Shopping Cart

No products in the cart.

มือ-เท้า-ปาก ป้องกัน…ก่อนระบาด

ในทุกฤดูฝนของทุกปี นอกจากอาการเจ็บป่วยจากสภาพอากาศที่คุณพ่อคุณแม่กังวลแล้ว อีกหนึ่งโรคระบาดในเด็กเล็กอย่าง โรคมือเท้าปาก ก็สร้างความเป็นกังวลให้กับทุกครอบครัวไม่แพ้กัน การรู้เท่าทันโรคมือเท้าปาก จะทำให้คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันก่อนเกิดการระบาดได้

 

รู้จักโรคมือเท้าปาก

โรคมือเท้าปาก เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อกลุ่มเอนเทอโรไวรัสหลายชนิด โดยไวรัสค็อกซากี (Coxsackie Virus) เป็นสายพันธุ์ที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง แต่สายพันธุ์ที่รุนแรงคือ เชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) หรือ EV 71 ซึ่งอาจทำให้ก้านสมองอักเสบและเสียชีวิตได้ โรคมือเท้าปากพบบ่อยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และมักมีการระบาดในช่วงฤดูฝน

ทุกบริเวณสัมผัส เสี่ยงติดมือเท้าปาก

โรคมือเท้าปาก สามารถติดต่อได้ง่าย โดยการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากตุ่มพอง แผล หรืออุจจาระของผู้ป่วย โดยทางตรงหรือทางอ้อม เช่น สัมผัสผ่านของเล่น มือผู้เลี้ยงดู น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ ดังนั้นโรคนี้จึงมักระบาดในโรงเรียนชั้นอนุบาลเด็กเล็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็ก

รู้ได้เมื่อไหร่ว่า ลูกน้อยป่วย ‘มือเท้าปาก’

หลังจากได้รับเชื้อมาแล้ว 3-6 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการไข้ เจ็บปาก รับประทานอาหารได้น้อย มีตุ่มแดงหรือแผลที่ลิ้น เหงือกกระพุ้งแก้ม และเพดานปาก ซึ่งจะทำให้เด็กมีน้ำลายไหลและรับประทานอาหารได้น้อย มีผื่นเป็นจุดแดงหรือตุ่มน้ำใสที่บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า อาจมีผื่นขึ้นที่รอบก้น อวัยวะเพศ ลำตัว และแขนขาได้ โรคนี้ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง หายได้เองภายใน 7-10 วัน บางรายอาจมีภาวะขาดน้ำจากการรับประทานอาหารและน้ำน้อยลง

โรคมือเท้าปากส่วนใหญ่ ไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่ในเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 อาจพบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงคือ ก้านสมองอักเสบ ซึ่งทำให้ระบบหายใจและระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว และเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว

อาการอันตรายของ ‘มือเท้าปาก’ ควรรีบพบแพทย์

ในผู้ป่วยที่มีไข้สูง ไม่สามารถรับประทานอาหารและน้ำได้ อาเจียนมาก ซึม หรือมีอาการหอบเหนื่อย ชักเกร็ง กระตุก เดินเซ แขนขาอ่อนแรง ต้องรีบมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที

โรคมือเท้าปากยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ดังนั้นการรักษาจึงเป็นเพียงการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาชาเฉพาะที่สำหรับแผลในปาก การดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำ สำหรับเด็กที่มีอาการรุนแรง รับประทานอาหารไม่ได้ มีภาวะขาดน้ำมาก ควรได้รับน้ำเกลือทางเส้นเลือด

รักษาความสะอาด เกราะป้องกันโรคมือเท้าปาก

ปัจจุบันมีวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Enterovirus 71 (EV71) สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน – 5 ขวบ ให้บริการ โดยฉีด 2 เข็มห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน ประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อได้ถึง 97%  นอกจากนี้ เราสามารถป้องกันโรคได้ด้วยการสร้างสุขอนามัยที่ดี ดังนี้

  • หมั่นล้างมือให้สะอาดเป็นประจำด้วยน้ำและสบู่
  •  ตัดเล็บมือให้สั้น
  • ทำความสะอาดของเล่นที่ต้องเข้าปากเด็ก ด้วยสบู่หรือผงซักฟอก แล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้ง
  • ทำความสะอาดพื้น สิ่งแวดล้อม ด้วยน้ำผสมผงซักฟอก อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง สำหรับพื้นผิวที่เปื้อนเชื้ออย่างมาก ให้ทำความสะอาดด้วยน้ำยาคลอร็อกซ์หรือน้ำยาฟอกขาว 0.5-1%
  • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ช้อนส้อม หลอดดูด แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น
  • หากพบว่าเด็กป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก ควรแยกผู้ป่วยออกจากเด็กปกติ ให้หยุดเรียนและงดพาผู้ป่วยไปในสถานที่ชุมชนแออัด เช่น ศูนย์การค้า ตลาดหรือสนามเด็กเล่น เป็นเวลาประมาณ 7-10 วันหรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ
Share
ผู้ที่เขียนบทความ
พญ. กฤติญา ชัยโชติจินดา
พญ. กฤติญา ชัยโชติจินดา
กุมารแพทย์ทั่วไปและสาขาโรคติดเชื้อในเด็ก โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์