Shopping Cart

No products in the cart.

นอนกรน เกิดจากอะไร อันตรายไหม?

นอนกรน เกิดจากการที่อากาศไหลผ่านทางเดินหายใจส่วนบนที่แคบขณะนอนหลับ มีการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่อในลำคอ เช่น เพดานอ่อน หรือลิ้นไก่ ทำให้เกิดเป็นเสียงกรนขึ้น โดยการนอนกรน เป็นอาการแสดงหนึ่งของโรคหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น Obstructive Sleep Apnea หรือ OSA ได้

  1. นอนกรนธรรมดา (Primary Snoring) คือ อาการนอนกรนที่เกิดจากการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบน อาจพบอาการหายใจแผ่วหรือหยุดหายใจขณะหลับได้แต่ไม่เข้ากับเกณฑ์ที่กำหนดในการวินิจฉัยโรค OSA
  2. นอนกรนอันตราย คือ นอนกรนที่มีภาวะหายใจแผ่ว และ/หรือหยุดหายใจขณะหลับเข้ากับเกณฑ์ที่กำหนดในการวินิจฉัยโรค OSA
นอนกรน แบบไหน? เสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

สามารถสังเกตได้จากเสียงกรน และอาการร่วม ดังต่อไปนี้

เสียงกรน

  • กรนเสียงดัง สม่ำเสมอ
  • กรนดังสลับกับช่วงหยุดหายใจ บ่งบอกถึงภาวะหยุดหายใจ หรือ Apnea
  • สะดุ้งตื่น สำลักน้ำลาย ตื่นบ่อยระหว่างคืน เนื่องจากการหยุดหายใจ หรือทางเดินหายใจแคบ

อาการร่วม

  • ตื่นเช้าปวดศีรษะ รู้สึกนอนไม่อิ่มถึงแม้ว่าระยะเวลานอนเพียงพอ จากการหลับไม่ต่อเนื่อง คุณภาพการนอนไม่ดี
  • ง่วงนอนกลางวันมากผิดปกติ
  • กลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดสมองตีบ

นอนกรนร่วมกับโรคหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น ส่งผลเสียต่อสุขภาพหลายอย่างและเป็นสาเหตุและความเสี่ยงของโรคต่างๆ

  • High blood pressure
  • Diabetes
  • โรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก โรคสมองเสื่อม
  • ภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง
  • เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
  • เพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ
  • สร้างความรำคาญต่อผู้นอนร่วมห้อง เป็นปัญหาครอบครัว

ตรวจการนอนหลับ หรือ Sleep Test เป็นการตรวจการทำงานหลายระบบของร่างกายขณะนอนหลับ เพื่อวินิจฉัยโรคหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น เช่น ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อตา ใบหน้า และขา (EOG, EMG) วัดระดับการหายใจผ่านทางจมูกหรือปาก วัดรอบอกและรอบท้อง วัดระดับออกซิเจนในเลือด วัดระดับเสียงกรน และบันทึกวิดีโอ

  • รักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก หรือ CPAP เครื่องจะเป่าลมผ่านจมูกหรือปาก เพื่อถ่างทางเดินหายใจส่วนบนขณะหลับ
  • รักษาด้วยเครื่องมือในช่องปาก (Oral Appliance) เป็นการใส่เครื่องมือทางทันตกรรม เพื่อเลื่อนขากรรไกรล่างมาด้านหน้า ไม่ให้ลิ้นตกไปอุดกั้นทางเดินหายใจ
  • รักษาด้วยการผ่าตัดแก้ไขทางเดินหายใจส่วนบน ขึ้นกับตำแหน่งที่มีการตีบแคบ เพื่อเพิ่มขนาดทางเดินหายใจส่วนบนให้กว้างขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่มีความผิดปกติทางกายวิภาค หรือไม่สามารถใช้ CPAP ได้

แนวทางการรักษา ข้อดี-ข้อเสีย แต่ละวิธีขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและเลือกแนวทางการรักษาอย่างเหมาะสม

  1. ปรับสุขอนามัยการนอน เช่น นอนพักผ่อนให้เพียงพอ เข้านอนตื่นนอนตรงเวลาสม่ำเสมอ
  2. ลดน้ำหนัก ในผู้ที่มีภาวะอ้วน เนื่องจากการสะสมไขมันรอบๆ คอ ทำให้ทางเดินหายใจแคบลง
  3. ปรับเปลี่ยนท่านอน เช่น นอนตะแคง อาจช่วยได้ในบางราย
  4. หลีกเลี่ยงดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาระงับประสาท และยานอนหลับ ทำให้ทางเดินหายใจหย่อนมากขึ้น และควรงดสูบบุหรี่
  5. รักษาโรคร่วมที่อาจเป็นสาเหตุ เช่น ภูมิแพ้จมูก ไซนัสอักเสบ โรคระบบประสาทและกล้ามเนื้อ

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
พญ.นิธิตา  สัตตรัตน์ไพจิตร
พญ.นิธิตา  สัตตรัตน์ไพจิตร
Otolaryngology Thainakarin Hospital.
ข้อมูลแพทย์