Shopping Cart

No products in the cart.

ทำความรู้จัก ศูนย์โรคเต้านม (Breast Care Center)

โรคเต้านมและอาการผิดปกติต่างๆ ของเต้านมสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกวัย โดยเฉพาะBreast cancer คือมะเร็งที่พบอันดับหนึ่งของผู้หญิงทั่วโลก เพราะผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยง จึงถือว่าเป็นภัยเงียบของผู้หญิง ศูนย์โรคเต้านม โรงพยาบาลไทยนครินทร์จึงได้รวบรวมทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านโรคเต้านมโดยเฉพาะ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการตรวจวินิจฉัยให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ด้วยเครื่องมือที่ให้ผลอย่างแม่นยำ เพื่อช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น

ศูนย์โรคเต้านม โรงพยาบาลไทยนครินทร์พร้อมดูแลด้วยทีมสหสาขาวิชาชีพ

การรักษามะเร็งเต้านมมีหลายขั้นตอนและหลายวิธี การวางแผนการรักษาเฉพาะบุคคลที่ศูนย์โรคเต้านมของเราเน้นย้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด ดังนั้นทางโรงพยาบาลไทยนครินทร์จึงมีทีมสหสาขาวิชาชีพ (Multidisciplinary Team) ที่มีความเชี่ยวชาญ เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ที่ร่วมกันดูแลผู้ป่วย ดังนี้

  1. แพทย์รังสีวินิจฉัย (Radiologist and Interventional Radiologist)
  2. ศัลยแพทย์เชี่ยวชาญผ่าตัดเต้านม(Breast Surgeon)
  3. ศัลยแพทย์มะเร็งวิทยา (Surgical Oncologist)
  4. วิสัญญีแพทย์ (Anesthesiologist)
  5. แพทย์เวชพันธุศาสตร์และเวชศาสตร์โมเลกุล (Medical Genetic and Biomolecular
    Medicine)
  6. อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา (Medical Oncologist)
  7. แพทย์รังสีรักษา (Radiotherapist)
  8. พยาธิแพทย์ (Pathologist)
  9. แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู (Physical Medicine & Rehabilitation) (PM&R)
  10. จิตแพทย์ (Psychiatrist)
  11. เภสัชกร (Pharmacist)
  12. พยาบาลชำนาญการด้านโรคมะเร็ง (Oncology Nurse)
  13. โภชนาการ (Nutritionist)

ทั้งนี้ ศูนย์โรคเต้านมมีบริการด้านโรคมะเร็งตั้งแต่การเริ่มตรวจคัดกรองด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันสมัย การตรวจวินิจฉัยด้วยแพทย์เฉพาะทางด้านโรคเต้านม ตลอดจนการให้คำปรึกษาและวางแผนการรักษาโรคมะเร็งเต้านม รวมถึงการให้คำแนะนำหลังการรักษาและฟื้นฟูร่างกายหลังการผ่าตัดมะเร็งเต้านม

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม (Screening) ที่ ศูนย์โรคเต้านม

ที่ศูนย์โรคเต้านม โรงพยาบาลไทยนครินทร์ การตรวจหาความผิดปกติตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ทั้งในบุคคลที่มีความเสี่ยงทั่วไปและที่มีประวัติครอบครัวผิดปกติเป็นสิ่งที่ผู้หญิงควรให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจพบความผิดปกติได้อย่างละเอียดตั้งแต่ขนาดเล็ก หากพบอาการหรือสิ่งผิดปกติตั้งแต่เริ่มแรก มีโอกาสรักษาทันเวลาและอาจช่วยให้ลดการลุกลามไปสู่ระยะของมะเร็งเต้านมที่ร้ายแรง โดยศูนย์โรคเต้านม โรงพยาบาลไทยนครินทร์ มีการตรวจเต้านมเบื้องต้นโดยศัลยแพทย์ด้านโรคเต้านม และศัลยแพทย์มะเร็งวิทยา ควบคู่กับการตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมและเครื่องอัลตราซาวนด์ (Mammogram with Ultrasound) โดยรังสีแพทย์ด้านโรคเต้านม

ศูนย์โรคเต้านม โรงพยาบาลไทยนครินทร์ ตรวจอาการมะเร็งเต้านม

ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยดิจิตอลแมมโมแกรม (Digital Mammogram)

