Shopping Cart

No products in the cart.

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท …โรคยอดฮิตของคนวัยทำงาน

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท สามารถพบได้กับคนทุกเพศทุกวัย และไม่เพียงเฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้นที่โรคร้ายนี้คอยจ้องเล่นงาน หากแต่ยังพบมากในกลุ่มคนวัยทำงานด้วยเช่นกัน ซึ่งอาการปวดจะยิ่งรุนแรงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง นอกจากนี้อาการ ‘หมอนรองกระดูกอักเสบ’ เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น การก้ม ๆ เงย ๆ ขณะทำงาน, ยกของหนักเป็นประจำ, นั่งทำงานในออฟฟิศหรือนั่งขับรถติดต่อกันหลายชั่วโมง ต่างก็มีโอกาสที่หมอนรองกระดูกจะเสื่อมสภาพและทับเส้นประสาทได้ในท้ายที่สุด

5 ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท มีดังนี้

  • อายุ : อาการปวดหลังเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งพบบ่อยในคนวัยทำงานและผู้สูงอายุ
  • ขาดการดูแลรักษาสุขภาพ : คนที่ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ กล้ามเนื้อรอบกระดูกสันหลังจะไม่แข็งแรงทำให้ไม่สามารถรองรับแนวกระดูกสันหลังได้อย่างเหมาะสม
  • โรคอ้วน : คนที่มีน้ำหนักตัวมากเกินพอดี กระดูกสันหลังจะต้องรับภาระอย่างหนักและอาจส่งผลต่อหมอนรองกระดูกอาการปวดตามข้อต่อจุดต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ไขมันบริเวณหน้าท้องอาจทำให้สมดุลร่างกายเสียและเสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุอีกด้วย
  • โรคบางชนิด : ได้แก่ ข้ออักเสบ เนื้องอกบางประเภท ฯลฯ
  • การทำงาน : งานที่ต้องยกของหนักอาจทำให้ ‘หมอนรองกระดูกเคลื่อน’ เพราะแรงผลักและแรงดึง ส่วนงานที่ต้องนั่งโต๊ะเป็นเวลานานก็มีความเสี่ยงจะเป็นโรคหมอนรองกระดูกด้วยเช่นกัน

ปัจจับเสี่ยง หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

สัญญาณเตือน! ถ้ามีอาการดังนี้ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน

  • ปวดหลังเรื้อรังติดต่อกันนาน 3 เดือน
  • ปวดร้าวลงมาตั้งแต่บริเวณสะโพก ขา น่อง จนถึงเท้า
  • มีอาการปวดเฉียบพลันและรุนแรงจนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เอง
  • มีอาการปวดจากการได้รับบาดเจ็บหรือหกล้มจน ‘หมอนรองกระดูกปลิ้น’
  • มีอาการปวดร่วมกับอาการแทรกซ้อน เช่น ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้, ขาอ่อนแรง, รู้สึกชาบริเวณขา เท้า หรือรอบทวารหนัก, คลื่นไส้อาเจียน, มีไข้ และน้ำหนักลดผิดปกติโดยไม่ทราบเหตุ

สัญญาณเตือน หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

การรักษา มีวิธีไหนบ้าง?

  • การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด : เป็นวิธีขั้นต้นในการรักษาผู้ที่เริ่มมีอาการแต่ยังไม่มีความผิดปกติของระบบประสาทปรากฏ โดยจะให้ผู้ป่วยทานยาแก้อักเสบหรือยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อควบคุมอาการปวด ร่วมกับทำกายภาพบำบัด และการนอนพักผ่อนเพียงพอจนหายเป็นปกติ
  • การรักษาด้วยวิธีฉีดยา : โดยจะฉีดยาเข้าเส้นประสาทหลังเพื่อลดอาการปวดร้าวลงขา อีกทั้งยังช่วยบรรเทาอาการ ‘หมอนรองกระดูกอักเสบ’ และทำให้การวินิจฉัยตำแหน่งที่เป็นต้นเหตุของอาการปวดได้อย่างแม่นยำ ซึ่งวิธีการรักษานี้จะใช้กับผู้ป่วยที่อาการยังไม่ดีขึ้นจากการทานยา หรือมีอาการปวดจากการที่เส้นประสาทโดนรบกวน
  • การรักษาด้วยการ ‘ผ่าตัดหมอนรองกระดูก’ : ในกรณีที่ผู้ป่วยหมอนรองกระดูกอาการกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง เดินไม่ได้ และไม่สามารถควบคุมปัสสาวะหรือการขับถ่ายได้ แพทย์จะใช้วิธีการผ่าตัดทำการรักษา ทั้งนี้การผ่าตัดมีด้วยกัน 2 วิธี ได้แก่ การผ่าตัดแบบเปิดแผล และการผ่าตัดแบบส่องกล้อง Endoscope ซึ่งอย่างหลังจะช่วยลดอาการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อ แผลมีขนาดเล็ก ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลนาน และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ต้องรีบรักษา

ปัจจุบันการรักษาโรคนี้มีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับว่าอาการมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน โดยหากคุณหรือคนในครอบครัวมีอาการปวดหลังบ่อย ๆ ทางที่ดีควรรีบปรึกษาแพทย์โดยทันที เพื่อทำการตรวจเช็กอย่างละเอียด และวางแผนการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลังโดยเฉพาะ
Share
ผู้ที่เขียนบทความ
นพ. วิวัฒน์ ชวาลภาฤทธิ์
นพ. วิวัฒน์ ชวาลภาฤทธิ์
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์