Shopping Cart

No products in the cart.

ตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ…ยิ่งสูงวัย ยิ่งมีความเสี่ยง

หากเปรียบเทียบร่างกายดั่งรถยนต์เมื่อเราขับใช้งานมาถึงระยะทางหนึ่ง จำเป็นต้องเข้าศูนย์เพื่อตรวจสภาพเครื่องยนต์ ร่างกายคนเราก็เช่นเดียวกันเมื่อใช้งานมาถึงระยะเวลาหนึ่งย่อมมีการเสื่อมสภาพ ถดถอยเกิดขึ้น ดังนั้นการตรวจสุขภาพในผู้สูงอายุจึงมีความจำเป็น เพราะเป็นการค้นหาความผิดปกติที่เรายังไม่รู้ตัวหรือยังไม่มีอาการให้เห็น เพื่อป้องกันการเกิดโรค วินิจฉัยและรักษาได้ตั้งแต่แรกเริ่มก่อนที่จะลุกลามจนยากเกินรักษา

 

ผู้สูงอายุควรตรวจสุขภาพอะไรบ้าง

ตรวจสุขภาพเราแบ่งการตรวจเป็น 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่ ตรวจร่างกายภายนอก การวิเคราะห์ผลทางห้องปฏิบัติการ และการตรวจทางรังสีวินิจฉัย

1.การตรวจร่างกายภายนอก

  • ตรวจร่างกายทั่วไปและการซักประวัติ เช่น ช่างน้ำหนัก วัดส่วนสูง ตรวจความดันโลหิต ตรวจอัตราการเต้นของหัวใจ และซักประวัติผู้สูงอายุว่าเคยเป็นโรค และมีประวัติพันธุกรรมใดบ้าง เพื่อแพทย์ประเมินความเสื่อมของร่างกายในแต่ละส่วน ว่าส่วนไหนมีความเสี่ยงในการเกิดโรค
  • ตรวจตา โดยอายุที่เพิ่มขึ้นเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคตา เช่น โรคต้อหิน หรือต้อกระจก ภาวะประสาทจอรับภาพเสื่อม
  • ตรวจการได้ยิน ภาวะหูหนวก หูตึง พบได้บ่อยมากประมาณร้อยละ 25-35 ในผู้สูงอายุ และพบมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น
  • ตรวจสุขภาพช่องปาก โดยผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 50 ที่อยู่ในชุมชน มีโรคเกี่ยวกับเหงือกและฟันที่ซ่อนเร้นอยู่ ได้แก่ ฟันผุ เหงือกอักเสบ หรือมะเร็งในช่องปาก
  • ตรวจภายในเกี่ยวกับอวัยวะสืบพันธุ์ในสตรี เพื่อเป็นการตรวจค้นหาก้อนเนื้องอกผิดปกติที่อาจพบได้ในระบบอวัยวะสืบพันธุ์ ซึ่งอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งพบสูงขึ้นตามอายุ

2.การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

  1. ตรวจเลือด เพื่อวัดระดับน้ำตาล ดูความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ตรวจไขมันเพื่อดูความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันและเส้นเลือดในสมองตีบ ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดเพื่อดูภาวะโลหิตจาง ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกร็ดเลือด ตรวจการทำงานของไตและเอนไชม์ตับ โดยบางท่านอาจพบภาวะตับอักเสบ โดยที่ไม่มีอาการซึ่งภาวะตับอักเสบก็มีได้หลายสาเหตุ อาจเกิดจากยาหรืออาหารเสริมที่รับประทานเป็นประจำ จากไวรัสตับอักเสบ หรือจากภาวะไขมันพอกตับ เป็นต้น
  2. ตรวจปัสสาวะ เพื่อคัดกรองความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ
  3. ตรวจอุจจาระ เพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

