Shopping Cart

No products in the cart.

อยากได้ไตใหม่ ! ก่อนผ่าตัดปลูกถ่ายไต ต้องรู้อะไรบ้าง ?

ไตใหม่ จะช่วยให้ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไตมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่า การรักษาด้วยวิธีฟอกเลือดและล้างไตทางช่องท้อง

การปลูกถ่ายไต คือ หนึ่งในวิธีการรักษาภาวะไตวายเรื้อรัง นอกเหนือจากการฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง ซึ่งทางทีมแพทย์จะนำไตที่ได้จาการรับบริจาคมาผ่าตัดปลูกถ่ายไตให้แก่ผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้าย แม้ว่าไตใหม่นี้จะทำงานได้ใกล้เคียงกับไตปกติ แต่ผู้ป่วยที่ได้รับไปจะมีสุขภาพแข็งแรง มีการจำกัดอาหารการกินน้อยกว่า และใช้ชีวิตได้ง่ายกว่าการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แน่นอน

ใคร คือผู้ที่สามารถรับการรักษาผ่าตัดปลูกถ่ายไตได้ ?

  • ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย
  • คนที่ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรงที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการผ่าตัด
  • ผู้ที่ไม่เป็นโรคมะเร็ง หรือเป็นแต่รักษาจนหายขาดแล้ว
  • คนที่แพทย์พิจารณาแล้วว่า การผ่าตัดปลูกถ่ายไตได้ประโยชน์มากกว่าโทษ (ยกเว้นโรคตับอักเสบบีและซี)
  • ผู้ที่ไม่ติดเชื้อ HIV
  • คนที่มีสภาพจิตเป็นปกติ
  • ผู้ที่ไม่มีความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะที่แก้ไขไม่ได้

รู้หรือไม่ ไตที่ใช้ในการผ่าตัดปลูกถ่ายได้มาอย่างไร ?

  • Deceased Donor หมายถึง ได้ไตมาจากผู้บริจาคสมองตาย โดยในทางกฎหมายและทางการแพทย์ถือว่าเป็นผู้เสียชีวิตแล้ว แต่ไตยังทำงานเป็นปกติดีอยู่ ทั้งนี้การบริจาคไตต้องเกิดจากความประสงค์ของเจ้าของไต หรือได้รับการยินยอมจากญาติผู้เสียชีวิตแล้วเท่านั้น ซึ่งไตจะบริจาคให้แก่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย และจะถูกจัดสรรให้แก่ผู้ป่วยที่รอรับไตอย่างเป็นธรรมต่อไป
  • Living Donor หมายถึง ไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิตอยู่ ซึ่งในทางกฎหมายผู้บริจาคจะต้องเป็นญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด หรือเป็นการบริจาคไตสามีภรรยาที่แต่งงานและอยู่ด้วยกันมากว่า 3 ปีขึ้นไป จึงจะสามารถทำเรื่องขอบริจาคได้ แต่หากในกรณีที่ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน ก็ไม่จำเป็นต้องรอจนครบ 3 ปีใด ๆ เลย

ถ้าอยากปลูกถ่ายไตใหม่ต้องทำอย่างไร ?

ให้ติดต่อโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.organdonate.in.th กับ www.transplantthai.org หรือสอบถามจากแพทย์และพยาบาล ที่ดูแลเกี่ยวกับโรคไต เพื่อขอข้อมูลเบื้องต้นประกอบการตัดสินใจก็ได้เช่นกัน

ผู้ป่วยต้องรอไตใหม่นานแค่ไหน ?

ในกรณีของผู้บริจาคมีชีวิตจะใช้เวลาในการปลูกถ่ายไตแก่ผู้ป่วยไม่นาน แต่ต้องหลังจากที่ผ่านการประเมินความพร้อมของผู้บริจาค การเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อ และต้องแน่ใจด้วยว่าผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรง พร้อมสำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนไตมากที่สุด

ส่วนในกรณีของผู้ป่วยที่รอรับไตจากผู้บริจาคสมองตาย ทางศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยจะลงทะเบียนชื่อผู้ป่วย ซึ่งไตจะถูกจัดสรรอย่างเป็นธรรม อีกทั้งในปัจจุบันมีผู้ป่วยรอรับไตกว่า 5,600 ราย ในขณะที่ผู้บริจาคไตมีจำนวนจำกัด ดังนั้นจึงต้องใช้เวลารอค่อนข้างนานกว่า การผ่าตัดเปลี่ยนไตจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิต

ขั้นตอนการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด

รับบริจาคจากผู้เสียชีวิต (Deceased Donor)

1.ติดต่อโรงพยาบาลที่ผ่านการรองรับจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย เพื่อขอลงทะเบียนต่อคิวรอไต (เลือกลงทะเบียนแห่งใดแห่งหนึ่งเท่านั้น)

2.โรงพยาบาลจะนัดตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อประเมินความพร้อมและชนิดของเนื้อเยื่อ (HLA Typing)

3.จากนั้นโรงพยาบาลจะนำข้อมูลผู้ป่วยส่งไปยังศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย และรอการติดต่อกลับเมื่อถึงคิวรับบริจาค ซึ่งจะพิจารณาตามเกณฑ์ Best Match หรือการจัดสรรไตให้กับผู้ป่วยที่มีคะแนนสูงสุด จากการคำนวณความเข้ากันได้ของไต โดยจะประกอบด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความเหมือนกันของเนื้อเยื่อ อายุ ระยะเวลาฟอกเลือดหรือล้างไต เป็นต้น

4.ผู้ป่วยต้องเตรียมตัวให้พร้อมเสมอ เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสได้รับบริจาคไตใหม่ เช่น ดูแลร่างกายให้แข็งแรง เข้ารับการฟอกเลือดหรือล้างไตตามแผนการรักษาปกติ รวมไปถึงการวางแผนเดินทางมาโรงพยาบาลทันทีที่ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่

รับจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิต (Living Donor)

การผ่าตัดปลูกถ่ายไตสามารถทำได้ทันทีที่ผู้บริจาคพร้อม และทำได้ตั้งแต่ที่ผู้ป่วยยังไม่โดนฟอกเลือดหรือล้างไต แต่ทั้งนี้ผู้บริจาคต้องผ่านการตรวจโดยละเอียด เมื่อไม่พบปัญหาใด ๆ ก็สามารถบริจาคไต 1 ข้างให้กับผู้ป่วยได้เลย ซึ่งผู้บริจาคจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยที่ระดับของเสียภายในเลือดจะยังคงอยู่ในระดับปกติต่อไป

Share