Shopping Cart

No products in the cart.

โรคข้อเข่าเสื่อม…เสื่อมแล้วต้องรักษา!

หลายคนอาจเข้าใจว่า ‘ข้อเข่าเสื่อม’ เป็นเรื่องของผู้สูงอายุ แต่ความจริงแล้วข้อเข่าเสื่อมสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย ไม่เว้นแม้แต่วัยรุ่นหรือวัยทำงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดความเจ็บปวด ข้อเข่าฝืด ผิดรูป

 

เข้าใจภาวะข้อเข่าเสื่อม!

‘ข้อเข่าเสื่อม’ อาจไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงถึงชีวิต แต่ก็ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก ซึ่งข้อเข่าเสื่อมเกิดขึ้นได้จากการใช้งานข้อเข่ามากเกินไป ทำให้กระดูกอ่อนบริเวณข้อเข่าเสียดสีกันจนเกิดการเสื่อมและสึกกร่อนของกระดูกอ่อนผิวข้อจนมีอาการปวดเข่า มักเกิดขึ้นจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่มีการใช้งาน ข้อเข่ามากเกินไปและอายุที่เพิ่มมากขึ้นมีผลทำให้เกิดความเสื่อมของข้อเข่า

ใครบ้างเสี่ยงโรคข้อเข่าเสื่อม

  • พันธุกรรมและความผิดปกติแต่กำเนิดบางชนิด เช่น ขาหรือเข่าผิดรูป
  • อายุและเพศ โดยเมื่ออายุมากขึ้น ความสามารถในการซ่อมแซมตัวเองของกระดูกอ่อนก็ลดลง มีความเสี่ยงของโรคเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปจะมีแนวโน้มของการเกิดข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่าผู้ชายที่อายุเท่ากัน
  • ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือมีประวัติบาดเจ็บที่ข้อเข่า ไม่ว่าจากอุบัติเหตุหรือการเล่นกีฬา เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการข้อเข่าเสื่อมในวัยหนุ่มสาว แม้จะรักษาอาการบาดเจ็บนั้นได้ก็อาจส่งผลเรื้อรังจนทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อม โดยถึงแม้ร่างกายจะมีการซ่อมแซมตัวเองหลังการบาดเจ็บก็ตาม โครงสร้างข้อเข่าก็อาจไม่แข็งแรงเหมือนเดิมถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
  • การใช้ข้อเข่าหักโหมซ้ำๆ หรือท่าทางบางอย่างที่ต้องงอเข่ามากเกินไป เช่น การคุกเข่า หรือนั่งยองๆ ซึ่งทำให้เข่าต้องรับแรงกดสูงกว่าปกติเป็นเวลานานหรือบ่อยครั้ง
  • โรคไขข้ออักเสบ เช่น รูมาตอยด์ เกาท์ ส่งผลให้กระดูกอ่อนถูกทำลายจนกระทั่งหมดไป ทำให้เกิดอาการปวดและข้อติดแข็ง
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก เพราะน้ำหนักที่มากทำให้ข้อต่อต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อเข่าต้องรับภาระในการแบกน้ำหนัก ส่งผล ให้ข้อเข่าเกิดการเสียดสีและสึกกร่อนได้ง่าย

เจ็บแบบไหน? สัญญาณเตือน ‘ข้อเข่าเสื่อม’

  • มีอาการปวดข้อตึงหรือขัด รวมถึงข้อยึด ข้อฝืด ยึดงอขาออกได้ไม่สุดในบางครั้ง
  • มีอาการปวดบวมแดงและร้อนบริเวณข้อเข่า โดยเฉพาะในช่วงที่ใช้งาน เช่น การยืน เดิน วิ่ง อาการจะลดลงเมื่อได้พัก
  • เวลาขยับหรือเคลื่อนไหว จะมีเสียงเสียดสีกันของข้อให้ได้ยิน
  • เจ็บปวดบริเวณข้อเมื่อเปลี่ยนท่า เช่น นั่งคุกเข่า ขัดสมาธิ รวมถึงเวลายืน เดินกะเผลกและข้อผิดรูปจนขาโก่งได้
  • เดินขาแข็งงอเข่าได้น้อย

โรคข้อเข่าเสื่อม เสื่อมแล้ว…ต้องรักษา!

ปัจจุบันการรักษาข้อเข่าเสื่อม สามารถทำได้หลายวิธี หากอาการของโรคยังไม่รุนแรง
ระดับเล็กน้อย ให้คำแนะนำเรื่องของออกกำลังกาย คุมน้ำหนักตัว โภชนาการ เพื่อให้กลับสู่สภาพเดิม
ระดับปานกลาง แพทย์อาจพิจารณาให้ใช้การรักษาด้วยการฉีดน้ำหล่อลื่นผิวข้อเข่าและรับประทานยา เพื่อลดการเสียดสีขณะเคลื่อนไหว ซึ่งวิธีนี้จะสามารถทำได้กับเฉพาะผู้ที่ไม่เคยมีการติดเชื้อในข้อเข่าเท่านั้น เพื่อชะลอการผ่าตัด
ระดับรุนแรง หากมีอาการปวดที่รุนแรงเรื้อรังมานานและต้องใช้ยาแก้ปวดเป็นประจำ แพทย์ส่วนใหญ่จะแนะนำให้ผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทดแทนข้อเข่าที่เสื่อม โดยการผ่าตัดเปลี่ยนใส่ข้อเข่าเทียมทดแทนผิวข้อเข่าเดิมที่สึกชำรุดโดยใช้วัสดุโลหะและพลาสติกโดยยึดกับกระดูกด้วยซีเมนต์ ให้ตรงเหมือนเดิม

ดูแล ‘เข่า’ อย่างไร…ไม่ให้ ‘เสื่อม’ กว่าเดิม!

  • ควบคุมน้ำหนัก ช่วยลดภาระในการแบกน้ำหนักของข้อเข่าให้ไม่ต้องทำงานหนัก
  • โภชานาการทางด้านอาหารครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะโปรตีนและวิตามิน E
  • ออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อรอบหัวเข่าแข็งแรง

โรงพยาบาลไทยนครินทร์พร้อมดูแลทุกปัญหาสุขภาพของคุณ ด้วยประสบการณ์และความชำนาญของแพทย์เฉพาะทางภายใต้มาตรฐานสากล เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเรามาใส่ใจดูแลและป้องกันข้อเข่าเสื่อมกันดีกว่า

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
นพ. สุพิชัย เจริญวารีกุล
นพ. สุพิชัย เจริญวารีกุล
แพทย์ที่ปรึกษาศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์