Shopping Cart

No products in the cart.

CT CALCIUM SCORE การตรวจแคลเซียมหลอดเลือดหัวใจ

ตรวจแคลเซียมหลอดเลือดหัวใจ หรือ Coronary Artery Calcium (CAC) คือการตรวจวัดปริมาณแคลเซียมที่สะสมในผนังหลอดเลือดหัวใจ ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ หากผลการตรวจระบุคราบหินปูนสะสมในปริมาณสูง ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดแดงแข็ง นำไปสู่ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตัน หรือโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและเสียชีวิตได้

 CT CALCIUM SCORE ตรวจแคลเซียมหลอดเลือดหัวใจ

การเสื่อมสภาพของหลอดเลือดตามธรรมชาติในผู้ป่วยแต่ละราย ช้าเร็วต่างกันตามปัจจัยเสี่ยงที่บุคคลนั้นมี ทำให้เกิดการอักเสบซ้ำๆ ของหลอดเลือด และเกิดการสะสมของคราบหินปูนในบริเวณที่มีการเสื่อมสภาพของหลอดเลือด

Calcium Score เป็นการให้คะแนนคราบหินปูน ที่วัดโดยใช้เทคโนโลยีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ชนิดพิเศษที่เรียกว่า  Multi-slice Computerized Tomography (CT) ซึ่งสแกนภาพหลายภาพของคราบหินปูนที่สะสมอยู่ที่เส้นเลือด การถ่ายภาพจะดูที่ระดับของคราบหินปูนที่สะสมอยู่ ซึ่งคราบหินปูนประกอบด้วยไขมัน คอเลสเตอรอล แคลเซียม และสารอื่นๆ ในเลือด ซึ่งจะค่อยๆ พัฒนาเกาะเพิ่มขึ้นกลายเป็นแผ่นหนาใหญ่ขึ้น ซึ่งก็จะทำให้เส้นเลือดตีบลงอย่างช้าๆ โดยกระบวนการเสื่อมนี้อาจใช้เวลาหลายปี ขึ้นกับว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่เร่งให้เส้นเลือดเสื่อมมากน้อยแค่ไหน

การตรวจแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ (Calcium Score) ให้ข้อมูลที่สำคัญแก่ผู้ป่วยและแพทย์ นำไปสู่การวางแผนร่วมกัน ในการรักษาและปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันในอนาคต แม้คนไข้ยังไม่มีอาการของโรคในปัจจุบัน ช่วยให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้น

 CT CALCIUM SCORE ตรวจแคลเซียมหลอดเลือดหัวใจ
  • ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเดียวกันเป็นโรคหัวใจ
  • ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต
  • ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือเข้าข่ายเป็นโรคอ้วน
  • ผู้ที่รับประทานอาหารไขมันสูงเป็นประจำ
  • ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ
  • ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเข้ารับการตรวจ หากมีโรคประจำตัว กลัวที่แคบ หรือหากมีโอกาสตั้งครรภ์
  • งดยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของหัวใจ หรือทำให้ชีพจรเต้นเร็ว
  • งดเครื่องดื่มที่กระตุ้นการทำงานของหัวใจ เช่น ชา กาแฟ แอลกอฮอล์
  • งดการสูบบุหรี่อย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจ
  • ถอดเครื่องประดับทุกชนิดก่อนเข้ารับการตรวจ

CT CALCIUM SCORE
  • Calcium Score ได้ค่า 0 = ไม่มีคราบหินปูนสะสมในหลอดเลือดหัวใจ โอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันต่ำ
  • Calcium Score ระหว่าง 1-100 = มีคราบหินปูนสะสมในหลอดเลือดหัวใจบ้าง มีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจน้อย
  • Calcium Score ระหว่าง 101-400 = มีคราบหินปูนสะสมในหลอดเลือดหัวใจปานกลาง มีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจปานกลาง
  • Calcium Score ตั้งแต่ 401 ขึ้นไป = มีคราบหินปูนสะสมในหลอดเลือดหัวใจสูง มีความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันสูงมาก ภายในเวลา 2-5 ปี
  • ไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล สามารถกลับบ้านได้ทันทีหลังเข้ารับการตรวจ
  • ไม่ต้องงดน้ำ และงดอาหารก่อนเข้ารับการตรวจ
  • เป็นการตรวจที่มีความปลอดภัย ไม่ทำให้เจ็บปวด
  • ไม่ต้องใส่สายสวนหัวใจ ไม่ต้องฉีดสารทึบแสง
  • ไม่มีการนำเครื่องมือแพทย์ใดๆ เข้าสู่ร่างกาย
  • มีความสะดวก รวดเร็ว ใช้เวลาในการตรวจเพียง 10-15 นาที
  • ให้ข้อมูลที่ช่วยประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เพื่อนำไปสู่การวางแผนรักษาที่เหมาะสม
 CT CALCIUM SCORE ข้อดี

การตรวจสมรรถภาพหัวใจโดยการเดินสายพาน หรือที่เรียกว่า Exercise Stress Test (EST) เป็นการตรวจหาภาวะขาดเลือดในขณะที่ผู้ป่วยออกกำลังกาย โดยเส้นเลือดที่ตีบมากจะทำให้เลือดไหลผ่านได้น้อยกว่าปกติ จนทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก และคลื่นไฟฟ้าหัวใจเปลี่ยนแปลงในขณะที่ออกกำลังกาย โดยการตรวจ EST จะพบความผิดปกติก็ต่อเมื่อเส้นเลือดหัวใจได้ตีบมากแล้ว

แต่การตรวจ Calcium Score (CAC) สามารถตรวจพบความเสื่อมของหลอดเลือดหัวใจ ในบริเวณที่มีหินปูนไปเกาะบนผนังของเส้นเลือด โดยสามารถตรวจพบตั้งแต่ระยะที่มีการตีบไม่มาก จึงช่วยในการประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจในอนาคตได้ ซึ่งนำไปสู่การรักษาเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่เหมาะสมต่อไป

ยิ่ง Calcium Score สูง ยิ่งเพิ่มโอกาสการเกิดโรคหัวใจในอนาคต เมื่อแพทย์ทราบว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงในระดับปานกลางขึ้นไป ก็จะให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ในการบริหารและลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือ Heart Attack ในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น

 CT CALCIUM SCORE ผู้ป่วยโรคหัวใจ

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
นพ. อุฬาร วงศ์แกล้ว
DR. ULAN WONGKLAW, M.D
Cardiologist, Heart Center, Thainakarin Hospital
ข้อมูลแพทย์