Shopping Cart

No products in the cart.

วิธีตรวจมะเร็งเต้านม ทำได้กี่วิธี?

ทุกวันนี้การ ตรวจมะเร็งเต้านม ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของการตรวจสุขภาพของคนยุคใหม่ เนื่องจากสถานการณ์ความเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมของผู้หญิงไทยในปัจจุบันมีความน่ากังวลเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2565 พบว่า มะเร็งเต้านมของผู้หญิงไทยมีตัวเลขที่เพิ่มมากขึ้น จำนวน 38,559 ราย โดยพบในวัย 60 ปีขึ้นไปมากที่สุด รองลงมาคือช่วงอายุ 50 – 59 ปี โดยมะเร็งเต้านมส่วนมากจะพบในระยะที่ก้อนมะเร็งมีการอักเสบ และลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง เนื่องจากในระยะแรกของมะเร็งเต้านมจะไม่มีอาการ จึงเป็นเหตุผลที่ว่า การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นประจำ เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการสูญเสียจากมะเร็งเต้านม เพราะยิ่งตรวจพบไวยิ่งเพิ่มโอกาสรักษาให้หาย โดยสามารถศึกษาว่า มะเร็งเต้านมมีกี่ระยะ และสังเกต อาการมะเร็งเต้านม เบื้องต้นได้ก่อนปรึกษาแพทย์

ตรวจมะเร็งเต้านม ใครเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ควรตรวจ?

  • มีครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งอื่นๆ
  • อายุ 40 ปีขึ้นไป
  • มีประวัติตรวจแล้วพบยีนผิดปกติ โดยเฉพาะยีน BRCA1 และ BRCA2
  • คลำพบก้อนเนื้อ มีของเหลวไหล

วิธีตรวจมะเร็งเต้านม มีกี่วิธี?

วิธีตรวจมะเร็งเต้านม ด้วยตนเองเป็นการสร้างความคุ้นเคยต่อสรีระเต้านมตนเอง ทำให้ตระหนักถึงสุขภาพของเต้านม ประโยชน์จากการตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ เป็นการเพิ่มโอกาสในการตรวจพบโรคมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกได้มากกว่า และมีแนวโน้มในการลดอัตราการตายจากโรคมะเร็งเต้านมได้มากกว่า มีการแนะนำให้ผู้หญิงทุกคนที่อายุตั้งแต่ 25 ปี ตรวจเต้านมด้วยเองอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง หลังเป็นประจำเดือนประมาณ 1 สัปดาห์ ถ้าพบความผิดปกติแนะนำให้มาพบแพทย์

วิธีตรวจมะเร็งเต้านม ที่แพทย์ศูนย์โรคเต้านมแนะนำในปัจจุบัน จะมี 4 วิธี ดังนี้

1. การตรวจเต้านมด้วยตนเอง

การตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองสามารถทำได้ แต่ต้องมีการทำเป็นประจำเพื่อเป็นการฝึกทักษะ โดยมีวิธีการตรวจเต้านมด้วยตัวเองดังนี้

  1. ยืนหน้ากระจก ท่ามือข้างลำตัวและยกแขน 2 ข้าง เพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงของขนาด รูปร่างสีผิว ตำแหน่งของหัวนมและเต้านม
  2. นอนราบในท่าสบาย ใช้มือคลำเต้านมทั่วทั้งเต้านม ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้
  3. ขณะยืนอาบน้ำ ใช้มือคลำให้ทั่วทั้งเต้านม รักแร้ ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ และคอ อีกทั้งบีบหัวนมว่ามีของเหลวหรือไม่หากพบความผิดปกติ รู้สึกคลำแล้วต่างจากเดิม ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจยืนยันอีกครั้ง

วิธีตรวจมะเร็งเต้านม ด้วยตนเอง

วิธีตรวจมะเร็งเต้านม 3 ท่าคลำเต้านม

2. วิธีตรวจมะเร็งเต้านมด้วยการคลำด้วยมือ โดยแพทย์เฉพาะทางศูนย์โรคเต้านม

เมื่อสังเกตอาการ ตรวจคลำด้วยตัวเองแล้วรู้สึกผิดปกติ หรือมีความเสี่ยงด้วยประวัติครอบครัว แต่คลำด้วยตัวเองเท่าไรก็ไม่เจอ แนะนำพบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมโดยจะมีการตรวจทั้งในท่านั่งและท่านอน รวมถึงต่อมน้ำเหลือง ด้วยความชำนาญของแพทย์เฉพาะทางโรคเต้านมจะแม่นยำกว่าการคลำด้วยตัวเอง

