประกอบด้วย การตรวจเอกซเรย์ด้วยดิจิตอลที่เราเรียกว่า ดิจิตอลแมมโมแกรมและการตรวจอัลตราซาวนด์เต้านม

ดิจิตอลแมมโมแกรม

การถ่ายภาพรังสี โดยอาศัยหลักการแบบเดียวกับเอกซเรย์ปอดที่เราคุ้นเคย แต่เป็นการฉายภาพรังสีโดยละเอียดเฉพาะในบริเวณเต้านมโดยตรง ซึ่งสามารถให้รายละเอียดภาพรวมของเต้านมทั้งหมด รอยโรคในเต้านมและรักแร้ เช่น เนื้องอกต่างๆ รวมไปถึงหินปูน และผลึกแคลเซียมต่างๆ ที่มีความผิดปกติได้ โดยปริมาณรังสีที่ใช้นั้นไม่แตกต่างจากการเอกซเรย์ปอดทั่วไป และมีผลการศึกษาทางการวิจัยมากมายว่ามีความปลอดภัย และไม่ก่อให้เกิดความผิดปกติในมนุษย์

อัลตราซาวนด์เต้านม

การใช้คลื่นความถี่เหนือเสียงในการตรวจซึ่งปราศจากรังสีสามารถใช้ในเด็กและสตรีมีครรภ์ได้ โดยอัลตราซาวนด์สามารถให้รายละเอียดของความผิดปกติในเต้านมได้เป็นอย่างดี สามารถแยกลักษณะของก้อน หรือถุงน้ำ ดูขอบเขต ความหนาแน่นของก้อน หรือความผิดปกติของต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ได้อย่างแม่นยำ ในขณะที่ข้อมูลเกี่ยวกับผลึกหินปูนในเต้านม หรือการดูภาพรวมของเต้านมทั้งหมดนั้น อาจไม่สามารถให้รายละเอียดเทียบเท่าแมมโมแกรมได้

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการตรวจทั้ง 2 แบบ สามารถกลบจุดด้อยของกันและกันได้เป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นในสตรีที่อายุน้อย โดยเฉพาะชาวเอเชียซึ่งมีความหนาแน่นของเนื้อเต้านมที่สูง (extremely dense breast) ซึ่งการตรวจดิจิตอลแมมโมแกรมอาจไม่สามารถให้รายละเอียดที่ดีนัก ในทางปฏิบัติจึงอาจใช้เพียงการตรวจอัลตราซาวนด์เต้านมก็เพียงพอ

ส่วนการตรวจที่มีความละเอียดสูงกว่านี้ เช่น การตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI แม้จะมีความไวของการตรวจที่สูง แต่ก็ไม่ได้มีความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมที่เหนือกว่าดิจิตอลแมมโมแกรม และอัลตราซาวนด์แต่อย่างใด จึงแนะนำให้ใช้ในรายที่มีปัญหาในการตรวจวินิจฉัย หรือใช้ตรวจคัดกรองในผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมของโรคมะเร็งเต้านมเป็นหลัก

การตรวจชิ้นเนื้อ คืออะไร?

การตรวจทางพยาธิวิทยา ในรายที่ตรวจพบรอยโรคในเต้านมที่มีความสงสัย การตรวจชิ้นเนื้อก็เปรียบเสมือนกรรมการตัดสินชี้ขาดว่ารอยโรคที่เห็นนั้นคืออะไร ใช่หรือไม่ใช่มะเร็ง สำหรับการตรวจชิ้นเนื้อของเต้านมในปัจจุบันนั้นสามารถทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่เป็นมาตรฐานและเป็นที่นิยมคือ การใช้เข็มเจาะตรวจชิ้นเนื้อ (Core Needle Biopsy) หรือการเจาะดูดเซลล์ด้วยเข็มขนาดเล็ก (Fine Needle Aspiration) โดยทั้ง 2 วิธี สามารถทำได้ง่ายและมีการบาดเจ็บน้อย สามารถใช้ร่วมกับเอกซเรย์ หรืออัลตราซาวน์เต้านมเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการเจาะตรวจชิ้นเนื้อที่สงสัยได้

ส่วนในรอยโรคบางอย่างที่ลักษณะทางพยาธิวิทยามีความคล้ายคลึงกัน แพทย์ผู้รักษาอาจพิจารณาการส่งตรวจย้อมสีชิ้นเนื้อเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัย

ดังนั้นการตรวจทั้ง 3 วิธีดังกล่าวมีความสำคัญและขั้นตอนในการตรวจไม่มากมาย หากมีความผิดปกติของเต้านม หรือต้องการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมก็ควรพบแพทย์เนื่องจากการตรวจพบโรคในระยะเริ่มแรก จะนำไปสู่ผลการรักษาที่ดี และมีโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้มากขึ้น

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
นพ. ปัญญา ทวีปวรเดช
นพ. ปัญญา ทวีปวรเดช
ศัลยแพทย์ที่ปรึกษา   โรงพยาบาลไทยนครินทร์     
ข้อมูลแพทย์