การถ่ายภาพรังสี โดยปริมาณรังสีที่ใช้นั้นใกล้เคียงการเอกซเรย์ปอดทั่วไป มีความปลอดภัย สามารถให้รายละเอียดภาพรวมของเต้านมทั้งหมด สามารถวินิจฉัยรอยโรคที่เป็นหินปูนขนาดเล็กที่อยู่ใกล้หรือซ้อนทับกัน สามารถตรวจพบรอยโรคของมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ในขณะที่ในผู้หญิงอายุน้อยที่มีความหนาแน่นของเต้านมสูง (Extremely Dense Breast) การตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถให้รายละเอียดได้ดีนัก ในทางปฏิบัติจึงต้องใช้อัลตราซาวนด์เต้านมร่วมด้วย

ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยอัลตราซาวนด์เต้านม (Ultrasound)

การใช้คลื่นความถี่เหนือเสียงในการตรวจซึ่งปราศจากรังสีสามารถใช้ในเด็กและสตรีมีครรภ์ได้ สามารถแยกลักษณะของก้อน หรือถุงน้ำ หรือความผิดปกติของต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ได้อย่างแม่นยำ ในขณะที่ข้อมูลเกี่ยวกับผลึกหินปูนในเต้านม อาจไม่สามารถให้รายละเอียดเทียบเท่าดิจิตอลแมมโมแกรมได้

ตรวจคัดกรองเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในลักษณะนี้แม้จะมีความไวของการตรวจที่สูง แต่ไม่ได้มีความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมที่เหนือกว่าดิจิตอลแมมโมแกรม และอัลตราซาวนด์แต่อย่างใด จึงแนะนำให้ใช้ในรายที่มีปัญหาในการตรวจวินิจฉัย หรือใช้ตรวจคัดกรองในผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมของโรคมะเร็งเต้านมเป็นหลัก

ตรวจวินิจฉัยและตรวจชิ้นเนื้อ (Diagnosis and Biopsy)

การตรวจทางพยาธิวิทยา ในรายที่ตรวจพบรอยโรคในเต้านมที่มีความสงสัย การตรวจชิ้นเนื้อคือการตรวจที่แม่นยำว่ารอยโรคที่เห็นนั้นคืออะไร ใช่มะเร็งหรือไม่

กรณีตรวจพบความผิดปกติของเต้านมจากอัลตราซาวนด์

Ultrasound Guided Core Needle Biopsy โดยรังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเต้านม เป็นการนำรอยโรคขนาดเล็กออกมาตรวจทางพยาธิวิทยา โดยอาศัยเครื่องอัลตราซาวนด์ในการหาตำแหน่งที่ผิดปกตินั้น มีระบบอ่านผลชิ้นเนื้อโดยพยาธิแพทย์ใน 24 ชั่วโมง

กรณีตรวจพบความผิดปกติจากแมมโมแกรม

Stereotactic guided biopsy โดยรังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเต้านม เป็นการนำรอยโรคขนาดเล็กออกมาตรวจทางพยาธิวิทยา โดยมากมักเป็นหินปูนที่ผิดปกติ โดยอาศัยเครื่องเอกซเรย์ในการหาตำแหน่งที่ผิดปกตินั้น มีระบบอ่านผลชิ้นเนื้อโดยพยาธิแพทย์ใน 24 ชั่วโมง

การรักษามะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัด (Surgery)

การผ่าตัดรักษาและเสริมสร้างเต้านมขึ้นใหม่ด้วยเทคนิคการผ่าตัดมะเร็งเต้านมแบบออนโคพลาสติก (Oncoplastic Surgery)เป็นเทคนิคการผสมผสานการผ่าตัดมะเร็งเต้านมกับการทำศัลยกรรมตกแต่งเข้าด้วยกัน เพื่อคงประสิทธิภาพการรักษามะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัดได้สูงสุด โดยที่ยังคงความสวยงามของเต้านมได้ใกล้เคียงเดิม ประกอบด้วย

ผ่าตัดแบบสงวนเต้านม (Breast conserving surgery)

