การกลายพันธุ์พันธุกรรมที่ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ เรียกว่า ‘พันธุกรรมมะเร็ง’ (Germline mutation) ปัจจุบันพบว่า พันธุกรรมมะเร็งเต้านมที่ถ่ายทอดจากพ่อแม่ สามารถตรวจพบพบได้ 5-10 % ในยีน ซึ่งพบบ่อยที่สุดคือ ยีน BRCA
มะเร็งติดต่อทางพันธุกรรมไหม
มะเร็งส่วนใหญ่เกิดจากการกลายพันธุ์ (Mutation) ของเซลล์ปกติในร่างกาย หรือที่เรียกว่า การกลายพันธุ์แบบโซมาติก (Somatic mutation) ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของโรคมะเร็ง การกลายพันธุ์แบบนี้เกิดขึ้นในภายหลังและมีโอกาสสูงขึ้นเมื่อบุคคลนั้นๆ มีอายุมากขึ้น เซลล์ที่กลายพันธุ์ไปจะมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นก้อนเนื้องอกและมะเร็งในที่สุด
การกลายพันธ์แบบโซมาติกจะไม่พบในทุกเซลล์ของร่างกายและไม่ส่งผ่านจากพ่อแม่สู่ลูก ส่วนการกลายพันธุ์ของเซลล์ของบุคคลนั้นตั้งแต่ในระยะเซลล์อสุจิหรือเซลล์ไข่ ส่งผ่านโดยตรงจากพ่อแม่ไปยังเด็กตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิ เรียกการกลายพันธุ์พันธุกรรมที่ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ เรียกว่า ‘พันธุกรรมมะเร็ง’ (Germline mutation)
พันธุกรรมมะเร็งเต้านม
ในปัจจุบันพบว่าพันธุกรรมมะเร็งเต้านมที่ถ่ายทอดจากพ่อแม่ ที่สามารถตรวจพบในสารพันธุกรรมที่เรียกว่า ‘ยีน’ (Gene) นั้น พบได้ประมาณ 5-10 % มียีนหลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งเต้านม แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือ ยีน BRCA
ยีน BRCA
ยีน BRCA มี 2 ชนิด ได้แก่ ยีน BRCA1 และ BRCA2 เป็นกลุ่มยีนที่ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญของเซลล์ (Tumor Suppressor Gene) ในเซลล์ปกติ ยีน BRCA1 และ BRCA2 เป็นยีนปกติที่ช่วยซ่อมแซม DNA ที่เสียหาย ช่วยดำรงเสถียรภาพของสารพันธุกรรม และป้องกันการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ เพื่อไม่ให้กลายพันธุ์เป็นมะเร็ง
ยีน BRCA พบทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยผู้หญิงที่มียีน BRCA1 หรือ BRCA2 ที่ผิดปกติจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ โดยมักจะเป็นมะเร็งตั้งแต่อายุยังน้อย (ก่อนวัยหมดประจำเดือน) และมักจะมีญาติสายเลือดเดียวกันที่เป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่หลายคน นอกจากมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่แล้ว
คนที่มียีน BRCA1 ที่ผิดปกติก็ยังเพิ่มโอกาสเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งของเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ส่วนคนที่มียีน BRCA2 ที่ผิดปกติก็ยังเพิ่มโอกาสเสี่ยงของการเกิดมะเร็งตับอ่อน มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งของถุงน้ำดี มะเร็งของท่อน้ำดี และมะเร็งของเซลส์เม็ดสี (melanoma) สำหรับผู้ชายที่มียีน BRCA1 ที่ผิดปกติ ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งตับอ่อน มะเร็งของอัณฑะ และมะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่อายุยังน้อย ส่วนผู้ชายที่มียีน BRCA2 มีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งต่อมลูกหมาก
นอกจากนี้มียีนอื่นๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่อีก เช่น TP53, PTEN, STK11/LKB1, CDH1, CHEK2, ATM, MLH1 และ MSH2 เพียงแต่เป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับยีน BRCA ซึ่งยีนเหล่านี้เป็นยีนที่เกี่ยวกับการเกิดโรคมะเร็งอื่นๆ โอกาสที่มะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่จะเป็นชนิดที่เกี่ยวข้องกับยีน BRCA ที่ผิดปกตินั้น จะพบในครอบครัวที่มีสมาชิกหลายคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม มีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ในคนเดียวกัน
