‘การเดินทาง’ เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต ผู้คนต่างเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น เดินทางเพื่อท่องเที่ยว ทำงาน ศึกษาต่อต่างประเทศ หรือย้ายถิ่นฐาน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเราจะเดินทางด้วยวัตถุประสงค์ใด สิ่งหนึ่งที่อาจหลีกเลี่ยงได้ยาก คือ ‘ปัญหาสุขภาพ’ ที่เกิดขึ้นจากการเดินทาง
ทำไมถึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนเดินทาง
เพราะ…การเจ็บป่วยขณะเดินทาง หรือหลังจากกลับจากเดินทาง เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ในนักเดินทางทุกเพศทุกวัย โดยการเจ็บป่วยสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายสาเหตุ เช่น
- อุบัติเหตุจากกิจกรรมที่นักเดินทางกระทำ
- สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
- อาหารที่รับประทาน
- โรคประจำถิ่นในพื้นที่ปลายทาง หรืออาจเกิดจากโรคประจำตัวเดิมของนักเดินทางที่แสดงอาการผิดปกติขึ้นก็ได้
โดยความเสี่ยงทางสุขภาพจากการเดินทางของนักเดินทางแตกต่างกันไปตามแต่สถานที่ ฤดูกาล ระยะเวลา จุดประสงค์ในการเดินทาง สไตล์การเดินทาง และคุณลักษณะของนักเดินทางเอง
เช่น มีการศึกษาผู้เดินทางชาวไทยที่เดินทางไปยังประเทศอินเดีย พบว่า ประมาณครึ่งหนึ่ง (51.8%) ของผู้เดินทางมีอาการเจ็บป่วยขณะอยู่ที่ประเทศอินเดีย โดยพบการเจ็บป่วยด้วยอาการผิดปกติทางระบบทางเดินหายใจมากที่สุด (31.1%) รองลงมาคือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อ (21.7%) และมีไข้ (12.7%) ตามลำดับ เป็นต้น
เวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว คืออะไร?
เวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว (Travel medicine) เป็นสหสาขาวิชาทางการแพทย์ที่รวบรวมความรู้จากสาขาวิชาทางการแพทย์อื่นๆ เพื่อจุดประสงค์ในการทำให้นักเดินทางมีชีวิตรอดและมีสุขภาพที่ดี เวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยวโดยมากมักเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพของนักเดินทางระหว่างประเทศ ครอบคลุมทั้งการป้องกันโรคติดเชื้อ ปัญหาสุขภาพจากสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยส่วนบุคคล โดยมุ่งเน้นไปที่การดูแลป้องกันมากกว่าการวินิจฉัยและรักษาโรค ซึ่งการดูแลสุขภาพของผู้เดินทางนี้เป็นประโยชน์แก่ผู้เดินทางทั้งผู้ที่เดินทางออกไปยังต่างแดน และชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย
แนวคิดด้านเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว เป็นแนวคิดที่มีอยู่มาเป็นเวลานานแล้วในประวัติศาสตร์ เช่น การทดลองของเจมส์ ลินด์ (James Lind) ในปี ค.ศ.1747 ที่พบว่าผลไม้รสเปรี้ยวสามารถป้องกันและรักษาโรคลักปิดลักเปิด (Scurvy) ในชาวเรือที่เดินทางออกจากฝั่งเป็นระยะเวลานานได้ เขาจึงได้เสนอให้มีการเตรียมน้ำผลไม้สำหรับกะลาสีเรือที่จะออกเดินทาง แม้ว่าสุดท้ายแล้วข้อเสนอนี้จะถูกปัดตกไปก็ตาม เป็นต้น
การจัดการปัญหาสุขภาพในผู้เดินทาง
การจัดการปัญหาสุขภาพในผู้เดินทางโดยทั่วไปสามารถแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะก่อนเดินทาง ขณะเดินทาง และหลังกลับจากการเดินทาง โดยในระยะก่อนการเดินทางควรมุ่งเน้นไปที่การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาโรคและภัยสุขภาพที่อาจพบได้จากการเดินทาง และการจัดการกับปัญหาเหล่านั้น เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตขณะอยู่ต่างแดน การใช้ยา หรือการรับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคบางชนิด เป็นต้น
ส่วนการจัดการปัญหาในขณะเดินทางและหลังกลับจากการเดินทางจะเน้นไปที่การให้ความรู้เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่โรคที่นำกลับมา รวมถึงเฝ้าระวัง ตรวจจับความผิดปกติ และการรักษาพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเกิดปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาการผิดปกติที่พบบ่อย เช่น ไข้ ท้องเสีย หรือผื่น เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แพทย์เวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยวจะพิจารณาพูดถึงประเด็นปัญหาโรคและภัยสุขภาพทั้งหมดนี้ เมื่อมีโอกาสได้พบกับนักเดินทาง ไม่ว่าจะก่อน ขณะ หรือหลังการเดินทาง และตัดสินใจร่วมกับผู้เดินทางว่าจะจัดการกับปัญหาเหล่านั้นอย่างไร
บริการให้คำปรึกษาก่อนการเดินทาง
การให้คำปรึกษาก่อนการเดินทาง เป็นกระบวนการเตรียมตัวสำหรับนักเดินทางเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในขณะเดินทาง หรือจากการเดินทาง โดยทั่วไปแล้วจะเป็นการซักประวัติทางสุขภาพและแผนการเดินทาง ประเมินความเสี่ยง ให้คำแนะนำถึงปัญหาและภัยสุขภาพที่อาจพบ และพิจารณาการจัดการเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดปัญหาสุขภาพนั้นร่วมกับผู้เดินทาง โดยอาจมีการตรวจร่างกายหรือตรวจทางห้องปฏิบัติการร่วมด้วย แล้วแต่ความจำเป็นของผู้เดินทางแต่ละคน
หากคุณมีแผนการเดินทางเร็วๆ นี้ อย่าลืมมาปรึกษาแพทย์เวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว เพื่อรับคำแนะนำด้านสุขภาพก่อนการเดินทาง ให้การเดินทางของคุณราบรื่นและปลอดภัยจากปัญหาสุขภาพที่อาจมารบกวนความสุขจากการเดินทางของคุณ
บทความโดย
นพ.ภณสุต หรรษาจารุพันธ์
แพทย์เวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว
Thainakarin Hospital