Shopping Cart

No products in the cart.

ภาวะกรดยูริกสูงและโรคเกาต์

ภาวะกรดยูริกสูงและโรคเกาต์ (Hyperuricemia and Gout)

กรดยูริกในเลือดสูง (Hyperuricemia) คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่าปกติ โดยเพศชายมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่า 7 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เพศหญิงมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่า 6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ผลจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูงเป็นเวลานานหลายปี ทําให้เกิดการตกผลึกของเกลือยูเรต (Urate Crystal) ในเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย

 

ประมาณร้อยละ 10-15 ของคนที่มีกรดยูริกในเลือดสูงจะเกิดข้ออักเสบหรือโรคเกาต์ ซึ่งแบ่งเป็นระยะข้ออักเสบเฉียบพลัน ระยะสงบ และระยะเรื้อรังที่มีก้อนโทฟัส (Chronic Tophaceous Gout) ซึ่งได้แก่ เกลือยูเรตที่สะสมบริเวณต่างๆ หากสะสมที่ผิวหนังจะเกิดเป็นตุ่มก้อน, สะสมในข้อทำให้ข้อถูกทำลายผิดรูปได้

กรดยูริกสูงและโรคเกาต์ (Hyperuricemia and Gout)

นอกจากนี้ยังมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้แก่ เกลือยูเรตสะสมในไตเกิดไตวายเรื้อรัง, ภาวะนิ่วในทางเดินปัสสาวะ และมักพบร่วมกับภาวะอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในโลหิตสูง เป็นต้น การวินิจฉัยโรคอาศัยประวัติและการตรวจร่างกาย ร่วมกับระดับกรดยูริกในเลือดสูง การตรวจพบลักษณะของผลึกยูเรตสะสมจากอัลตราซาวน์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และการตรวจพบผลึกเกลือยูเรตจากน้ำไขข้อ

แนวทางการรักษาโรคเกาต์ (Gout)

การรักษาโรคเกาต์ประกอบไปด้วยวิธีไม่ใช้ยา เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ร่วมกับการใช้ยา ซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่าการใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง โดยการรักษาจะต้องปรับให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป

กรดยูริกสูงและโรคเกาต์ (Hyperuricemia and Gout)

การรักษาโรคเกาต์โดยไม่ใช้ยา

  1. ลดน้ำหนักหากมีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน ควรลดแบบช้าๆ จนได้ดัชนีมวลกายที่เหมาะสม
  2. การรักษาโรคร่วมและปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ การหยุดสูบบุหรี่
  3. ปรับเปลี่ยนยาที่มีผลทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูง เช่น ยาขับปัสสาวะบางชนิด
  4. แนะนําให้ดื่มน้ำมากกว่า 2 ลิตรต่อวันในผู้ที่ไม่มีข้อห้าม เช่น โรคไตหรือโรคหัวใจบางประเภท
  5. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยงดหรือหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารพิวรีน (purine) สูง ซึ่งพิวรีนจะเปลี่ยนเป็นกรดยูริกในร่างกาย

อาหารที่มีพิวรีนสูง

  • เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ, ไส้, หัวใจ
  • เนื้อแดง
  • อาหารทะเล เช่น กุ้ง, หอย, ปลาซาร์ดีน, ปลาอินทรีย์
  • น้ำเกรวี, กะปิ, ยีสต์, น้ำสกัดเนื้อ, ซุปก้อน, ปลาดุก
  • ชะอม, กระถิน, เห็ด, ถั่วแดง, ถั่วเขียว, ถั่วเหลือง, ถั่วดำ
  • ผักบางชนิด เช่น หน่อไม้, ดอกกะหล่ำ, ผักโขม, สะตอ, ใบขี้เหล็ก
  • เครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลฟรุ๊กโตส
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์

กรดยูริกสูงและโรคเกาต์ (Hyperuricemia and Gout)

ผลไม้รสหวาน

  • อาการที่รับประทานได้ตามปกติ
  • นมสด, นมพร่องมันเนย, เนย, โยเกิร์ตไขมันต่ำ, น้ำเต้าหู้
  • ข้าวชนิดต่างๆ ยกเว้น ข้าวโอ๊ต
  • ผัก ผลไม้ชนิดต่างๆ นอกจากที่กล่าว
  • ไข่
  • ขนมปัง ขนมหวาน หรือน้ำตาล
  • ไขมันจากพืช และสัตว์

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายที่มีโรคเกาต์กําเริบขึ้นภายหลังจากการรับประทานอาหาร ควรงดอาหารชนิดนั้นๆ ไป และควรปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร โดยพิจารณาโรคร่วมอื่นๆ ด้วย

6. หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุต่อข้อ หรือการออกกําลังกายอย่างหักโหม เนื่องจากจะทําให้ข้ออักเสบกําเริบ
7. ขณะที่มีข้ออักเสบ ควรพักการใช้งานตำแหน่งดังกล่าว การประคบเย็นช่วยบรรเทาอาการปวดบวมได้

กรดยูริกสูงและโรคเกาต์ (Hyperuricemia and Gout)

การรักษาโดยใช้ยา

ประกอบไปด้วยการรักษา 2 อย่าง ได้แก่

1. ยาควบคุมอาการอักเสบ

ใช้รักษาการอักเสบเฉียบพลัน และป้องกันการอักเสบกำเริบระหว่างปรับระดับกรดยูริกให้ได้ตามเป้าหมาย ได้แก่ ยาโคลชิซิน (Colchicine), ยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs; NSAIDs) และยาสเตียรอยด์ (Steroid)

2. ยาลดกรดยูริก

เป้าหมายของการรักษาคือ ลดระดับกรดยูริกในเลือดให้น้อยกว่า 6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ในรายที่โรครุนแรง เช่น มีก้อนโทฟัสต้องลดระดับกรดยูริกให้น้อยกว่า 5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หากลดระดับกรดยูริกได้ตามเป้าหมาย ก็จะไม่เกิดข้ออักเสบ ก้อนโทฟัสจะค่อยๆ มีขนาดเล็กลงจนหมดไป ซึ่งมักใช้เวลารักษานาน ในปัจจุบันคำแนะนำส่วนใหญ่ไม่แนะนำให้หยุดยา
1) ยาลดการสร้างกรดยูริก ได้แก่ ยาอัลโลพิวรินอล (Allopurinol), ยาเฟบบูโซสแตท (Febuxostat)
2) ยาเพิ่มการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ ได้แก่ ยาโปรเบเนซิด (Probenecid), ยาเบนซ์โบรมาโรน (Benzbromarone), ยาซัลฟินไพราโซน (Sulfinpyrazone)

 

โดยยาทั้งหมดนี้
แต่ละชนิดมีแนวทางการใช้
และผลข้างเคียงแตกต่างกัน
การเลือกใช้ยาจึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
เพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
มากที่สุด

 

 

References:
1. แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโรคเกาต์ (Guideline for Management of Gout) โดยสมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2555
2. 2012 American College of Rheumatology Guidelines for Management of Gout. Part 1: Systematic Nonpharmacologic and Pharmacologic Therapeutic Approaches to Hyperuricemia.
3. 2012 American College of Rheumatology Guidelines for Management of Gout. Part 2: Therapy and Antiinflammatory Prophylaxis of Acute Gouty Arthritis.
Share
ผู้ที่เขียนบทความ
พญ. ศศิภาส์ หมื่นนุช
พญ. ศศิภาส์ หมื่นนุช
อายุรแพทย์ประจำสาขาโรคข้อและรูมาติสซั่ม โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์