วิธีตรวจมะเร็งเต้านม โดยแพทย์เฉพาะทาง

3. การตรวจด้วยแมมโมแกรม (Mammogram)

วิธีตรวจมะเร็งเต้านมด้วยการทำแมมโมแกรม เป็นการถ่ายภาพรังสีโดยปริมาณรังสีที่ใช้นั้นใกล้เคียงกับการเอกซเรย์ปอดทั่วไป มีความปลอดภัย สามารถให้รายละเอียดภาพรวมของเต้านมทั้งหมด สามารถวินิจฉัย รอยโรคที่เป็นหินปูนขนาดเล็กที่อยู่ใกล้หรือซ้อนทับกัน สามารถตรวจพบรอยโรคของมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม

ในขณะที่ในผู้หญิงอายุน้อยที่มีความหนาแน่นของเต้านมสูง (Extremely Dense Breast) การตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมอาจไม่สามารถให้รายละเอียดได้ดีนัก ในทางปฏิบัติจึงอาจใช้เพียงอัลตราซาวนด์เต้านมก็เพียงพอ ซึ่งการตรวจแมมโมแกรมมีทั้งแบบ 2 มิติ(2D Mammogram)  และ 3 มิติ (3D Mammogram) ที่มีความละเอียดสูง และจะมีผลบวกลวง(False Positive) น้อยกว่าแบบ 2 มิติ โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีความหนาแน่นของเต้านมมาก อายุน้อยกกว่า 50 ปี และวัยก่อนหมดประจำเดือน  และการตรวจด้วยดิจิตอลแมมโมแกรมแบบ 3 มิติ พบว่าลดโอกาสการพบมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายได้ดีกว่าแบบ 2 มิติในผู้หญิงที่มีความหนาแน่นของเต้านมมากร่วมกับมีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งเต้านม

วิธีตรวจมะเร็งเต้านม ด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม

4. อัลตราซาวนด์เต้านม

นอกจากการทำแมมโมแกรมแล้ว การอัลตราซาวนด์เต้านม เป็นอีกการตรวจที่ช่วยเพิ่มความแม่นยำให้กับการตรวจเต้านม โดยเป็นการใช้คลื่นความถี่สูง และเกิดภาพที่สามารถช่วยในการวิเคราะห์ลักษณะของเต้านมว่า ก้อนที่มีเป็นถุงน้ำหรือก้อนเนื้อ ทำให้ผลตรวจชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะกับผู้หญิงอายุน้อยที่มีความหนาแน่นของเต้านมมาก แต่ก็ไม่ใช่การตรวจที่สามารถบอกความผิดปกติได้ทั้งหมด แพทย์เฉพาะทางโรคเต้านมจึงมากให้ตรวจร่วมกันกับการทำแมมโมแกรม นอกจากนี้ยังมีการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ในกรณีที่มีอาการ มีความเสี่ยง หรือเต้านมมีความหนาแน่นมาก แต่ทั้งนี้จะเป็นการพิจารณาร่วมกันระหว่างแพทย์เฉพาะทางโรคเต้านมและผู้รับบริการ

อายุไม่มาก ไม่ต้องตรวจเต้านม?

แม้สถิติจะระบุว่า มะเร็งเต้านมพบมากในกลุ่มหญิงวัย 60 ปีขึ้นไป แต่ใช่ว่าอายุน้อยจะไม่ต้องตรวจ เพราะการที่ตรวจพบมะเร็งเต้านมในช่วง 40 – 60 ปี คือ มีอาการแล้วจึงไปตรวจ ทำให้พบมะเร็งเต้านมในระยะที่ร้ายแรง แต่ถ้าตรวจเป็นประจำสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจด้วยตัวเอง ตรวจโดยแพทย์ หรือการตรวจแมมโมแกรม ร่วมกับอัลตราซาวนด์ จะช่วยลดความเสี่ยงในการพบมะเร็งเต้านมในระยะที่เป็นอันตราย เพราะตรวจพบเร็ว การรักษามะเร็งเต้านมก็ยิ่งมีผลลัพธ์การรักษาที่ดี

ศูนย์โรคเต้านม โรงพยาบาลไทยนครินทร์พร้อมดูแลด้วยทีมสหสาขาวิชาชีพ

สอบถามข้อมูลโรคเต้านมได้ที่

Line Official Account

เพิ่มเพื่อน

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ที่

คุณรู้จัก ‘มะเร็งเต้านม’ ดีแค่ไหน?

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
พญ.พุทธิพร  เนาวะเศษ
DR.PUTTIPORN NAOWASET
Surgery, Surgical Oncology Thainakarin Hospital.
ข้อมูลแพทย์