ข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง อุบัติเหตุในชีวิตประจำวันที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็น ลื่นล้ม ตกบันได ก้าวพลาด ตกส้นสูง อุบัติเหตุจากเล่นกีฬา หรืออุบัติเหตุจากออกกำลังกาย หากมีอาการปวดแล้วต้องรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ถูกต้องและพบแพทย์อย่างทันท่วงที เพราะหากปล่อยไว้ไม่รักษา อาจเสี่ยงเกิดเอ็นข้อเท้าหลวมเรื้อรังได้
ข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง เกิดกับใครได้บ้าง?
เกิดขึ้นได้ในคน 2 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรก คือ คนทั่วไปที่เกิดอุบัติเหตุในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ลื่นล้มในพื้นต่างระดับ ทางเท้าไม่เรียบ พื้นที่สูงชัน ขั้นบันได ฯลฯ ส่วนกลุ่มที่สอง คือ นักกีฬาที่เล่นกีฬาประเภทที่มีความเสี่ยงต่อการล้มบาดเจ็บสูง เช่น บาสเกตบอล ฟุตบอล วอลเลย์บอล เซปักตะกร้อ เป็นต้น
อาการอย่างไรที่เรียกว่า ข้อเท้าพลิก
- ข้อเท้าบวม ช้ำ
- ปวดบริเวณรอบๆ ข้อเท้า โดยเฉพาะด้านข้างข้อเท้า
- เดินกะเผลก หรือลงน้ำหนักเท้าข้างนั้นๆ ไม่ได้
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่แพทย์แนะนำ
- ประคบเย็น ความเย็นจะทำให้หลอดเลือดรอบๆ ข้อเท้าหดตัว ทำให้อาการบวมที่เกิดขึ้นนั้นลดลง
- พันผ้ายืด Elastic Bandage หรือใช้ Ankle Support รอบข้อเท้า อุปกรณ์ทั้ง 2 ชนิดจะทำให้อาการบวมของเนื้อเยื่อรอบๆข้อเท้าลดลง อาการอักเสบเฉียบพลันที่เกิดจะน้อยลงได้
- ยกปลายเท้าสูง ถ้าเป็นไปได้ควรยกขาสูงเหนือกว่าระดับหัวใจเวลานอน เหนือกว่าระดับสะโพกเวลานั่ง การบวมก็จะลดลงเช่นเดียวกัน
- ประเมินอาการตนเอง หลักๆ คือดู “การเดินลงน้ำหนักปกติ”
ถ้าเดินลงน้ำหนักได้มีเพียงแค่จุดกดเจ็บด้านข้างข้อเท้า น่าจะเป็นเพียงเส้นเอ็นด้านข้างข้อเท้าบาดเจ็บชนิดไม่รุนแรง แนะนำให้ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นตามข้อ 1-3 อาการมักจะดีขึ้นภายในสัปดาห์แรก ถ้าหลังจากสัปดาห์แรกแล้วยังไม่ดีขึ้นให้มาพบแพทย์
ถ้าเดินกะเผลกหรือเดินลงน้ำหนักไม่ได้เลย
อาจเป็นเส้นเอ็นด้านข้างบาดเจ็บปานกลางหรือรุนแรง
แนะนำให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วมาพบแพทย์
เพื่อตรวจร่างกาย เอ็กซเรย์
และให้การรักษาต่อไป
อาการหนักแค่ไหนที่ควรรีบมาพบแพทย์
ย้ำกันอีกครั้งครับ อาการเหล่านี้ผู้ป่วยควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อตรวจประเมินดูว่าจริงๆ แล้วเกิดจากเส้นเอ็นด้านข้างข้อเท้าบาดเจ็บโดยทั่วไปหรือเกิดจากสาเหตุอื่นที่ซ่อนอยู่กันแน่
- ยืนลงน้ำหนักไม่ได้ ยืนลงน้ำหนักแล้วเจ็บ
- เดินไม่ไหว เดินกะเผลก
- ข้อเท้าผิดรูปหลังล้ม
โดยปกติแล้วการล้มทั่ว ๆไป เส้นเอ็น 2 เส้นด้านข้างข้อเท้ามักจะได้รับบาดเจ็บ แต่ในกรณีที่ล้มด้วยความรุนแรงมีโอกาสที่กระดูกข้อเท้าหรือกระดูกฝ่าเท้าหักได้ ดังนั้นจึงควรมาพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงครับ
การรักษาสามารถแบ่งได้เป็น 2 ระยะ
- ระยะแรก คือ 1 สัปดาห์แรกหลังอุบัติเหตุ การอักเสบของเนื้อเยื่อรอบๆข้อเท้าและเส้นเอ็นจะค่อนข้างมาก จึงต้องประคบเย็น ยกปลายเท้าสูง และประคองด้วยเฝือกอ่อน (กรณีบาดเจ็บปานกลางหรือรุนแรง) หรือ Ankle Support (กรณีบาดเจ็บไม่รุนแรง) เพื่อให้เนื้อเยื่อที่บวมอักเสบลดลง รับประทานยาลดการอักเสบกลุ่ม NSAID (ถ้าไม่มีข้อห้าม) ในระยะสั้น 3-7 วัน เช่น Diclofenac, Naproxen, Celecoxib
- ระยะหลัง คือ หลังจากอุบัติเหตุ 1 สัปดาห์ จะเข้าสู่ระยะสมานและฟื้นฟูเส้นเอ็นด้านข้างข้อเท้า
