Shopping Cart

No products in the cart.

‘นอนกรน’ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

การกรนเป็นภาวะที่มีเสียงหายใจดังเกิดขึ้นในขณะหลับ พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เนื่องจากมีการตีบแคบของช่องทางเดินหายใจตั้งแต่จมูกจนถึงช่องคอหรือส่วนใดส่วนหนึ่ง ทำให้อากาศผ่านเข้าออกไม่สะดวก เกิดการสั่นสะเทือนของเพดานอ่อนลิ้นไก่ หรือโคนลิ้นขณะนอนหงาย เป็นเสียงกรนที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล และมีความรุนแรงแตกต่างกัน จะพบในผู้ป่วยที่มีปัญหาต่อมทอนซิลโต โรคอ้วน โรคภูมิแพ้

 

ผลของการหยุดหายใจขณะหลับ

การหยุดหายใจขณะหลับนานเกินกว่า 10 วินาที หรือมีการหยุดหายใจมากกว่า 5 ครั้งต่อการนอนหลับหนึ่งชั่วโมงถือว่าผิดปกติ ร่างกายจะมีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าร้อยละ 90 น้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้น หัวใจและหลอดเลือดทำงานมากขึ้น ง่วงนอนมากผิดปกติ ขาดสมาธิเวลาทำงาน นอกจากนี้ผู้ป่วยยังมีโอกาสเกิดโรคหัวใจ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต อุบัติเหตุขณะทำงาน อารมณ์หงุดหงิด ไม่สดชื่นแจ่มใส ปวดศีรษะแม้ว่าจะนอนหลับเพียงพอ รวมทั้งสมรรถภาพทางเพศลดลง เด็กที่มีภาวะพร่องออกซิเจนขณะหลับ อาจมีสติปัญญาถดถอย สมาธิสั้น หัวใจโต หรือเสียชีวิตกะทันหันได้ถ้าเป็นมาก

ปัจจัยเสริมทำให้เกิดการนอนกรน

  1. เพศ : เพศชายจะมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิงเมื่ออายุมากขึ้น เพราะฮอร์โมนชายจะส่งผลให้เนื้อเยื่อบริเวณคอหนามากกว่าผู้หญิง
  2. โรคอ้วน : จำนวน 2 ใน 3 ของผู้ป่วยนอนกรนจะมีโรคอ้วนและมีน้ำหนักมากกว่าร้อยละ 20
  3. ความผิดปกติของกระดูกใบหน้า หน้าแบน คางสั้น พบว่ามีทางเดินหายใจแคบกว่าคนปติ
  4. การดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ทางเดินหายใจแคบลง และเกิดการหยุดหายใจได้ง่ายเนื่องจากแอลกอฮอล์ลดการทำงานของกล้ามเนื้อทางเดินหายใจ
  5. โรคต่อมไร้ท่อ : พบว่าผู้ที่มีระดับไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ อาจเกิดทางเดินหายใจอุดกั้นได้ง่าย
  6. เนื้องอกหรือเนื้อเยื่อส่วนเกินในทางเดินหายใจ ได้แก่ ทอนซิลหรือต่อมอดีนอยด์โต ผนังช่องคอหนา ลิ้นโต ริดสีดวงจมูก ผนังกั้นจมูกคด เนื้องอกของช่องจมูก

การตรวจการนอนหลับ (PSG: Polysomnography)

ตรวจด้วยเครื่องมือเฉพาะที่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพของการนอนว่าเป็นอย่างไร ซึ่งผู้ป่วยไม่สามารถบอกได้ด้วยตนเอง การตรวจนี้ประกอบด้วย

  • การวัดระดับความลึกของการนอนหลับจากคลื่นสมอง
  • การทำงานและเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อทรวงอกและหน้าท้อง
  • ระดับออกซิเจนในเลือดในแต่ละช่วงของการนอนหลับ
  • การเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะหลับ
  • จำนวนครั้งของการหยุดหายใจ

