‘ปวดศีรษะ’ อาการที่พบบ่อยในทุกเพศทุกวัย โดยมากอาการปวดจะไม่รุนแรงและสามารถหายได้เอง แต่หากพบว่าอาการปวดศีรษะทวีความรุนแรงขึ้น จนเกินจะรับมือไหว ควรสังเกตอาการและรีบพบแพทย์ให้ทำการตรวจวินิจฉัยโดยเร่งด่วน เพื่อคัดกรองและรักษาอาการปวดศีรษะได้ตรงสาเหตุ
อาการปวดศีรษะลักษณะใดที่ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยเร่งด่วน?
- ปวดศีรษะรุนแรงเฉียบพลันอย่างที่ไม่เคยปวดมาก่อนในชีวิต
- ปวดศีรษะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รับประทานยาแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น
- ปวดศีรษะเมื่อออกกำลังในกิจกรรมต่างๆ
- ปวดศีรษะร่วมกับอาการสับสน หลงลืม อ่อนเพลีย มีไข้สูง ความดันโลหิตสูง เกิดความผิดปกติทางการมองเห็น เสียการทรงตัว หมดสติ สูญเสียความรู้สึกตัว ซึมลง ชักเกร็ง
ความเครียด อีกหนึ่งสาเหตุหลักของ
อาการปวดศีรษะที่พบบ่อย ส่งผลต่อสุขภาพจิต
ทั้งของตนเองและคนรอบข้าง อาจนำไปสู่
อาการทางระบบประสาทที่แฝงมา
กับความเครียด
อาการปวดศีรษะที่พบบ่อยมี 4 ประเภท ได้แก่
1.ปวดศีรษะจากความเครียด (Tension type headache)
80-90% ของผู้ป่วยอาการปวดศีรษะจากความเครียดพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็กและพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งเป็นสภาวะที่พบบ่อยโดยทั่วไป มีอาการปวดตึงกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอและรอบศีรษะ นอกจากนี้อาจมีอาการปวดบริเวณเบ้าตา คลื่นไส้ร่วมด้วย อาการปวดลักษณะนี้มักแสดงอาการหลังจากการทำงานมาทั้งวัน พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือความเครียดสะสม
การปวดศีรษะจากความเครียด เป็นภาวะที่ไม่รุนแรง เพียงพักผ่อนให้เพียงพอ หลับสนิท หลีกเลี่ยงการทำงานหนักต่อเนื่อง ในบางรายอาการนี้อาจเป็นอาการเริ่มต้นของเนื้องอกในสมอง หากปวดในตอนกลางคืน จนสะดุ้งตื่นและเรื้อรังนานเกิน 1 สัปดาห์ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย
2.ปวดศีรษะไมเกรน (Migraine)
อาการปวดศีรษะไมเกรนพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย มีอาการปวดเป็นระยะๆ ที่ข้างใดข้างหนึ่ง ปวดตุบๆ เหมือนชีพจรเต้นอยู่บริเวณตำแหน่งที่ปวดศีรษะ นอกจากนี้ยังมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่ามัว หรือเห็นแสงสีเป็นเส้นระยิบระยับร่วมด้วย สาเหตุเกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือดที่อยู่ชิดกับเยื่อหุ้มสมอง
ปัจจัยกระตุ้นการปวดศีรษะไมเกรน
- การรับประทานอาหารที่มีสารกันบูด เนย ช็อกโกแลต หรือยาขยายหลอดเลือด และการอดอาหาร น้ำตาลในเลือดต่ำ
- พักผ่อนไม่เป็นเวลา ไม่เพียงพอ มีความวิตกกังวลร่วมด้วย
- ระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเพศหญิงในช่วงมีประจำเดือนหรือตั้งครรภ์ระยะแรก
- สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น อากาศร้อน แดดแรง กลิ่นไม่พึงประสงค์และมลพิษต่างๆ
การรักษาปวดศีรษะไมเกรน
- หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นการปวดศีรษะไมเกรน
- การรักษาด้วยยา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
• ยาที่ใช้เมื่อแสดงอาการปวด แต่การรับประทานยาในกรณีนี้ไม่ควรต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานกว่าที่แพทย์สั่ง
• ยาสำหรับป้องกันการเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน เพื่อลดความถี่ ความรุนแรงและระยะเวลาปวด การรับประทานยาในกรณีนี้ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์จนกว่าจะสามารถปรับลดยาได้
3.ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (Cluster headache)
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงข้างเดียว มักจะปวดแปล๊บๆ เป็นชุดๆ บริเวณกระบอกตาหรือขมับข้างเดียว ระยะเวลาปวดตั้งแต่ 10 นาที ถึง 3 ชั่วโมง และอาจเกิดอาการปวดบ่อยถึงวันละ 1-2 ครั้ง บางรายมีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหล เหงื่อออก รูม่านตาหดร่วมด้วย
สาเหตุเกิดจากปัจจัยกระตุ้น เช่น แอลกอฮอล์ การเดินทาง การขึ้นที่สูง ได้รับยากลุ่มไนเตรท ซึ่งอาการปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 5-6 เท่า ในรายที่ปวดเพียง 10 นาทีแล้วหาย การรับประทานยาอาจไม่จำเป็น แต่ในรายที่ปวดขั้นรุนแรงต้องใช้ยาช่วยให้การระงับความปวด หากทิ้งไว้นานอาจเป็นแรงกดดันถึงขั้นฆ่าตัวตายได้
4. ปวดศีรษะจากแรงดันในโพรงกระโหลกศีรษะสูง (Increase Intracranial Pressure)
สาเหตุเกิดจากการมีสิ่งผิดปกติในสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง เลือดออกหรือน้ำคั่งในสมอง การติดเชื้อในสมอง เป็นต้น เป็นผลให้ความดันในโพรงกระโหลกศีรษะสูง โดยอาการปวดนี้จะปวดลึกภายในศีรษะ มีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น แขนขาอ่อนแรงหรือชา พูดไม่ชัด การได้ยินผิดปกติ อาเจียน ชัก ซึมลง สับสน ไม่รู้สึกตัว
การวินิจฉัยอาการปวดศีรษะจากแรงดันในสมองสูงต้องใช้ความละเอียดในการหาสาเหตุของอาการปวดที่แท้จริง จึงจะสามารถหายขาดได้ แพทย์จะตรวจเพิ่มเติมตามเห็นสมควร และตรวจสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) หรือคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) หรือการเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง ในรายที่อาจมีการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมองหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจส่งตรวจคลื่นสมอง (EEG) หากมีอาการชักร่วมด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม พิจารณาโดยทีมแพทย์
ปวดศีรษะเป็นอาการที่พบได้โดยทั่วไป
แต่หากสังเกตความแตกต่างของอาการปวดเหล่านั้น
และปรึกษาแพทย์ได้ในเวลาที่เหมาะสม
เพื่อตรวจรักษาอย่างทันท่วงที