ปัจจุบันเราเปลี่ยนแนวทางการรักษาจากการประคองด้วยเฝือกเป็นระยะเวลานาน (Prolonged Immobilization) กลายเป็นการรักษาที่เรียกว่า ‘Functional Treatment’ ซึ่งเป็นวิธีกระตุ้นให้เส้นเอ็นที่บาดเจ็บสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น หายเจ็บไวขึ้น กลับสู่กระบวนการใช้งานตามปกติได้เร็ว ประกอบด้วยสิ่งสำคัญ 3 อย่างด้วยกัน
- ใช้ Ankle Brace (Air Stirrup) มีลักษณะเป็นแผ่นพลาสติกดามข้อเท้าคอยประคองเส้นเอ็นด้านข้าง 2 ฝั่ง ป้องกันไม่ให้เส้นเอ็นที่กำลังสมานใหม่บาดเจ็บซ้ำซ้อน โดยคนไข้ยังเดินลงน้ำหนักและกระดกข้อเท้าขึ้นลงได้ขณะที่ใช้ Ankle Brace ซึ่งจะเอื้อต่อการสมานของเส้นเอ็นนั้นๆ
- ทำ Ankle Balance Exercises เพื่อสมดุลของข้อเท้าดีขึ้น ทำให้ร่างกายเรียนรู้การรักษาสมดุลเพื่อป้องกันการล้มพลิกซ้ำ ตามทฤษฎีจะให้คนไข้ยืนรักษาสมดุลบน trampoline หรือ wobble board (กระดานฝึกการทรงตัว) แต่สามารถทำด้วยตนเองโดยใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ที่บ้านได้ คือ เหยียบขึ้นลงบนเบาะนุ่มๆ หรือเตียงนุ่มๆ เซตละ 10-15 นาที 2-3 เซตต่อวัน ถ้าไม่สะดวกหรือไม่แน่ใจ แนะนำให้มาปรึกษาทีมกายภาพบำบัดสักครั้งนึงก่อนได้ ซึ่งจะมีทั้งนักกายภาพบำบัดและคุณหมอเฉพาะทางด้านกายภาพบำบัดคอยดูแลให้ข้อเท้ากลับมาได้ดีขึ้น
- การทำกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อเท้าให้แข็งแรง ด้วยวิธีการที่เรียกว่า Peroneal Muscle Strengthening Exercise ปกติแล้วเส้นเอ็นที่บาดเจ็บ เราไม่สามารถซ้อม Exercise เอ็นให้กลับมาแข็งแรงได้โดยตรงแต่เราสามารถซ้อมกล้ามเนื้อด้านข้างข้อเท้าให้เป็นตัวช่วยประคองเส้นเอ็นที่บาดเจ็บอยู่ให้สมานดีขึ้นได้โดยใช้ Rubber Band หรือ Thera Band ซ้อมในท่าเฉพาะ เซตละ 10 ครั้ง 4 เซตต่อวัน
รักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง ผ่าตัดแผลเล็ก เจ็บน้อย หายเร็ว
การรักษาส่วนใหญ่กว่า 90% ของคนไข้ที่ปฎิบัติตามคำแนะนำข้างต้นมักจะหายดีโดยไม่ต้องผ่าตัด แต่ก็มีอีกประมาณ 10% ของคนไข้ที่เกิดเส้นเอ็นข้อเท้าหลวมเรื้อรัง หรือมีการล้มซ้ำ ๆ จึงจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โดยการผ่าตัดนั้นจะเป็นการเย็บซ่อมเอ็นข้อเท้าให้กลับมาแน่นและสมานดีเหมือนเดิม ปัจจุบันมีทั้งวิธีการผ่าตัดส่องกล้องหรือผ่าตัดแผลเล็ก อาการเจ็บจะน้อย เนื้อเยื่อรอบๆจะสมานไว ลดโอกาสเกิดการติดเชื้อของแผลผ่าตัด
ปัจจุบันเทคนิคการระงับปวดระหว่างผ่าตัดโดยวิสัญญีแพทย์ได้รับการพัฒนาขึ้นมาก ทำให้การผ่าตัดเส้นเอ็นด้านข้างข้อเท้าที่โรงพยาบาลไทยนครินทร์ คนไข้สามารถเลือกทำเป็นแบบ One Day Surgery ได้ โดยไม่ต้อง Block หลัง ไม่ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในโรงพยาบาล ประหยัดค่าใช้จ่ายแต่ยังคงคุณภาพของการรักษาด้วยเทคนิคผ่าตัดแผลเล็กดังกล่าว
วิธีป้องกัน ควรระวังอย่างไรบ้าง
- อุบัติเหตุในชีวิตประจำวัน : ควรระมัดระวังและหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บ เช่น การเดินบนทางพื้นไม่เรียบ การเดินบนพื้นลื่น
- อุบัติเหตุจากกีฬา : หากจำเป็นต้องเล่นกีฬาที่มีโอกาสเสี่ยง เช่น บาสเกตบอล ฟุตบอล วอลเลย์บอล ควรเสริมกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อเท้าให้แข็งแรง หรือเลือกใช้รองเท้าที่เหมาะสมกับประเภทกีฬา
- รูปทรงเท้าและรองเท้า : รูปทรงเท้าของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ได้แก่ เท้าแบน เท้าอุ้งสูง ทรงเท้าปกติ กลุ่มคนที่มีรูปทรงเท้าอุ้งสูงมีโอกาสเสี่ยงเกิดข้อเท้าแพลงมากที่สุด ควรเลือกรองเท้าแผ่นรองเท้าที่เหมาะสมกับเท้าชนิดนั้นๆ