Shopping Cart

No products in the cart.

รู้จักสารอันตราย ‘สไตรีน โมโนเมอร์’

จากกรณีเพลิงไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก บริเวณชุมชนกิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ ส่งผลให้เกิดควันพิษจากสารเคมี ‘สไตรีน โมโนเมอร์’ ซึ่งเป็นสารที่ก่ออันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ระคายเคืองต่อผิวหนังและดวงตา หากสัมผัสในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาวและเสี่ยงโรคมะเร็งได้ 

 

ตอนที่ 1 ตัวอย่างการรั่วไหลของสารเคมี ‘สไตรีน’ ในไทยและเทศ

สไตรีน โมโนเมอร์ (Styrene Monomer: CAS RN:100-42-5) หรือสไตรีน เป็นของเหลวใส ไม่มีสี มีกลิ่นเฉพาะตัว ไม่ละลายน้ำและเบากว่าน้ำ ระคายเคืองต่อตา ระคายเคืองต่อผิวหนัง ห้ามหายใจสูดดมละอองไอของสาร และควรเก็บในที่เย็น

  • เป็นสารไวไฟ ไม่เสถียรเพราะสามารถเกิดปฏิกิริยาโพลีเมอไรเซชันได้ง่าย โดยการทำปฏิกิริยารวมตัวกับสารโมโนเมอร์ชนิดเดียวกัน (Self-Polymerization) คือตัวเอง หรือต่างชนิดกัน ทำให้เกิดความร้อนและเกิดการระเบิดได้ ในการจัดเก็บสไตรีนโมโนเมอร์ ในภาชนะบรรจุต้องมีการเติมสารยับยั้งปฏิกิริยาเพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาโพลีเมอไรเซชัน เช่น สาร 4-เทอเทียรีบิวทิลแคทิคอล (TBC)
  • เป็นสารที่มีความเสี่ยงจากการทำปฏิกิริยาอย่างรุนแรง โดยอาจก่อให้เกิดการระเบิดได้เมื่อผสมกับอากาศ การให้ความร้อนทำให้เกิดแรงดันที่สูงขึ้น และมีความเสี่ยงสูงในการระเบิด ขณะอุณหภูมิสูง เมื่ออยู่ในอากาศจะทำปฏิกิริยากับอนุมูลไฮดรอกซิล และโอโชน ทำให้ปริมาณโอโซนลดลง
  • เป็นสารที่ระเหยได้เร็ว ไอระเหย “หนักกว่า” อากาศ จึงจะแพร่กระจายไปตามพื้น (กรณีไอระเหย อาจไม่ได้ลอยตามกระแสลมบนอย่างที่คิด)

กรณีสารเคมี ‘สไตรีน โมโนเมอร์’ รั่วไหลในต่างประเทศ

อุบัติเหตุจากสไตรีนรั่วไหล (เหตุเกิดวันที่ 28 ส.ค. 2548) โดยสถานที่เกิดเหตุ คือ พื้นที่รอการขนส่ง ณ สนามบินลังเกน รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา เกิดการรั่วไหลของสไตรีนโมโนเมอร์ จากส่วนของอุปกรณ์วาล์วนิรภัย (Safety Valve) ของถังบรรจุสารสไตรีนโมโนเมอร์ ขนาดบรรจุ 24,000 แกลลอน หรือ 90,000 ลิตร บนรถไฟขนส่งที่รอทำการขนส่ง

ข้อสันนิษฐานคาดว่า วาล์วนิรภัยของถังบรรจุเปิดออก เนื่องจากเกิดความดันสูงภายในถัง จากปฏิกิริยาโพลีเมอไรเซชันซึ่งเป็นปฏิกิริยาคายความร้อน ซึ่งอาจเกิดจากสารยับยั้งปฏิกิริยา TBC มีปริมาณไม่เพียงพอยับยั้งปฏิกิริยาหรือไม่มีการเติม ผลจากการเกิดอุบัติเหตุนั้น รัฐออกคำสั่งอพยพประชากรออกจากพื้นที่ในเขตรัศมีจากตัวถัง และประกาศเป็นเขตควบคุมตลอดรัศมี 1 ไมล์ และมีการปิดสนามบินชั่วคราว ในครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ผู้เข้าปฏิบัติงาน หรือผู้เข้าตรวจสอบเหตุการณ์ (ตำรวจ 2 นาย) ถูกนำส่งโรงพยาบาลเนื่องจากสูดดมสไตรีนโมโนเมอร์โดยตรง ดังนั้นผู้มีหน้าที่ทำงานต้องผ่านการฝึกซ้อม และต้อง “สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัย” ที่เหมาะสมก่อนเข้าปฏิบัติการ (เช่น แบบมีถังบรรจุอากาศแบบพกพา)

