Shopping Cart

No products in the cart.

มะเร็งเต้านม ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านมมีอะไรบ้าง?

Breast cancer มีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านมที่สามารถควบคุมแก้ไขได้และควบคุมไม่ได้ การรู้วิธีควบคุมปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านมที่แก้ไขได้ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านมที่ควบคุมแก้ไขได้ 

น้ำหนักตัว

โดยพบว่าหากมีภาวะอ้วน หรือมีน้ำหนักที่มากเกินไปนั้นนับเป็นปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งพบว่าผู้หญิงวัยนี้จะมีไขมันในร่างกายที่ทำหน้าที่หลักในการสร้างเอสโตรเจนแทนรังไข่หลังหมดประจำเดือน และหากมีภาวะอ้วน มีน้ำหนักและไขมันที่มาก ก็จะทำให้ระดับเอสโตรเจนในร่างกายสูง ซึ่งก็จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มมากขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านมจากอาหาร

อาหารนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยนักโภชนาการแนะนำว่า การรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย และรักษาน้ำหนักร่างกายให้มีสุขภาพดีเสมอนั้น จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมได้ ทั้งนี้แนะนำให้รับประทานผักผลไม้มากกว่า 5 ถ้วยต่อวัน จำกัดปริมาณอาหารให้มีไขมันอิ่มตัวให้น้อยกว่า 10% ของปริมาณแคลอรี่ทั้งหมดต่อวัน และรับประทานอาหารที่มีไขมันทั้งหมดไม่เกิน 30 กรัมต่อวัน และยังแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีไขมัน Omega 3 นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์ (Trans Fat) เนื้อสัตว์แปรรูป หรืออาหารรมควัน จะสามารถลดปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านมจากอาหารลงได้

การออกกำลังกาย

มีการศึกษาแนะนำว่า การออกกำลังกายนั้นสามารถช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้ หากออกกำลังกายวันละ 45-60 นาที ตั้งแต่ 5 วันขึ้นไปต่อสัปดาห์ ก็จะสามารถลดความเสี่ยงจากการเกิดมะเร็งเต้านมได้

การดื่มแอลกอฮอล์

การดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ความสามารถของการทำงานของตับลดลง สูญเสียการควบคุมปริมาณเอสโตรเจนในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งเพิ่มขึ้นได้

การสูบบุหรี่

การสูบบุหรี่นั้นพบว่าเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงเล็กน้อยในการเกิดมะเร็งเต้านม

การได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจน

ฮอร์โมนเอสโตรเจนทำหน้าที่ในการกระตุ้นเซลล์เต้านมให้มีการเจริญเติบโต ซึ่งหากการที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นระยะเวลานาน ก็ย่อมมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มมากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมนทดแทนเป็นระยะเวลานาน

ยาคุมกำเนิด

การใช้ยาคุมกำเนิดที่เป็นระยะเวลานาน มากกว่า 5-10ปีนั้น เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม แต่พบว่าการใช้ยาคุมกำเนิดในช่วงเวลาสั้นๆ ก็มีผลเพิ่มความเสี่ยงในเกิดมะเร็งเต้านมเพียงเล็กน้อย และพบว่าหากหยุดยาคุมกำเนิดมากกว่า 10 ปี ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมนั้นไม่แตกต่างจากคนทั่วไป

ความเครียดและความวิตกกังวล

ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนที่บ่งบอกว่า ความเครียดและความวิตกกังวลนั้นมีความเกี่ยวข้องชัดเจนกับการเกิดมะเร็งเต้านม แต่พบว่าการลดความเครียดและทำให้จิตใจสงบนั้น สามารถเพิ่มความสามารถของภูมิต้านทานในร่างกายได้

ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านม ที่ไม่สามารถควบคุมแก้ไขได้

เพศ

ผู้หญิงนั้นมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากเต้านมของผู้หญิงนั้นมีการเปลี่ยนแปลงและมีการเติบโตตลอดเวลา ซึ่งเป็นผลจากฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน ซึ่งด้วยปัจจัยดังกล่าวนี้จึงทำให้ผู้หญิงจึงมีความเสี่ยงมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้ชาย

อายุ

พบว่าเมื่อมีอายุที่เพิ่มมากขึ้นย่อมมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้นในการที่จะเกิดมะเร็งเต้านม ซึ่งอายุระหว่าง 30-39 ปี มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม 1 ใน 228 หรือ 0.44 % และเมื่ออายุ 60 ปี ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 29 หรือ 3.5%

คนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม

หากมีประวัติคนในครอบครัว โดยเฉพาะญาติสายตรง ได้แก่ บิดา มารดา พี่ น้อง หรือบุตร เป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ และหากเป็นมะเร็งก่อนอายุ 50 ปีนั้น คุณจะมีความเสี่ยงสูงในการที่จะเกิดมะเร็งเต้านม

ประวัติมะเร็งเต้านมของผู้ป่วย

หากผู้ป่วยเคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อนจะมีความเสี่ยงมะเร็งเต้านมในเต้านมอีกข้างเพิ่มมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่เคยมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน

เชื้อชาติ

พบว่าในกลุ่มผู้หญิงที่มีเชื้อชาติผิวขาวมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้หญิงที่มีเชื่อชาติอเมริกัน และพบว่าผู้หญิงที่มีเชื่อชาติเอเชีย และเชื้อชาติอเมริกันนั้นมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมและเสียชีวิตจากมะเร็งที่ต่ำกว่า

การได้รับรังสี

พบว่าหากคุณเคยได้รับการฉายรังสีบริเวณหน้าอกตอนเด็กมาก่อนจากการรักษามะเร็งชนิดอื่นๆนั้น ก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นในการเกิดมะเร็งเต้านม และจะมีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้นหากคุณได้รับการฉายรังสีในช่วงที่เต้านมกำลังมีการเจริญเติบโต คือ อายุประมาณ 10 ปี

การมีประจำเดือนเร็ว หมดช้า

การที่ร่างกายได้รับกระตุ้นด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นระยะเวลานาน เช่น การมีประจำเดือนครั้งแรกที่อายุน้อยกว่า 12 ปี การที่หมดประจำเดือนช้ากว่าอายุ 55 ปี หรือการที่ได้รับสารกระตุ้นที่คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น เนื้อสัตว์บางชนิด หรือยาฆ่าแมลง เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้นั้นจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมมากขึ้น

การตั้งครรภ์และให้นมบุตร

การตั้งครรภ์และให้นมบุตรนั้น สามารถช่วยลดระยะเวลาในการมีประจำเดือน ทำให้ร่างกายไม่ได้รับการกระตุ้นด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งก็จะมีผลลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมในอนาคตอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่คุณเป็นมารดาที่คลอดก่อนกำหนดหรือมีบุตรช้า คือมีบุตรคนแรกตอนอายุมากกว่า 30 ปีนั้น กลับเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มมากขึ้น แต่พบว่าการที่ให้นมบุตรเป็นระยะเวลา 1ปีครึ่งถึง 2 ปีนั้น กลับสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมลงได้

Breast Care Center
ชั้น 3 โรงพยาบาลไทยนครินทร์

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
พญ.ชญานุตม์ รัตตดิลก
พญ.ชญานุตม์ รัตตดิลก
ศัลยแพทย์ที่ปรึกษาศูนย์โรคเต้านม โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์