Shopping Cart

No products in the cart.

ภูมิแพ้ในเด็ก อาการแพ้ที่พ่อแม่ต้องหมั่นสังเกต!

ภูมิแพ้ในเด็กที่พบบ่อย

‘ภูมิแพ้’ คือโรคที่มีภาวะภูมิไวเกิน (Hypersensitivity) ทำให้ร่างกายเกิดมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ที่พบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น ไรฝุ่น สัตว์เลี้ยง เกสรดอกไม้ หญ้า อาหาร ฯลฯ ซึ่งคนปกติที่ไม่เป็นโรคภูมิแพ้จะไม่ตอบสนองกับสิ่งเหล่านี้ โดยสิ่งกระตุ้นนี้เรียกว่าสารก่อภูมิแพ้ (Allergen)

  • ปัจจัยทางพันธุกรรม เช่น พ่อหรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้
  • ปัจจัยสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ระหว่างคลอด หลังคลอด
  • สัมผัสสารก่อภูมิแพ้ สารก่อการระคายเคือง เช่น บุหรี่ มลภาวะ PM2.5 ปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อโอกาสเกิดโรคภูมิแพ้ได้
ภูมิแพ้ในเด็กที่พบบ่อย

อาการของโรคภูมิแพ้ สามารถเกิดขึ้นได้กับหลายระบบในร่างกาย อาจเกิดเป็นระบบเดียวหรือหลายระบบพร้อมกันก็ได้ มักจะเป็นเรื้อรัง และรบกวนชีวิตประจำวัน หรืออาจเป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น

  • ภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ทำให้เกิดโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ มีอาการจาม น้ำมูกไหล คัดจมูก คันจมูก และเกิดโรคหืด มีอาการแน่นหน้าอก ไอกลางคืน เหนื่อยหอบ หายใจเสียงวี๊ด
  • ภูมิแพ้ผิวหนัง มีผิวแห้ง คัน ผื่นแดงเรื้อรังตามผิวหนังข้อพับแขนชา
  • ภูมิแพ้อาหาร ทำให้เกิดผื่นคันตามตัว ผื่นลมพิษ หน้าบวม ปากบวม อาเจียน ถ่ายผิดปกติ แน่นหน้าอก หายใจเหนื่อยหอบ ความดันโลหิตต่ำ หรือเป็นลมหมดสติ
  • ภูมิแพ้ตา มีอาการคันตา ตาแดง

โรคภูมิแพ้ เกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มีอาการคล้ายกัน แต่ความรุนแรงและอุบัติการณ์ของโรคจะแตกต่างกัน เช่น

  • ในเด็กเล็ก มักจะพบภูมิแพ้ผิวหนังมากว่าเด็กโตและผู้ใหญ่ นอกจากนี้ตำแหน่งรอยโรคจะแตกต่างกัน
  • ในเด็กโตและผู้ใหญ่ จะพบภูมิแพ้ทางเดินหายใจมากกว่า
  • ส่วนโรคภูมิแพ้อาหาร ก็จะมีความแตกต่างกันของชนิดอาหารที่แพ้ในเด็กและผู้ใหญ่
ภูมิแพ้ในเด็กที่พบบ่อย
  • ช่วงขวบปีแรก ภูมิแพ้ที่พบบ่อย ได้แก่ แพ้อาหาร เช่น แพ้นมวัว ไข่ แป้งสาลี ถั่วเหลือง และภูมิแพ้ผิวหนัง
  • ช่วงอายุ 2 ปีขึ้นไป มักพบภูมิแพ้ทางเดินหายใจ เช่น โรคหืด และภูมิแพ้จมูก หรือแพ้อากาศ
  • ทุกช่วงอายุ ภูมิแพ้ที่สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ เช่น แพ้ยา ลมพิษ แพ้แมลงกัดต่อย เช่น ต่อ แตน มดคันไฟฯลฯ

การทดสอบเพื่อหาสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นต้นเหตุ เพื่อให้สามารถเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ได้อย่างถูกต้อง โดยการทดสอบสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่

  1. ทดสอบที่ผิวหนัง โดยการหยดน้ำยาทดสอบและสะกิดผ่านผิวหนัง
  2. ทดสอบโดยการเจาะเลือด เพื่อตรวจหาแอนติบอดีชนิด E ที่จำเพาะกับสารก่อภูมิแพ้ที่สงสัย
  3. ทดสอบการแพ้อาหารโดยการกิน เป็นการทดสอบในคนที่มีประวัติแพ้อาหาร เพื่อยืนยันการคงอยู่หรือหายจากโรคแพ้อาหาร
ภูมิแพ้ในเด็กที่พบบ่อย
  • ปัจจัยสำคัญคือการเลี่ยงและกำจัดสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นต้นเหตุ หากทราบว่าสารก่อภูมิแพ้ใดเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการแพ้
  • การใช้ยารักษา เช่น การรับประทานยาแก้แพ้ หรือยาชนิดต่างๆ, การใช้ยาสูด พ่น หรือทาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบ
  • การรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นการนำสิ่งที่ผู้ป่วยแพ้เข้าไปในร่างกายทีละนิด เพื่อให้ภูมิคุ้มกันร่างกายเริ่มปรับให้คุ้นเคยกับสิ่งที่แพ้ (Immune Tolerance) ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งวิธีการฉีด การอมใต้ลิ้น และการกิน

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
NARIDA 	 TARVORNPANICH, M.D.
NARIDA TARVORNPANICH, M.D.
Pediatrician and Pediatric Allergist at Thainakarin Hospital
ข้อมูลแพทย์