ในการตรวจแต่ละครั้ง ผู้ป่วยจะเข้านอนในโรงพยาบาล 1 คืน (ใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมง) เพื่อสังเกตพฤติกรรมการนอนโดยจะได้รับการติดเครื่องตรวจวัดสภาพการนอนทั้งคืน (Polysomnography) ซึ่งเป็นมาตรฐานในการวินิจฉัย สำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่การตรวจจะสามารถช่วยในการเลือกใช้ความดันที่เหมาะสมในเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่อง (CPAP) สามารถลดภาวะหยุดหายใจได้ผลดีและลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคลงได้

แนวทางการรักษาภาวะกรน

  • ลดและควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • การนอนท่าตะแคงจะช่วยให้ลิ้นไม่ตกไปอุดช่องคอ
  • ใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่อง หรือ CPAP (Continuous Positive Airway Pressure) ช่วยหายใจขณะหลับ แรงดันอากาศจากเครื่องช่วยเปิดทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น ทำให้หายใจได้เพียงพอและใช้ได้ผลดี แต่บางรายไม่คุ้นเคยกับการใช้เครื่องขณะหลับ
  • ใส่อุปกรณ์ทางทันตกรรมในช่องปากขณะหลับ
  • ผ่าตัดเนื้อเยื่อในช่องคอ เพื่อให้เกิดการกระชับและตึงตัวขึ้นด้วยวิทยุความถี่สูง (Radio Frequency)
  • การผ่าตัดเพดานอ่อน เพื่อขยายช่องทางเดินหายใจบริเวณคอหอย
  • การผ่าตัดเลื่อนขากรรไกรในรายที่มีโครงสร้างกระดูกใบหน้าผิดปกติ

สัญญาณเตือนแบบไหนเสี่ยง ‘หยุดหายใจขณะหลับ’

  • นอนกรนเสียงดัง ตื่นบ่อยขณะหลับ
  • มีอาการง่วงทั้งที่นอนมาก
  • มึนงง ปวดศีรษะ และไม่สดชื่นเมื่อตื่นนอน
  • ขี้ลืม ไม่มีสมาธิในการทำงาน ความจำไม่ดี
  • ง่วงนอนขณะขับรถ และในตอนกลางวัน
  • อารมณ์เสีย หงุดหงิดง่าย

แบบทดสอบว่าคุณมีปัญหาโรคนอนกรนหรือไม่?

ในสถานการณ์ต่อไปนี้ ท่านมักจะเผลอหลับหรืองีบหลับไปมากน้อยแค่ไหน (ตอบทุกข้อ)

แบบทดสอบว่าคุณมีปัญหาโรคนอนกรน
ไม่เคย
นอน
ปานกลาง
มาก
ขณะดูทีวี




ขณะอ่านหนังสือ




นั่งเฉยๆ นอกบ้านในที่สาธารณะ




นั่งพูดคุยกับคนอื่น




หลับในรถขณะที่รถติดไม่กี่นาที




นั่งเป็นผู้โดยสารนานเป็นชั่วโมง




นั่งเงียบๆ หลังทานอาหารเที่ยง




นั่งเอนหลังเพื่อพักในช่วงบ่าย




 

การแปลผล :     ไม่เคย = 0 คะแนน / น้อย = 1 คะแนน / ปานกลาง = 2 คะแนน / มาก = 3 คะแนน
การแปลผล :     ถ้ารวมได้น้อยกว่า 7 คะแนน แสดงว่าปกติ
ถ้ารวมได้มากกว่า 9 คะแนน แสดงว่า ท่านง่วงเหงาหาวนอนมากผิดปกติอาจจะเกิดจากโรคกรนได้

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
นพ. พลพร อภิวัฒนเสวี
นพ. พลพร อภิวัฒนเสวี
แพทย์เฉพาะทางด้านหู คอ จมูก และโรคหยุดหายใจขณะหลับ โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์