การไปเรียนต่อต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นระดับมัธยมศึกษาหรืออุดมศึกษา ถือเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาทักษะภาษาและเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ รวมทั้งเพิ่มประสบการณ์ชีวิตและมุมมองโลกที่กว้างขึ้น ช่วยสร้างเครือข่ายเพื่อนในต่างแดน เปิดประตูสู่โอกาสทางอาชีพที่หลากหลาย และยังทำให้คุณมีความพร้อมและโดดเด่นในตลาดแรงงาน
แม้การไปศึกษาต่อต่างประเทศจะเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น แต่ก็อาจมาพร้อมกับความท้าทายด้านสุขภาพที่ไม่คาดคิด เพื่อให้การเดินทางและใช้ชีวิตในต่างประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น การเตรียมตัวด้านสุขภาพก่อนเดินทางจึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่เพียงแค่เรื่องฉีดวัคซีนตามข้อบังคับ แต่ยังรวมถึงการจัดการปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น ตรวจสุขภาพทั่วไป เตรียมยาที่จำเป็น ดูแลสุขภาพจิต และทำประกันสุขภาพที่เหมาะสม เพื่อให้คุณมั่นใจและพร้อมสำหรับการเดินทางใหม่ในต่างแดน
1. ตรวจสุขภาพ ก่อนเดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศ
- ตรวจสุขภาพทั่วไป
ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพทั่วไปกับแพทย์ เพื่อประเมินสภาพร่างกายและตรวจสอบว่ามีโรคหรือภาวะที่ต้องรักษาก่อนเดินทางหรือไม่ นอกจากนี้ หลายประเทศหรือสถานศึกษามีข้อกำหนดในการตรวจสุขภาพที่จำเพาะสำหรับนักเรียนจากต่างประเทศ เช่น มักมีข้อกำหนดให้นักเรียนต่างชาติตรวจคัดกรองการติดเชื้อวัณโรค (Tuberculosis) ด้วยวิธีการทดสอบบนผิวหนัง (Tuberculin skin test) หรือเจาะเลือด (IGRA/QuantiFERON®-TB Test) ก่อนลงทะเบียนเรียน เป็นต้น ผู้ที่จะไปเรียนต่างประเทศจึงควรศึกษาข้อกำหนดของประเทศจุดหมายปลายทางและสถานศึกษาให้ละเอียด รวมทั้งนำเอกสารข้อกำหนดหรือแบบฟอร์มของทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรวบรวมประวัติสุขภาพและสมุดวัคซีนในอดีต และมาปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณาว่าจำเป็นต้องมีการตรวจพิเศษเพิ่มเติมหรือไม่ - ฉีดวัคซีน
ฉีดวัคซีนเป็นขั้นตอนสำคัญในการป้องกันโรคติดต่อที่อาจพบเจอในต่างประเทศ ผู้ที่จะเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศควรตรวจสอบว่าประเทศหรือสถานศึกษาที่คุณจะเดินทางไปมีข้อกำหนดเรื่องวัคซีนอย่างไร เช่น บางประเทศในแถบแอฟริกาหรืออเมริกาใต้อาจมีข้อกำหนดให้ฉีดวัคซีนไข้เหลืองก่อนเข้าประเทศ หรือบางสถานศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาอาจกำหนดให้นักเรียนที่จะเข้ามาพักอาศัยในหอพักของมหาวิทยาลัยต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น เป็นต้น นอกจากนี้ แพทย์อาจพิจารณาแนะนำวัคซีนอื่นๆ ตามความเหมาะสม เพื่อกระตุ้นหรือเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคต่างๆ ที่มีโอกาสสัมผัสขณะไปเรียนต่อที่ต่างแดน - ตรวจสุขภาพช่องปาก
หากเกิดปัญหาสุขภาพช่องปากขึ้นระหว่างอยู่ต่างประเทศ การหาทันตแพทย์ที่มีคุณภาพอาจเป็นเรื่องยากและมีค่าใช้จ่ายสูง การตรวจสุขภาพช่องปากก่อนเดินทางจะช่วยให้คุณทราบถึงปัญหาสุขภาพช่องปากที่อาจมีอยู่ และสามารถแก้ไขได้ก่อนเดินทาง เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเหล่านี้รุนแรงขึ้นขณะอยู่ต่างประเทศ โดยแนะนำให้แจ้งแก่ทันตแพทย์ที่ทำการตรวจว่ากำลังจะเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพื่อวางแผนการตรวจรักษาที่เหมาะสม
2. เตรียมยาและอุปกรณ์การแพทย์
- จัดยาประจำตัว
หากคุณมีโรคประจำตัวหรือจำเป็นต้องใช้ยารักษาโรค ควรศึกษาข้อกำหนดในการนำยาเข้าไปในประเทศเพื่อการใช้ส่วนตัว (Personal use) ของประเทศจุดหมายปลายทาง และจัดเตรียมยาให้เพียงพอ รวมทั้งควรพกใบสรุปประวัติสุขภาพและใบสั่งยาจากแพทย์ที่ประเทศไทยติดตัวไปด้วย - จัดเตรียมอุปกรณ์การแพทย์ ชุดปฐมพยาบาล และยาสามัญประจำบ้าน
เช่น เทอร์โมมิเตอร์ ชุดทำแผลเล็ก ยาลดไข้ ยาแก้ไอ หรือยาปฏิชีวนะเบื้องต้น ควรเตรียมไว้ในกระเป๋าเดินทางบางส่วน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน
3. ดูแลสุขภาพจิต
เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ อาจทำให้เกิดความเครียดหรือวิตกกังวล ควรคาดการณ์ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เช่น การปรับตัวกับวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นเคย ความเครียดจากการเรียน หรืออาการคิดถึงบ้าน และหาวิธีในการเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาเหล่านั้น หากมีความกังวลสามารถปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติมได้
4. เลือกซื้อประกันสุขภาพที่เหมาะสม
เลือกซื้อประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลในต่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญ ควรตรวจสอบว่าประกันสุขภาพครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และการรักษาฉุกเฉิน ในวงเงินที่เหมาะสมหรือไม่ นอกจากนี้ ควรศึกษาข้อมูลสถานบริการสุขภาพที่สามารถใช้ประกันสุขภาพได้ใกล้ที่พักและสถานศึกษา เพื่อเตรียมพร้อมในกรณีฉุกเฉินที่อาจต้องติดต่อขอความช่วยเหลือ
การเตรียมตัวด้านสุขภาพก่อนเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศเป็นขั้นตอนที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อให้คุณมั่นใจและพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตในต่างแดน หากท่านหรือคนใกล้ชิดมีแผนการเดินทางไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ อย่าลืมมาปรึกษาแพทย์เวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว เพื่อรับคำแนะนำด้านสุขภาพก่อนการเดินทาง ให้การเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศราบรื่นและปลอดภัยจากปัญหาสุขภาพที่อาจมารบกวนประสบการณ์ที่ควรได้รับจากการเดินทางของคุณ
บทความโดย
นพ.ภณสุต หรรษาจารุพันธ์
แพทย์เวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว
Thainakarin Hospital