Shopping Cart

No products in the cart.

การดูแลผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน ช่วง COVID-19

ช่วง COVID-19 ระบาด ทำไมผู้สูงอายุถึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังและดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากผู้สูงอายุมักจะมีโรคร่วมหลายโรค ไม่ว่าจะเป็น โรคเบาหวาน โรคถุงลมโป่งพอง การบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อง่าย ภาวะภูมิต้านทานที่ผิดปกติ ทำให้ภูมิต้านทานต่ำลงตามอายุ ซึ่งหากผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียงติดเชื้อโควิด-19 อาจส่งผลให้มีอาการรุนแรงและเสี่ยงเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้

 

ผู้สูงอายุเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนอะไรได้บ้าง

ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนและมีภาวะแทรกซ้อนที่เกิดได้ในทุกระบบของร่างกาย ได้แก่
  • ระบบทางเดินหายใจ ผู้สูงอายุจะมีความยืดหยุ่นของปอดผิดปกติ ทรวงอกแข็งขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุอยู่เฉยๆ ก็รู้สึกเหนื่อย
  • ระบบทางหัวใจและหลอดเลือด ผู้ป่วยสูงอายุจะมีภาวะหัวใจโต หัวใจเต้นผิดจังหวะ ไขมันในเลือดสูง ทำให้เกิดเส้นเลือดหัวใจตีบ เวลาเปลี่ยนท่าทางจะมีความดันต่ำ หรือทำให้ผู้ป่วยหน้ามืดเป็นลมได้ง่าย
  • ระบบต่อมไร้ท่อ ผู้สูงอายุจะมีการดื้อของอินซูลินมากขึ้น ทำให้เกิดเบาหวานได้ง่ายขึ้น และมีภาวะของไทรอยด์ที่ผิดปกติ ซึ่งสามารถเกิดได้ทั้งไทรอยด์ต่ำและไทรอยด์เป็นพิษ โดยไทรอยด์ผิดปกติในผู้สูงอายุจะมีอาการแสดง ได้แก่ เวียนหัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซึมเศร้า ฯลฯ

  • ระบบกระดูกและมวลกล้ามเนื้อ ผู้สูงอายุจะมีภาวะกระดูกพรุน มีมวลกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ ทำให้การทรงตัวผิดปกติ เสี่ยงต่อการหกล้มได้ง่าย
  • ระบบทางสมอง ผู้สูงอายุจะมีความจำที่ผิดปกติ สมองเสื่อม สมองฝ่อ ทำให้เสี่ยงต่อการสำลักได้ มีภาวะกระดูกฝ่อ เสี่ยงต่อการเกิดภาวะโลหิตจาง
  • ภาวะดูดซึมอาหารผิดปกติ ทำให้เกิดภาวะโภชนาการผิดปกติ
  • ระบบผิวหนัง ผู้สูงอายุจะมีผิวหนังบาง ผิวหนังคัน เป็นทางเข้าของเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น
  • ภาวะสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุอาจช่วยเหลือตัวเองได้ผิดปกติไป ทำให้รู้สึกว่าคุณค่าในตัวเองน้อยลง หรือมีการสูญเสียบุคคลที่รัก เช่น คู่ครอง ก็จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกซึมเศร้า
  • ภาวะการมองเห็น ระบบการมองเห็นผิดปกติ เช่น ต้อหิน ต้อกระจก ทำให้การมองเห็นผิดปกติได้
  • ระบบการได้ยิน การได้ยินที่ผิดปกติ เช่น แก้วหูเสื่อม ซึ่งทำให้ผู้ป่วยหงุดหงิดได้ง่ายขึ้น
  • ระบบช่องปาก ผู้ป่วยสูงอายุจะมีการหลุดร่วงของกระดูกและฟัน ฟันหลุดร่วงง่าย การขบเคี้ยวผิดปกติ ร่วมกับมีน้ำลายที่น้อยลงกว่าคนอายุน้อย ทำให้ภาวะโภชนาการของผู้สูงอายุผิดปกติไปได้
  • ระบบทางเดินอาหาร ผู้สูงอายุจะมีการดูดซึมอาหารที่ผิดปกติ กระดูกหลังที่โค้งงอมากขึ้น ทำให้ท้องอืด ท้องผูก ได้ง่ายขึ้น

หากผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวหรือภาวะติดเตียงร่วมด้วย ควรดูแลอย่างไร ไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน

  1. โภชนาการ ผู้สูงอายุควรรับประทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ โดยมีคุณค่าทางโภชนาการครบ 5 หมู่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโรคประจำตัวของผู้ป่วยด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ กลุ่มนี้จะต้องปรึกษาแพทย์ที่รักษาอยู่ประจำว่าต้องควบคุมอาหารอย่างไร และต้องระวังเรื่องการสำลัก
  2. ออกกำลังกาย ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายเพื่อเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ แต่ต้องระวังเรื่องการหกล้ม ดังนั้นการออกกำลังกายควรจะเน้นแบบเบาๆ อย่างน้อยประมาณ 20-30 นาที แนะนำให้ออกกำลังกาย 5 วัน/สัปดาห์
  3. อารมณ์และจิตใจ ผู้สูงอายุจะดูแลตัวเองได้น้อยลง ทำให้รู้สึกว่าคุณค่าในตัวเองลดลง เพราะฉะนั้นคนในครอบครัวควรเอาใจใส่ ให้เวลา พูดคุย รับประทานอาหารร่วมกัน ออกไปเที่ยวในวันหยุดสุดสัปดาห์ เช่น สวนสาธารณะ เดินตากแดดอ่อนๆ ก็จะดีต่อผู้สูงอายุ
  4. ผู้ป่วยติดเตียง
    – ระวังเรื่องการสำลัก ป้องกันโดยการนอนหัวสูงเวลาให้อาหาร
    – ระวังเรื่องแผลกดทับ ป้องกันโดยการพลิกตัวทุก 2-3 ชั่วโมง
    – ระวังเรื่องข้อยึด ต้องทำกายภาพบำบัดตามที่แพทย์แนะนำ
    – ระวังเรื่องเส้นเลือดตีบ ซึ่งจะต้องยกขาสูง และพันขาผู้ป่วยเป็นระยะ

หากในบ้านมีผู้ที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อมาถึงบ้าน

เมื่อต้องออกนอกบ้าน ควรเตรียมตัวให้พร้อม เช่น เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ รักษาระยะห่าง เมื่อกลับถึงบ้านควรถอดหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วลงในถุงแยก รีบล้างมือ อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ ก่อนจะไปพบผู้สูงอายุ

อาการเตือนที่ผู้สูงอายุควรพบแพทย์

  • มีไข้
  • ไอ
  • เจ็บคอ
  • เหนื่อย หอบ
  • หายใจเร็ว
  • ซึม
  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลด

นอกจากนี้ผู้สูงอายุ อาจจะมาด้วยอาการ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ซึม สับสน หนาวสั่น ดังนั้นคนในครอบครัวต้องหมั่นสังเกตอย่างใกล้ชิด ถ้ามีอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ที่รักษาประจำ

บริการรับดูแลผู้ป่วยติดเตียง (Elderly Care) 

โรงพยาบาลไทยนครินทร์ มีบริการ Elderly Care รับดูแลผู้ป่วยติดเตียง ด้วยทีมบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่
  • ทีมแพทย์อายุรกรรม โรคหัวใจ โรคปอด โรคไต โรคเบาหวาน ต่อมไร้ท่อ
  • ทีมศัลยแพทย์
  • ทีมจิตแพทย์
  • โภชนบำบัด
  • พยาบาล
  • นักกายภาพบำบัด

นอกจากนี้ยังมีสถานที่ที่เหมาะสมในการที่จะดูแลผู้ป่วยติดเตียง ห้องแยก โปร่ง โล่ง มีหน้าต่าง ครบครันด้วยอุปกรณ์ในการดูแลผู้ป่วย เช่น เครื่องดูดเสมหะ ออกซิเจน และ ICU ในกรณีที่จำเป็นต้องย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
พญ. ธัญทิพย์ จงบุญญานุภาพ
พญ. ธัญทิพย์ จงบุญญานุภาพ
อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์