Shopping Cart

No products in the cart.

ตรวจสุขภาพหัวใจ

‘หัวใจ’ เป็นอวัยวะสำคัญสำหรับเราทุกคน เป็นอวัยวะที่เริ่มทำงานตั้งแต่เรายังเป็นตัวอ่อนอายุ 6 สัปดาห์ในครรภ์มารดา และจะทำงานจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตแบบไม่มีหยุดพัก หากหัวใจของเราหยุดทำงานแม้เพียงแค่ 5 วินาที เราก็จะหมดสติ และหากหยุดเต้นนานกว่า 5 นาทีก็จะเริ่มมีความเสียหายถาวรต่ออวัยวะที่ไวต่อการขาดเลือดเช่นสมอง และโอกาสที่จะทำให้หัวใจกลับมาเต้นอีกครั้ง ก็ดูเหมือนจะยากมากขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่หัวใจหยุดทำงานไป ดังนั้นเราควรใส่ใจดูแลสุขภาพหัวใจแต่เนิ่นๆ ก่อนที่หัวใจของเราจะหยุดทำงานก่อนเวลาอันควร

สัญญาณเตือนโรคหัวใจ

จริงๆ แล้ว เราอาจรับรู้ได้ว่าสุขภาพหัวใจเริ่มมีความผิดปกติ ซึ่งสามารถแสดงออกได้ด้วยอาการหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น อาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น เจ็บแน่นหน้าอกขณะออกแรง เคร่งเครียด หรือมีอาการวูบหมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุ หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น เราไม่ควรนิ่งนอนใจรอให้อาการเป็นมาก ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจหาสาเหตุที่ชัดเจน ก่อนที่อาการเหล่านั้นจะเป็นมากขึ้นจนเกินเยียวยา

ตรวจสุขภาพหัวใจ

แม้ว่าจะไม่มีอาการเหล่านี้ แต่ในปัจจุบัน ตามสถานพยาบาลต่างๆ ก็มีโปรแกรมการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อวัตถุประสงค์ในการตรวจคัดกรองโรค ก่อนที่จะเกิดอาการ ซึ่งอาจช่วยให้พบโรคหัวใจในระยะเริ่มแรกซึ่งง่ายต่อการรักษา โปรแกรมเหล่านี้ เหมาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เช่น มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ หรือเสียชีวิตฉับพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือสูบบุหรี่ หรือแม้แต่ในคนอายุน้อยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่ต้องการเช็คสุขภาพหัวใจก่อนการเริ่มออกกำลังกายหนักๆ เป็นต้น

ตรวจสุขภาพหัวใจ ด้วยวิธีไหนได้บ้าง 

การตรวจสุขภาพหัวใจ ด้วยเครื่องมือต่างๆ ที่นอกเหนือไปจากการตรวจร่างกายโดยแพทย์ ที่พบได้บ่อยในโปรแกรมการตรวจสุขภาพตามสถานพยาบาลต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้ใช้บริการและประชาชนทั่วไป ได้รับทราบถึงวัตถุประสงค์ วิธีการ และประเภทของข้อมูลที่จะได้รับจากการตรวจสุขภาพหัวใจแต่ละชนิด ดังนี้