บทเรียนที่แตกต่างกันระหว่างไทยและเทศ

อุบัติเหตุจากสไตรีนรั่วไหล กรณีในประเทศไทย (เหตุเกิดวันที่ 5 ก.ค. 2564) ผลกระทบเกิดทันทีกับประชาชนที่อาศัยบริเวณภัยพิบัติสารเคมีใกล้โรงงานบริเวณซอยกิ่งแก้ว ขณะที่กรณีในประเทศสหรัฐอเมริกา เหตุเกิดในพื้นที่รอการขนส่งของสนามบิน ซึ่งมีพื้นที่กันชน และไม่จัดเป็นพื้นที่ชุมชนอยู่อาศัยของประชาชน โดยเหตุในไทย มีบ้านผู้คนอยู่อาศัยในระยะไม่เกิน 1 กิโลเมตรและอยู่กันอย่างหนาแน่น อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ชุมชนที่ใกล้ชิดติดชานกรุง (ย่านบางนา ลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร)

ตอนที่ 2 ระงับเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดจากสารเคมี

กรณีประชาชนที่อาศัยบริเวณภัยพิบัติสารเคมีโรงงานบริเวณซอยกิ่งแก้วและผู้ทำงานในที่เกิดเหตุระยะฉุกเฉิน ในการอพยพผู้คนออกจากสถานที่เกิดเหตุ อันตรายที่เกิดขึ้นต่อผู้เผชิญเหตุในช่วงเฉียบพลันจะมากหรือน้อย ขึ้นกับการรับสัมผัสสาร

โดยขึ้นกับความรุนแรงของสารเคมี ขนาดของสารเคมี (คือใกล้แหล่งสารเคมีมากขนาดใด) และระยะเวลาการสัมผัส (คือระยะเวลาที่ทำงานอยู่ในบริเวณนั้น) รวมถึงการป้องกันตนเองโดยเครื่องป้องกันอันตราย (ได้แก่หน้ากากป้องกันทางเดินหายใจ เป็นต้น)
ผู้ทำงานใกล้จุดเกิดเหตุจะได้รับควันพิษขนาดมาก โดยเฉพาะหากไม่ใส่เครื่องป้องกันตนเองที่เหมาะสม และทำงานเป็นเวลานาน จึงควรใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด ใส่หน้ากากที่มีไส้กรองสารเคมี หรืออย่างน้อยเป็นชนิด N95

วิธีรับมือเบื้องต้น เมื่อสัมผัส-สูดดม ‘สไตรีน โมโนเมอร์’

  • เมื่อสูดดม: ให้รับอากาศบริสุทธิ์ ใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจ หากหายใจไม่สะดวก
  • เมื่อสัมผัสทางผิวหนัง: ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนออกทันที ล้างออกด้วยน้ำสะอาดในปริมาณมากๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที
  • เมื่อเข้าตา: ล้างออกโดยให้น้ำสะอาดไหลผ่านในปริมาณมากๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที และรีบไปพบแพทย์
  • เมื่อกลืนกิน: ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำสะอาดในปริมาณมากๆ และรีบไปพบแพทย์

อาการอันตราย เมื่อสัมผัส ‘สไตรีน โมโนเมอร์’

  • ระบบหายใจ: การระคายเคืองระบบหายใจเรื้อรัง
  • ผิวหนัง: เกิดแผลจากการระคายเคือง อาการแพ้เรื้อรัง
  • ตา: ระคายเคืองต่อดวงตา ปวด และตาแดง
  • กลืนกิน: การระคายเคือง และเป็นแผลไหม้ที่ปากและกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการเจ็บคอ ปวดท้อง ปวดศีรษะ วิงเวียน อาเจียน และเซื่องซึม

 

ตอนที่ 3 ใครบ้างเสี่ยงต่อพิษสไตรีน?

