Shopping Cart

No products in the cart.

ก่อนฉีด ‘วัคซีนมือเท้าปาก’ พ่อแม่ต้องรู้อะไรบ้าง?

‘โรคมือเท้าปาก’ (Hand Foot and Mouth Disease) หนึ่งในโรคติดต่อที่สร้างความกังวลให้กับพ่อแม่ พบมากในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และมักมีการระบาดในช่วงฤดูฝน จากสถิติของผู้ป่วยโรคมือเท้าปากก่อนสถานการณ์โควิด พบเด็กป่วยมือเท้าปาก 60,000-80,000 คนต่อปี แต่ใน พ.ศ.2563 เป็นต้นมา ตัวเลขผู้ป่วยลดลง เนื่องจากเด็กไม่ได้ไปโรงเรียน แต่ในปี พ.ศ.2565 เริ่มพบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเด็กกลับไปเรียนตามปกติ และคาดว่าจะพบจำนวนผู้ติดเชื้อสูงมากขึ้น

โรคมือเท้าปาก มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัสหลายชนิด สายพันธุ์ที่พบบ่อยและแพร่ระบาดในปัจจุบันคือ ไวรัสค็อกซากี (Coxsackie Virus)  ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง แต่สายพันธุ์ที่รุนแรง คือ ‘เอนเทอโรไวรัส 71’ หรือ EV 71 (Enterovirus 71)

 

เชื้อไวรัสมือเท้าปาก Enterovirus Type 71 รุนแรงแค่ไหน

หลังจากได้รับเชื้อมือเท้าปากมาแล้ว 3-6 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการไข้ เจ็บปาก มีตุ่มแดงหรือแผลที่ลิ้น เหงือกกระพุ้งแก้ม และเพดานปาก ซึ่งจะทำให้เด็กมีน้ำลายไหลและรับประทานอาหารได้น้อย มีผื่นเป็นจุดแดงหรือตุ่มน้ำใสที่บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า และอาจมีผื่นขึ้นที่รอบก้น อวัยวะเพศ ลำตัว แขนและขาได้ โรคมือเท้าปากส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง หายได้เองภายใน 7-10 วัน บางรายอาจมีภาวะขาดน้ำจากการรับประทานอาหารและน้ำน้อยลง แต่ในเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 อาจพบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงคือ ก้านสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งทำให้ระบบหายใจและระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว

ความรุนแรงของ EV71

เมื่อลูกป่วย ‘มือเท้าปาก’ อาการที่ควรมาพบแพทย์

ในผู้ป่วยมือเท้าปากที่มีไข้สูง ไม่สามารถรับประทานอาหารและน้ำได้ อาเจียนมาก ซึม หรือมีอาการหอบเหนื่อย ชักเกร็ง กระตุก เดินเซ แขนขาอ่อนแรง ต้องรีบมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที

วัคซีนมือเท้าปาก ป้องกันเฉพาะ EV71 สายพันธุ์รุนแรง

ในประเทศไทย ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันมือเท้าปาก หรือ Enterovirus Type71 Vaccine หรือเรียกสั้นๆ ว่า EntroVac  ให้บริการ  เป็นวัคซีนเชื้อตาย จากการศึกษาพบว่า หลังฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม สามารถป้องกันการติดเชื้อมือเท้าปากจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ได้ 97% และสามารถป้องกันความรุนแรงเมื่อติดเชื้อ EV71 ได้ 100%  แต่วัคซีนชนิดนี้ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อมือเท้าปากสายพันธุ์อื่นๆ ได้

วัคซีนมือเท้าปาก เหมาะกับใคร? ฉีดอย่างไร?

การรับวัคซีนมือเท้าปาก ( Enterovirus Type71 Vaccine) ต้องได้รับทั้งหมด 2 โดส โดยห่างกัน 1 เดือน แนะนำสำหรับน้องอายุ 6 เดือนถึง 5 ปี 11 เดือน 29 วัน จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า หากรับครบ 2 โดส ยังมีภูมิกว่า 90% เมื่อผ่านไป 2 ปี จึงยังไม่มีคำแนะนำว่าต้องฉีดเข็มกระตุ้น โดยสามารถรับพร้อมวัคซีนพื้นฐานได้ ไม่จำเป็นต้องทิ้งระยะห่างจากวัคซีนอื่นๆ  เนื่องจากเป็นวัคซีนเชื้อตาย

สรุป วัคซีนมือเท้าปาก

อายุ 6 ปีขึ้นไป ฉีดวัคซีนมือเท้าปากได้หรือไม่?

จากการศึกษาในกลุ่มอายุ 6 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่พบว่าเคยติดเชื้อแล้ว จึงไม่มีคำแนะนำว่าต้องฉีด รวมถึงผู้ใหญ่ เนื่องจากการติดเชื้อไวรัส EV71 ส่วนมากพบในเด็กเล็ก

ลูกน้อยเคยป่วยมือเท้าปากแล้ว จำเป็นต้องฉีดวัคซีนไหม?

หากเคยป่วยด้วยโรคมือเท้าปากแล้ว และไม่มีการยืนยันว่าป่วยมือเท้าปากจากสายพันธุ์ EV71 ควรรับวัคซีนมือเท้าปาก ( Enterovirus Type71 Vaccine) เพราะมีโอกาสที่จะติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ได้ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้

ผลข้างเคียงวัคซีนมือเท้าปาก

จากการศึกษาไม่ได้มีผลข้างเคียงรุนแรง อาจมีไข้เหมือนวัคซีนทั่วไป ปวดบวมแดงร้อนบริเวณที่ฉีดได้  ค่อนข้างปลอดภัย เพราะเป็นวัคซีนเชื้อตาย แต่ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีนทุกครั้ง

ป้องกันโรคมือเท้าปาก

ในสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบัน ควรดูแลสุขภาพลูกน้อยอย่างไร

นอกจากโรคมือเท้าปาก ยังมีโรคอื่นที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังเพราะระบาดในช่วงนี้ อาทิ โรคไข้หวัดใหญ่ การติดเชื้อไวรัส RSV โรคโควิด-19 และไข้เลือดออก เบื้องต้นการสวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ด้วยแอลกอฮอลล์เจล รักษาระยะห่าง ก็จะสามารถป้องกันการติดเชื้อโรคทางเดินหายใจต่างๆ ได้  แต่สำหรับโรคมือเท้าปากนั้น ควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ เนื่องจากการล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอสำหรับโรคมือเท้าปาก นอกจากนี้ยังควรดูแลสุขอนามัยของลูกน้อยในทุกๆ ด้าน การทำความสะอาดที่อยู่อาศัย หรือพื้นที่ส่วนรวมที่มีการสัมผัสบ่อยครั้ง หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น ไม่พาเด็กไปในสถานที่ชุมชนแออัด ก็จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อหรือเจ็บป่วยได้

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
พญ. กฤติญา ชัยโชติจินดา
KRITTIYA CHAICHOTJINDA, M.D.
GENERAL PEDIATRICIAN AND PEDIATRIC INFECTIOUS DISEASE Thainakarin Hospital.
ข้อมูลแพทย์