ทั้งนี้ มีสมาชิกในครอบครัวมากกว่าหนึ่งคนเป็นมะเร็งของอวัยวะสองอย่างในร่างกาย แต่ไม่ได้หมายความว่าสมาชิกทุกคนในครอบครัวดังกล่าวจะต้องมียีน BRCA ที่ผิดปกติ และหากเกิดมะเร็งขึ้นในครอบครัวดังกล่าว ก็ไม่จำเป็นจะต้องเกิดจากยีน BRCA ที่ผิดปกติ นอกจากนี้ คนที่มียีน BRCA ที่ผิดปกติ ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ทุกคน
โดยชั่วชีวิตหนึ่งโอกาสที่จะเกิดเป็นโรคมะเร็งเต้านมในกลุ่มประชากรปกติมีประมาณ 12% (120 คนในประชากร 1,000 คน) แต่ในกลุ่มที่มีความผิดปกติของยีน BRCA1 หรือยีน BRCA2 จะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมถึง 60% (600 คนในประชากร 1,000 คน) ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงสูงกว่าประชากรปกติถึง 5 เท่า ส่วนโอกาสที่จะเกิดเป็นโรคมะเร็งรังไข่ในกลุ่มประชากรปกติมีประมาณ 1.4% (14 คนในประชากร 1,000 คน) เปรียบเทียบกับกลุ่มที่มีความผิดปกติของยีนจะมีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่เพิ่มเป็น 15-40% (150-400 คนในประชากร 1,000 คน)
ตรวจคัดกรองหาความผิดปกติของยีน
การตรวจคัดกรองหาความผิดของยีน BCRA1 และ BRCA2 ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจทุกคน แนะนำตราจเฉพาะกลุ่มที่มีแนวโน้มว่าจะเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม สำหรับประเทศไทยยังไม่มีแนวทางที่แน่ชัด ว่าควรตรวจคนกลุ่มไหน หากอ้างอิงจากแนวทางของประเทศสหรัฐอเมริกาแนะนำว่า ในผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม ที่มีลักษณะต่อไปนี้
1.เป็นมะเร็งเต้านมตั้งแต่อายุ ไม่เกิน 45 ปี
2.เป็นมะเร็งเต้านมในช่วงอายุ 46-50 ปี ที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
-เป็นมะเร็งเต้านมมากกว่า 1 ครั้ง
-ญาติใกล้ชิดหนึ่งคนขึ้นไป เป็นมะเร็งเต้านม
-ญาติใกล้ชิดหนึ่งคนขึ้นไป เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากที่แพร่กระจาย หรือมีลักษณะ High grade (Gleason score ตั้งแต่ 7 ขึ้นไป)
-ไม่สามารถหรือมีข้อจำกัดในการค้นหาประวัติครอบครัว
3.เป็นมะเร็งเต้านมชนิด Triple negative คือ ไม่มีตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจน ตัวรับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและตัวรับเฮอร์ทู และอายุไม่เกิน 60 ปี
4.เป็นมะเร็งเต้านมในทุกช่วงอายุที่
-มีญาติใกล้ชิดอย่างน้อย 1 คน เป็นมะเร็งเต้านมตอนอายุไม่เกิน 50 ปี หรือ มะเร็งรังไข่ หรือ มะเร็งเต้านมในผู้ชาย หรือ มะเร็งต่อมลูกหมาก หรือมะเร็งตับอ่อน
-มีญาติใกล้ชิดที่เป็นมะเร็งตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
5.มีประวัติคนในครอบครัวมียีน BRCA 1 หรือ 2
วิธีการตรวจคัดกรอง
วิธีการตรวจคัดกรองหาความผิดปกติของยีน BRCA1 และ BRCA2 มีหลายวิธี ส่วนใหญ่จะตรวจหาความผิดปกติในดีเอ็นเอของยีน BRCA และมีบางวิธีที่ตรวจหาความผิดปกติของโปรตีนที่ถูกสร้างมาจากยีน BRCA แต่โดยทั่วไปมักจะใช้หลายๆวิธีร่วมกันการตรวจจำเป็นจะต้องใช้การเจาะเลือดประมาณ 6 – 10 ml ไม่ต้องงดน้ำงดอาหาร ซึ่งผลการตรวจปัจจุบันใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ก็ทราบผล และราคาค่าตรวจ ราคาอยู่ประมาณ 25,000-35,000 บาท ขึ้นอยู่กับเทคนิคที่ตรวจหาหรือห้องตรวจปฏิบัติการแต่ละที่
บทความโดย
รศ.นพ.ประกาศิต จิรัปปภา
นพ.สุรกิจ พรชัย