กรณีผู้ผจญเหตุและประชาชนที่อาศัยบริเวณภัยพิบัติสารเคมีโรงงานบริเวณซอยกิ่งแก้ว พิษสไตรีน มีทั้งพิษเฉียบพลัน พิษเรื้อรัง และพิษแบบการก่อมะเร็ง 

ข้อควรปฎิบัติเบื้องต้น สำหรับผู้เผชิญเหตุในช่วงเฉียบพลัน

  1. ไม่ควรเป็นผู้ที่เป็นโรคหอบหืด โรคปอดชนิดอื่นๆ เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมอักเสบหรือวัณโรคปอด โรคหัวใจ โดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  2. ถ้าผู้ใดมีอาการหอบ แน่นหน้าอก ไอ เจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย มึนงงศีรษะมาก คันตามตัวมาก แสบตาแสบคอมาก ควรปรึกษาแพทย์
  3. อาการของกลุ่มอาการพิษสไตรีน คือ ปวด มีนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เดินเซ เกิดจากการได้รับสารพิษเป็นจำนวนมาก
  4. ไม่ควรรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำในบริเวณปฏิบัติงาน หลังเข้าทำงานในพื้นที่ไฟไหม้ ควรเปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำ สระผม ทำความสะอาดตัวเองให้เรียบร้อยก่อนพบปะกับสมาชิกครอบครัว
  5. เมื่อเสร็จภารกิจ ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกายตามความเสี่ยงที่พบ และติดตามตรวจร่างกายเป็นระยะ ตามที่แพทย์กำหนด
  6. ถ้ามีอาการดังกล่าวและกลับไปอยู่ภูมิลำเนา ให้บอกแพทย์ที่ตรวจด้วยว่ามีการสัมผัสสารพิษด้วย สำหรับพิษเรื้อรัง ถ้ามีอาการผิดปกติ และสงสัยว่าอาจจะเกิดจากพิษสไตรีนให้ปรึกษาแพทย์

ตอนที่ 4  สิ่งจำเป็นต้องทำ! เมื่อสัมผัสสารพิษสไตรีน

คำถามจากผู้เผชิญเหตุสารเคมีโรงงานรั่วไหล คือ การตรวจสุขภาพในระยะเฉียบพลัน จำเป็นหรือไม่?

สถานการณ์ถัดจากวันที่เกิดเหตุ 1 วัน

กรมควบคุมมลพิษ ได้คำนวณค่าความเข้มข้นของสารสไตรีน จากรัศมี ใน 3 ระยะคือ ระยะ 1, 3 และ 5 กิโลเมตร ได้เป็นค่า 1,035, 86 และ 52 ppm ทั้งนี้ ค่าขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีทางการหายใจแบบเฉียบพลันของสารสไตรีน ที่กำหนดไว้มี 3 ระดับคือ ระดับที่ 1 มีค่า 20 ppm (ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศ ที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน) ระดับที่ 2 มีค่า 130 ppm (ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไม่ร้ายแรง) และระดับที่ 3 มีค่า 1,100 ppm (ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง แต่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต)

‘สารสไตริน’ พบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน

ตามธรรมดาแล้ว สไตรีนเป็นสารที่เราสัมผัสกันอยู่บ่อยพอสมควร เช่น

  • การรับประทานอาหารจากกล่องโฟมที่ทำจากสไตรีน
  • สไตรีนถูกปล่อยออกมาระหว่างการใช้เครื่องถ่ายเอกสารในครัวเรือน (ควรปิดเครื่องเมื่อใช้เสร็จแล้ว และให้เครื่องอยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเท)

การสัมผัสระยะสั้นๆ ร่างกายของคนที่แข็งแรงจะจัดการขับสารนี้ออกหมดได้ด้วยตนเอง หากมีผลมักเป็นผลจากการสัมผัสซ้ำๆระยะยาว ซึ่งค่อยควรระวังในคนที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งจากสารพิษอยู่เดิม แม้ในทางอาชีวเวชศาสตร์ จะมีการตรวจสารสไตรีนในปัสสาวะเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการเฝ้าระวังสุขภาพของคนทำงานที่สัมผัสสารนี้เป็นประจำในโรงงานอุตสาหกรรม (จึงต้องมีการตรวจค่าพื้นฐานของสารนี้ตั้งแต่ก่อนการรับเข้าทำงานรวมทั้งมีการตรวจติดตามซ้ำเป็นระยะ) แต่เป็นกรณีที่มีฐานคิดแตกต่างจากกรณีการรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมในชุมชน ดังเช่นเหตุตัวอย่างนี้

