ภูมิแพ้ในเด็ก อาการแพ้ที่คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกต หากลูกน้อยสัมผัสหรือถูกกระตุ้นโดยสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ ที่พบได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น ไรฝุ่น สัตว์เลี้ยง เกสรดอกไม้ หญ้า อาหาร ฯลฯ แล้วมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นภายในร่างกาย เช่น จาม น้ำมูกไหล คันจมูก แน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ หายใจเสียงวี๊ด ผิวแห้ง คันตามตัว ผื่นแดง หน้าบวม ปากบวม คันตา ฯลฯ แนะนำให้รีบพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง และรับการรักษาอย่างทันท่วงที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จนเรื้อรัง อาจเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้
รู้จักโรคภูมิแพ้ในเด็ก
‘ภูมิแพ้’ คือโรคที่มีภาวะภูมิไวเกิน (Hypersensitivity) ทำให้ร่างกายเกิดมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ที่พบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น ไรฝุ่น สัตว์เลี้ยง เกสรดอกไม้ หญ้า อาหาร ฯลฯ ซึ่งคนปกติที่ไม่เป็นโรคภูมิแพ้จะไม่ตอบสนองกับสิ่งเหล่านี้ โดยสิ่งกระตุ้นนี้เรียกว่าสารก่อภูมิแพ้ (Allergen)
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ในเด็ก
- ปัจจัยทางพันธุกรรม เช่น พ่อหรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้
- ปัจจัยสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ระหว่างคลอด หลังคลอด
- การสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ และสัมผัสสารก่อการระคายเคือง เช่น บุหรี่ มลภาวะ PM2.5 ปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อโอกาสเกิดโรคภูมิแพ้ได้
อาการของโรคภูมิแพ้ในเด็ก
อาการของโรคภูมิแพ้ สามารถเกิดขึ้นได้กับหลายระบบในร่างกาย อาจเกิดเป็นระบบเดียวหรือหลายระบบพร้อมกันก็ได้ มักจะเป็นเรื้อรัง และรบกวนชีวิตประจำวัน หรืออาจเป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น
- ภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ทำให้เกิดโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ มีอาการจาม น้ำมูกไหล คัดจมูก คันจมูก และเกิดโรคหืด มีอาการแน่นหน้าอก ไอกลางคืน เหนื่อยหอบ หายใจเสียงวี๊ด
- ภูมิแพ้ผิวหนัง มีผิวแห้ง คัน ผื่นแดงเรื้อรังตามผิวหนังข้อพับแขนชา
- ภูมิแพ้อาหาร ทำให้เกิดผื่นคันตามตัว ผื่นลมพิษ หน้าบวม ปากบวม อาเจียน ถ่ายผิดปกติ แน่นหน้าอก หายใจเหนื่อยหอบ ความดันโลหิตต่ำ หรือเป็นลมหมดสติ
- ภูมิแพ้ตา มีอาการคันตา ตาแดง
โรคภูมิแพ้ในเด็ก VS ผู้ใหญ่ ต่างกันอย่างไร
โรคภูมิแพ้ เกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มีอาการคล้ายกัน แต่ความรุนแรงและอุบัติการณ์ของโรคจะแตกต่างกัน เช่น
- ในเด็กเล็ก มักจะพบภูมิแพ้ผิวหนังมากกว่าเด็กโตและผู้ใหญ่ นอกจากนี้ตำแหน่งรอยโรคจะแตกต่างกัน
- ในเด็กโตและผู้ใหญ่ จะพบภูมิแพ้ทางเดินหายใจมากกว่า
- ส่วนโรคภูมิแพ้อาหาร ก็จะมีความแตกต่างกันของชนิดอาหารที่แพ้ในเด็กและผู้ใหญ่ เช่น เด็กเล็กจะแพ้นมวัว, ไข่ มากกว่า แต่ผู้ใหญ่จะแพ้อาหารทะเลมากกว่า
โรคภูมิแพ้ในเด็กที่พบบ่อย
ภูมิแพ้ในเด็กที่พบบ่อย สามารถแบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้
- ช่วงขวบปีแรก ภูมิแพ้ที่พบบ่อย ได้แก่ แพ้อาหาร เช่น แพ้นมวัว ไข่ แป้งสาลี ถั่วเหลือง และภูมิแพ้ผิวหนัง
- ช่วงอายุ 2 ปีขึ้นไป มักพบภูมิแพ้ทางเดินหายใจ เช่น โรคหืด และภูมิแพ้จมูก หรือแพ้อากาศ
- ทุกช่วงอายุ ภูมิแพ้ที่สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ เช่น แพ้ยา ลมพิษ แพ้แมลงกัดต่อย เช่น ต่อ แตน มดคันไฟ ฯลฯ
ทดสอบโรคภูมิแพ้ เพื่อให้รู้ว่าลูกแพ้อะไร?
การทดสอบเพื่อหาสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นต้นเหตุ เพื่อให้สามารถเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ได้อย่างถูกต้อง โดยการทดสอบสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่
- ทดสอบที่ผิวหนัง โดยการหยดน้ำยาทดสอบและสะกิดผ่านผิวหนัง
- ทดสอบโดยการเจาะเลือด เพื่อตรวจหาแอนติบอดีชนิด E ที่จำเพาะกับสารก่อภูมิแพ้ที่สงสัย
- ทดสอบการแพ้อาหารโดยการกิน เป็นการทดสอบในคนที่มีประวัติแพ้อาหาร เพื่อยืนยันการคงอยู่หรือหายจากโรคแพ้อาหาร
โรคภูมิแพ้ รักษาด้วยวิธีไหนได้บ้าง
- ปัจจัยสำคัญคือการเลี่ยงและกำจัดสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นต้นเหตุ หากทราบว่าสารก่อภูมิแพ้ใดเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการแพ้
- การใช้ยารักษา เช่น การรับประทานยาแก้แพ้ หรือยาชนิดต่างๆ, การใช้ยาสูด พ่น หรือทาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบ
- การรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นการนำสิ่งที่ผู้ป่วยแพ้เข้าไปในร่างกายทีละนิด เพื่อให้ภูมิคุ้มกันร่างกายเริ่มปรับให้คุ้นเคยกับสิ่งที่แพ้ (Immune Tolerance) ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งวิธีการฉีด การอมใต้ลิ้น และการกิน
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นโรคภูมิแพ้ หรือไม่?
เมื่อสังเกตว่าลูกน้อย มีอาการน้ำมูกเรื้อรัง ไอเรื้อรัง หายใจผิดปกติ นอนกรน หรือผื่นเรื้อรัง แนะนำให้มาพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค และประเมินความรุนแรง เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสม