Shopping Cart

No products in the cart.

เบาหวานขณะตั้งครรภ์…ภาวะอันตรายที่คุณแม่ต้องระวัง

ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) เป็นความเสี่ยงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรใส่ใจ เนื่องจากร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ฮอร์โมนที่สร้างมาจากรกเพิ่มขึ้น เช่น Progesterone, Beta hCG, hPL มีฤทธิ์ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นง่ายกว่าปกติ จึงทำให้เกิดภาวะเบาหวานในช่วงตั้งครรภ์ได้

 

ตรวจสุขภาพทุกปี ไม่มีภาวะเบาหวาน แต่ทำไมในช่วงตั้งครรภ์ ถึงเกิดโรคเบาหวานได้?

เนื่องจากร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระหลายอย่างขณะตั้งครรภ์ มีทั้งน้ำหนักของคุณแม่ที่เพิ่มขึ้น ฮอร์โมนที่สร้างมาจากรกเพิ่มขึ้นช่วงตั้งครรภ์ เช่น Progesterone, Beta hCG, hPL มีฤทธิ์ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นง่ายกว่าปกติ จึงทำให้เกิดภาวะเบาหวานขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ (ไตรมาสที่ 2 ขึ้นไป) หลังจากคลอด ระดับน้ำตาลมักจะกลับสู่ภาวะก่อนตั้งครรภ์ ภายใน 7 วัน

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes)

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีผลกระทบอย่างไรต่อเด็กและแม่

  • ผลต่อเด็ก : หากควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดี เด็กจะมีน้ำหนักตัวมาก (> 4 กิโลกรัม) มีน้ำตาลที่ต่ำลงหลังคลอดได้ มีเกลือแร่บางชนิดผิดปกติ หรือตัวเหลืองได้ แต่ไม่สัมพันธ์กับความพิการของระบบอวัยวะใดๆ
  • ผลต่อแม่ : เพิ่มโอกาสในการผ่าตัดคลอดมากขึ้น การคลอดก่อนกำหนด ครรภ์เป็นพิษ ภาวะน้ำคร่ำที่มากหรือน้อยกว่าปกติได้

ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ตรวจวินิจฉัยอย่างไร

ตรวจวินิจฉัยโดยการรับประทานน้ำตาลกลูโคสและเจาะระดับน้ำตาลหลังจากรับประทานน้ำตาล หากค่าสูงเกินมาตรฐานก็จะวินิจฉัยว่ามีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes)

เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ รักษาอย่างไร?

การรักษา คือ ควบคุมอาหารและติดตามระดับน้ำตาล หากสูงเกินมาตรฐานอาจจะใช้ยาอินซูลิน หรือบางรายอาจใช้ยารับประทานบางชนิดร่วมด้วยได้

การดูแลตนเองเมื่อทราบว่ามีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์

  • ลดปริมาณน้ำหวาน น้ำผลไม้ และขนมหวานลง
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต 45-60% ของพลังงานทั้งหมด เป็นอาหารที่มีเส้นใย หรือคาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการขัดสีน้อย เช่น ข้าวกล้อง โอ้ต ลูกเดือย มันหวาน เป็นต้น

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes)

  • ติดตามระดับน้ำตาลปลายนิ้ว ก่อนและหลังอาหาร
  • ติดตามการเพิ่มลดของน้ำหนัก ให้เหมาะสมกับระยะของการตั้งครรภ์
  • ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ส่วนมากมักควบคุมได้ด้วยการปรับอาหารให้เหมาะสม มีบางส่วนเท่านั้นที่ควรใช้ยาร่วมด้วย เพื่อให้ผลต่อการตั้งครรภ์ดีที่สุด

 

ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
เป็นความเสี่ยงที่เราควรใส่ใจอย่างเข้าใจ
หากควบคุมเหมาะสมไม่มากหรือน้อยเกินไป
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะมีผลกระทบ
โดยรวมน้อยจนใกล้เคียงครรภ์ปกติ

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
พญ.กรกฎ ดำรงกิจชัยพร
พญ.กรกฎ ดำรงกิจชัยพร
แพทย์ประจำศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์