ใครบ้างคือกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง

เป็นผู้ผจญเหตุ (ที่ไม่ใช่เหตุปกติในชีวิตประจำวัน) ได้แก่ กลุ่มผู้ที่อาศัยในรัศมี 1 กิโลเมตร (หรือ 3 กิโลเมตร) ที่มีโอกาสได้รับสัมผัสสารนี้ในปริมาณมากเกินควร รวมทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัว (เช่น โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมอักเสบหรือวัณโรคปอด โรคหัวใจ โดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูงมาก) หรือกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่กินยาบางอย่าง
ในระยะเฉียบพลัน (อ้างอิงตาม CCIS) เมื่อคุณมาพบแพทย์ ข้อมูลพื้นฐานทางคลินิกที่แพทย์จะใช้ติดตามเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพ จะมีดังต่อไปนี้

  • ค่าการทำงานของตับและไต (Baseline Liver and Renal Function Tests; LFT, BUN, Creatinine)
  • ค่าการวิเคราะห์ปัสสาวะ (Urinalysis; UA)
  • ค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count; CBC)
  • ระดับของอะไมเลสและไลเปส (Amylase and Lipase Levels)

หากผู้สัมผัสสารมีอาการที่บ่ง “การระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ” อย่างมากพอ ผู้นั้นควรถูกเจาะตรวจระดับก๊าซในเลือดแดงและเอกซเรย์ปอด แบบตรวจติดตามเป็นระยะ (Monitor Arterial Blood Gases and Chest X-ray)
ทั้งนี้ การตรวจแล็บ เอกซเรย์ สารพิษสารเคมี ดัชนีดีเอ็นเอ ที่ซับซ้อนนั้น ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นสูงสุดเพื่อการวินิจฉัยโรคเสมอไป
หากกังวลหรือมีข้อสงสัย แพทย์จะใช้ “การซักประวัติอย่างมีแบบแผน” เพื่อประเมินความเสี่ยงก่อน ซึ่งจะให้ผลลัพธ์ที่สำคัญ และเป็นผลดีต่อสุขภาพกายและจิตใจของประชาชนผู้รับสารนั้นมากกว่า

 

ตอนที่ 5 ตรวจให้ชัดเจน! ว่าเราได้รับสารสไตรีนหรือไม่?

การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ใช้ตรวจจับการสัมผัสสารสไตรีน (Detecting Exposure) สามารถวัดได้ ทั้งในเลือด ปัสสาวะ และเนื้อเยื่อจากร่างกายของผู้สัมผัส ในระยะเวลาอันสั้น หลังได้รับสารระดับปานกลางถึงสูง

ATSDR (Agency for Toxic Substances and Disease Registry) ซึ่งเป็นหน่วยงานสำหรับสารพิษและทะเบียนโรคแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ข้อมูลว่า การตรวจพบสารผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลจากการย่อยสลายสไตรีน (Styrene Breakdown Products; Metabolites) หรือสารเมตาบอไลต์ของสไตรีนในปัสสาวะ อาจบ่งชี้ว่า “คุณเคยได้รับสไตรีน” มาแล้วจริง โดยสามารถวัดได้ภายใน 1 วันถัดจากวันรับสารนั้น

ค่านี้จะช่วยให้แพทย์สามารถประเมิน “ระดับหนักเบา” ที่แท้จริงของการรับสัมผัสที่เกิดขึ้นหยกๆแล้วนั้นได้
อย่างไรก็ตาม ค่าสารเมตาบอไลต์เหล่านี้ ยังอาจพบได้เมื่อคุณสัมผัสกับสารอื่นๆอีกเช่นกัน อีกทั้ง พึงตระหนักว่า การตรวจพบสารนี้เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถใช้ทำนาย “ประเภท” ของผลกระทบ (พิษเฉียบพลัน พิษเรื้อรัง หรือพิษแบบการก่อมะเร็ง) ที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพจากการสัมผัสครั้งนั้นๆได้ จำเป็นต้องมีประวัติและการสั่งสมข้อมูลทางทางคลินิก และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เพื่อประกอบการวินิจฉัยหรือคาดการณ์อย่างต่อเนื่อง