ตรวจสุขภาพหัวใจ

  1. ตรวจเอกซเรย์ปอดและหัวใจ (Chest X-ray)
    เป็นการถ่ายภาพเอกซ์เรย์ช่วงบริเวณหน้าอก ข้อมูลที่ได้ นอกจากจะบอกถึงสภาพของเนื้อปอดแล้ว ยังบอกถึงขนาดของหัวใจและหลอดเลือดใหญ่บริเวณทรวงอกด้วย ช่วยในการวินิจฉัยภาวะหัวใจโต หรือหลอดเลือดโป่งพองในช่องอก
  2. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram, EKG)
    เป็นการติดเครื่องรับคลื่นไฟฟ้าที่กำเนิดจากกล้ามเนื้อหัวใจที่ผิวหนัง ข้อมูลที่ได้ คือรูปกราฟ 12 รูป ซึ่งนอกจากช่วยบอกอัตราการเต้นของหัวใจแล้ว ยังบอกถึงความสม่ำเสมอของการเต้น ซึ่งใช้ในการวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดต่าง ๆ และลักษณะของกราฟทั้ง 12 จุด ยังช่วยบอกตำแหน่งของหัวใจที่ขาดเลือด ใช้ในการวินิจฉัยภาวะหัวใจโต รวมถึงการนำไฟฟ้าในหัวใจที่ผิดปกติชนิดต่างๆ ด้วย
  3. ตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram)
    เป็นการอาศัยคุณสมบัติของการสะท้อนของคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) จากหัวใจมาสร้างเป็นภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ข้อมูลที่ได้ช่วยให้แพทย์ทราบถึงลักษณะทางกายภาพของหัวใจ เช่นขนาดความหนาของกล้ามเนื้อหัวใจ ลักษณะของลิ้นหัวใจ นอกจากนี้ยังทราบถึงความสามารถในการบีบตัวของหัวใจว่าปกติหรือไม่ ทราบความเร็วและทิศทางของเลือดที่ไหลผ่านลิ้นหัวใจ ซึ่งสามารถคำนวณย้อนกลับไปเป็นค่าแรงดัน ซึ่งใช้ในการวินิจฉัยภาวะลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วได้
  4. ตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน (Exercise Stress Test, EST)
    เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ขณะที่ผู้รับการตรวจออกกำลังกายโดยการเดินบนสายพาน ที่เร็วขึ้น และชันมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป มีการวัดความดันและอัตราการเต้นของหัวใจในขณะออกกำลังกายด้วย ข้อมูลที่ได้ ช่วยให้แพทย์ทราบการตอบสนองของอัตราการเต้นของหัวใจ และความดันโลหิต ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่ในขณะออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังช่วยในการวินิจฉัยภาวะหัวใจขาดเลือด ซึ่งอาจไม่เห็นในขณะที่ตรวจคลื่นหัวใจในขณะพัก
  5. ตรวจวัดการแข็งตัวของหลอดเลือดส่วนปลาย (Ankle Brachial Index, ABI)
    เป็นการตรวจความยืดหยุ่นตัวของหลอดเลือดแขนขา โดยการวัดความดันของแขนและขาพร้อม ๆกัน ข้อมูลที่ได้ ช่วยให้แพทย์ทราบถึงทราบความยืดหยุ่นของผนังหลอดเลือด ซึ่งเป็นตัวทำนายการเกิดโรคหลอดเลือดตีบ และทราบถึงสภาวะการตีบของหลอดเลือดแขนขาหากเกิดขึ้นแล้ว
  6. ตรวจปริมาณแคลเซี่ยมที่ผนังหลอดเลือดหัวใจ (CT Calcium Score)
    เป็นการตรวจวัดปริมาณแคลเซี่ยมที่สะสมอยู่ในผนังหลอดเลือดหัวใจโดยเครื่องเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT-scan) โดยไม่ต้องมีการฉีดสี ข้อมูลที่ได้ ช่วยให้แพทย์ทราบถึงสภาพความเสื่อมของหลอดเลือดหัวใจ และใช้ในการทำนายความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เพื่อใช้ในการให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวหรือการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ตรวจสุขภาพหัวใจ

จะเห็นได้ว่าในโปรแกรมการตรวจสุขภาพหัวใจนั้น มีการตรวจอยู่มากมายหลายอย่าง ทั้งนี้ เนื่องจากยังไม่มีการตรวจใดเพียงการตรวจเดียว ที่ให้ข้อมูลที่สมบูรณ์ สามารถตอบทุกคำถามได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ข้อมูลที่ได้จากการตรวจแต่ละอย่างนั้น มาประติดประต่อ เพื่อให้มองเห็นภาพรวมของหัวใจ ทั้งลักษณะทางกายภาพ ประสิทธิภาพ ความเสื่อม ความเสี่ยง และพยาธิสภาพ เพื่อวางแผนในการให้คำแนะนำ และการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

Heart Center
ชั้น 3 โรงพยาบาลไทยนครินทร์

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
นพ. อุฬาร วงศ์แกล้ว
DR. ULAN WONGKLAW, M.D
Cardiologist, Heart Center, Thainakarin Hospital
ข้อมูลแพทย์