3.ตรวจวินิจฉัยทางรังสี และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นการตรวจดูความผิดปกติเบื้องต้นของหัวใจ ซึ่งในผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น ส่วนการวิ่งสายพาน การอัลตราซาวด์หัวใจหรือที่เรียกสั้งๆ ว่า Echo หัวใจ เพื่อตรวจคัดกรองเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มเติม จะมีการพิจารณาตามความเหมาะสม
  • เอกซเรย์ทรวงอก เพื่อดูความผิดปกติของปอด เช่น ถุงลมโป่งพอง หัวใจโต เส้นเลือดในทรวงอกผิดปกติ ก้อนที่ปอด วัณโรคปอด
  • อัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน ส่วนล่าง เพื่อคัดกรองความผิดปกติในช่องท้อง สิ่งผิดปกติที่สามารถตรวจพบจากการอัลตราซาวด์ช่องท้องได้ เช่น ไขมันพอกตับ ก้อนที่ตับ นิ่วในถุงน้ำดี ก้อนที่รังไข่ นิ่วที่ไต เป็นต้น โดยที่บางท่านอาจไม่มีอาการความผิดปกติใดๆ ก่อนมาตรวจ การตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่ในระยะแรกก็จะทำให้การรักษามีความสำเร็จมากขึ้น
  • อัลตราซาวด์เต้านมและ Mammogram ในผู้หญิงเพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 1 ในสตรีไทย โดยตรวจทางรังสีสามารถตรวจพบก้อนผิดปกติได้ตั้งแต่ก้อนขนาดเล็กที่ยังไม่สามารถคลำพบได้
  • วัดระดับความหนาแน่นของมวลกระดูก เพื่อเฝ้าระวังรักษาภาวะมวลกระดูกบางหรือพรุน ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก โดยเฉพาะสตรีวัยหมดประจำเดือน มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะกระดูกพรุนได้มากขึ้น

การเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ

  • ควรงดน้ำ และอาหารก่อนตรวจประมาณ 8-12 ชั่วโมง เพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด หากกระหายน้ำ สามารถดื่มน้ำเปล่าได้
  • หากมีโรคประจำตัว หรือประวัติการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งอื่น ควรนำมาให้แพทย์เพื่อประกอบคำวินิจฉัย และในกรณีที่มียาทานประจำ ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ สอบถามเพิ่มเติมว่า จำเป็นต้องงดรับประทานยาหรือไม่ และควรนำยามาด้วยในวันที่เข้ารับการตรวจ
  • พักผ่อนให้เพียงพอในวันก่อนมาตรวจ การนอนน้อยอาจมีผลทำให้ความดันโลหิตสูงกว่าปกติและรู้สึกอ่อนเพลียได้
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลัง และกาแฟในวันก่อนตรวจ เนื่องจากอาจทำให้ความดันโลหิตสูงกว่าเป็นจริง
  • ควรสวมเสื้อผ้าที่สะดวกต่อการเจาะเลือด และการตรวจร่างกาย

ผู้สูงอายุอยู่ในช่วงวัยที่สุขภาพเริ่มถดถอย ดังนั้นการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ จึงควรเน้นไปที่การตรวจเพื่อค้นหาความเสื่อมสภาพของอวัยวะต่างๆ เช่น ตรวจหัวใจ ไต สมอง ช่องท้อง และมะเร็งต่างๆ รวมถึงการตรวจมวลกระดูก เนื่องจากคนในวัยนี้มักพบภาวะกระดูกเสื่อม ผุกร่อน ทำให้กระดูกแตกหักได้ง่าย

นอกจากนี้ประวัติครอบครัว กรรมพันธุ์ และรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคลยังเป็ยองค์ประกอบสำคัญในการเลือกโปรแกรมตรวจที่จะช่วยค้นหาความเสี่ยงการเกิดโรค เพื่อการเฝ้าระวังเป็นพิเศษก่อนระยะลุกลาม ดังนั้นเพื่อความอุ่นใจและคลายกังวลเรื่องปัญหาสุขภาพในอนาคตควรตรวจร่างกายเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
พญ. วรางคณา  อิ่มฤทัยเจริญโชค
พญ. วรางคณา อิ่มฤทัยเจริญโชค
อายุรแพทย์ประจำแผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์