แม้การตรวจติดตามค่าสารชีวภาพ (Biomarkers) จะมีความแม่นยำเชิงประเมินการรับสัมผัสสาร แต่ฐานข้อมูลความเกี่ยวข้องทางชีวภาพกับระดับความเป็นพิษนั้นยังมีข้อมูลอยู่น้อย พบว่า การตรวจติดตามอย่างต่อเนื่องในผู้คนในชุมชนนั้น มักไม่ค่อยได้ประโยชน์หรือไม่ค่อยได้ปฏิบัติจริง เนื่องจากมีแนวโน้มที่สารจะดูดซึมและขับออกจากร่างกายอย่างรวดเร็ว

เหตุการณ์ภัยพิบัติสารเคมี “กรณีประชาชนที่อาศัยบริเวณโรงงานบริเวณซอยกิ่งแก้ว พ.ศ. 2564” จึงดูจะมีความคล้ายคลึงเชิงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนเทียบเคียงได้กับ “กรณีไฟไหม้บ่อขยะบนเนื้อที่ 153 ไร่ ที่แพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. 2557”
โดยเหตุไฟไหม้ครั้งรุนแรงที่สุดของไทยในครั้งนั้น ทำให้เกิดแผนการเฝ้าระวังและดูแลผู้สัมผัสที่ได้รับผลกระทบ แสดงเป็นผัง ดังตัวอย่างข้างล่างนี้

ผู้เป็นเจ้าภาพหลักในการระดมสรรพกำลังของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ผู้ทำงานสหสาขาวิชาชีพ และทีมกู้ภัยที่มาจากหลากหลายพื้นที่ ให้มาช่วยกันวางแผน เพื่อการจัดการดูแลสุขภาพของผู้คนในชุมชน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวนั้น มักคือ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
กรณีนี้คงเหมือนกับปัญหาอื่นๆ อีกมากมายในประเทศไทย ที่แม้จะมีวิธีป้องกันตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ทำกันให้ครบ และรอให้เกิดเรื่องแล้ว จึงค่อยมาสนใจกัน

 

ตอนที่ 6 ‘สไตรีน’ สารอันตรายที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว

สไตรีน เป็นสารตัวทำละลายอินทรีย์ที่ก่อความเสี่ยงสูงสุด ต่อคนทำงานในอุตสาหกรรมผลิตเรซินโพลีเอสเตอร์ หรือผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก

สารตัวทำละลายอินทรีย์สามารถเข้าสู่ร่างกายของคนทำงานได้ 2 ช่องทางหลัก คือ ทางการหายใจ และการสัมผัสทางผิวหนัง ส่วนจากการรับประทานมักเกิดจากการปนเปื้อนในอาหารและเครื่องดื่ม เมื่อเข้าสู่ร่างกายส่วนหนึ่งจะถูกขับออกในรูปเดิมทางลมหายใจ และบางส่วนถูกขับออกทางปัสสาวะ และอาจมีการสะสมในร่างกายได้

พิษแบบเรื้อรัง

ได้แก่ ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง การทำหน้าที่ของประสาทพฤติกรรมผิดปกติ โดยหากสัมผัสเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดพยาธิสภาพอย่างถาวร และแม้ว่าหยุดสัมผัส อาการต่างๆก็จะไม่ดีขึ้น เช่น ภาวะสมองเสื่อม ภาวะ Chronic Encephalopathy ที่มีอาการปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวน สูญเสียความทรงจำระยะสั้น ไม่มีสมาธิ การทดสอบประสาทพฤติกรรมพบความผิดปกติ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พบสมองฝ่อ เป็นต้น

ทั้งนี้การจะวินิจฉัยว่าพิษเรื้อรังนั้นเกิดจากสไตรีนนั้น ต้องมีการยืนยันการสัมผัส (เชิงปริมาณ และคุณภาพ) มีอาการทางคลินิกเข้าได้กับการทำลายระบบประสาทส่วนกลางแบบเรื้อรัง (เช่น คลื่นไฟฟ้าสมอง การทดสอบทางจิตเวช) มีการแยกโรคทางอวัยวะอื่นๆ รวมทั้งแยกโรคทางจิตเวชที่เป็นแต่เดิม ออกไปให้ได้ก่อน

พิษแบบการก่อมะเร็ง

การก่อพิษแบบพิเศษอีกกลุ่มหนึ่ง คือ การก่อให้เกิดโรคมะเร็ง (Carcinogenesis) ซึ่งส่วนใหญ่ต้องใช้เวลายาวนานหลายปีหลังจากการสัมผัสสารพิษครั้งแรก จึงจะเกิดโรคมะเร็งขึ้นได้

ข้อมูลเกี่ยวกับการก่อมะเร็งจากการสัมผัสสไตรีน (เป็นข้อมูลที่ยังขัดแย้งกันอยู่) ที่พบว่า อาจก่อมะเร็งเม็ดเลือดขาว? หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง? ได้นั้น ถึงแม้จะมีวิธีตรวจทางห้องปฏิบัติการ ที่เป็นตัวชี้บ่งการสัมผัส (คือกรณีที่สงสัยว่าสัมผัสจนก่อเกิดมะเร็ง) เรียก การวัดดัชนีดีเอ็นเอและโปรตีนแอดดักส์ (DNA and Protein Adducts) หรือวัดค่าการทำลายพันธุกรรมเซลล์ (Cytogenetic Damage) ได้ แต่ก็ไม่ใคร่จะมีใครนำมาใช้กันในทางคลินิกหรือในโรงพยาบาลทั่วๆไป

จะเห็นได้ว่า การจะพิสูจน์ว่า ‘สไตรีน’ เป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ทรมานด้านสุขภาพในใคร? ผู้ใด? นั้น เป็นเรื่องแสนยาก…จึงควรกันไว้ดีกว่าแก้

 

 

แหล่งอ้างอิง

  • กรมโรงงานอุตสาหกรรม. คู่มือการจัดการสารเคมีอันตรายสูง สไตรีนโมโนเมอร์ (Styrene monomer). ตค. 2552.
  • สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย. ประกาศฉบับสำหรับประชาชนผู้เผชิญเหตุ “ในช่วงเฉียบพลัน” ข้อปฏิบัติสำหรับประชาชนที่อาศัยบริเวณภัยพิบัติสารเคมีโรงงานบริเวณซอยกึ่งแก้ว. วันที่ 6 กค. 2564.
  • กรมโรงงานอุตสาหกรรม. คู่มือการจัดการสารเคมีอันตรายสูง สไตรีนโมโนเมอร์ (Styrene monomer). ตค. 2552.
  • สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย. ประกาศฉบับสำหรับประชาชนผู้เผชิญเหตุ “ในช่วงเฉียบพลัน” ข้อปฏิบัติสำหรับประชาชนที่อาศัยบริเวณภัยพิบัติสารเคมีโรงงานบริเวณซอยกิ่งแก้ว. วันที่ 6 กค. 2564.
  • ข่าวการจราจร สวพ. FM91 (7.01 น. วันที่ 6 กค. 2564). อ้างอิงข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ โดยกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรณีเหตุการณ์ไฟไหม้ ณ จังหวัดสมุทรปราการ โดยใช้ Box Model ซึ่งใช้ข้อมูลอัตราการระบายจากแหล่งกำเนิด มาประมวลผลร่วมกับสภาพอุตุนิยมวิทยาของพื้นที่.
  • CCIS Volumn 172; edition 2017.
  • ATSDR: Agency for Toxic Substances and Disease Registry. Public Health Statement: Styrene. June 2012.
  • เอกสารประกอบการเรียนการสอนกลุ่มแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ โดยองค์กรหลักตามราชกิจจานุเบกษา กลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.
  • วชร โอนพรัตน์วิบูล. โรคจากสารตัวทำละลายอินทรีย์. ใน: อดุลย์ บัณฑุกุล บรรณาธิการ. ตำราอาชีวเวชศาสตร์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ราชทัณฑ์; 2563.
  • Davey MP. Solvents and hydrocarbons. Oregon Health and Science University.
Share