ในกรณีขนาดก้อนเล็กไม่มีการกระจายของก้อนหรือหินปูนที่ผิดปกติทั่วเต้านม และในกรณีก้อนมะเร็ง 2-3 ก้อน หรือก้อนขนาดใหญ่ที่สามารถผ่าตัดแบบสงวนเต้านมได้ โดยใช้หลักการผ่าตัด Oncoplastic คือการผ่าตัดแบบสงวนเต้า โดยมีการพิจารณาย้ายเนื้อไขมันจากบริเวณข้างๆ เข้ามาปิดแทนช่องว่างที่ตัดมะเร็งออกไป หรือการผ่าตัดยกกระชับหรือ ลดขนาดเต้านมทั้งสองข้างให้สมดุลกันทั้งนี้ขึ้นกับความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย

ในบางกรณีมะเร็งบางชนิดอาจพิจารณาให้ยาเคมีบำบัดก่อนผ่าตัด จะทำร่วมกับรังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเต้านม ทำการวางคลิป(Clip)ที่ตัวก้อนมะเร็งเพื่อติดตามรอยโรคระหว่างให้ยาเคมีบำบัดก่อนผ่าตัดด้วย

ผ่าตัดเต้านมทั้งหมด (Mastectomy with Reconstruction)

ในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดแบบสงวนเต้านมได้ และการเสริมสร้างเต้านมด้วยถุงเต้านมเทียม (Implant-Based Reconstruction) หรือเนื้อเยื่อของตนเอง (Autologous Reconstruction) ตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย

การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลที่รักแร้

เป็นการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองต่อมแรก แล้วนำไปตรวจว่ามีมะเร็งกระจายมายังต่อมน้ำเหลืองหรือไม่ เพื่อประโยชน์ในการเลาะต่อมน้ำเหลืองเท่าที่จำเป็น ซึ่งสามารถลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ หลังการผ่าตัด เช่น แขนบวม หรืออาการชาของแขนได้ โดยมีการฉีดสาร Isosulfan Blue หรือ Indocyanine Green ช่วยเพิ่มความแม่นยำในมะเร็งระยะแรก และ ในกรณีมะเร็งเต้านมขนาดใหญ่และกระจายต่อมน้ำเหลือง ที่วางแผนผ่าตัดหลังให้ยาเคมีบำบัดครบ จำเป็นต้องใช้เทคนิคพิเศษในการตรวจต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล เช่น สาร Isosulfan Blue และ Indocyanine Green ร่วมกัน โดยสามารถตรวจจับต่อมน้ำเหลืองที่ติดสี Indocyanine Green ด้วยกล้องฟลูออเรสเซนซ์

ศูนย์โรคเต้านม โรงพยาบาลไทยนครินทร์ ผู้ป่วย

การรักษาเสริมด้วยการให้ยา (Systemic Treatment)

ประกอบด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ยาต้านฮอร์โมน (Hormonal therapy) ยาพุ่งเป้า (Targeted therapy) โดยอายุรแพทย์มะเร็งวิทยา (Medical oncologist) และการรักษาด้วยการฉายแสง (Radiotherapy) โดยแพทย์รังสีรักษา ด้วยเครื่องรังสีรักษา Vital beam นวัตกรรมการฉายรังสีแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค ตัวรับฮอร์โมน อายุและชนิดของการผ่าตัด นอกจากนี้การเลือกการรักษายังต้องพิจารณาข้อดีข้อเสียของแต่ละวิธี ผลข้างเคียงของการรักษา โรคประจำตัวของผู้ป่วย ความสวยงาม และความต้องการของผู้ป่วยร่วมด้วย

ศูนย์โรคเต้านม โรงพยาบาลไทยนครินทร์ รังสีรักษา

กายภาพบำบัดโดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู (Physical Medicine & Rehabilitation) (PM&R)

เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด ฉายแสง หรือเคมีบำบัด เช่นภาวะแขนบวม ข้อไหล่ติด เพื่อทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ดังเดิม ไม่สูญเสียภาพลักษณ์ และลดความวิตกกังวลจะเห็นได้ว่าแนวทางการรักษาด้วยทีมสหสาขาวิชาชีพเป็นการทำงานร่วมกันกันเป็นทีมเพื่อเป้าหมายที่สำคัญคือ ประสิทธิภาพการรักษาคนไข้ที่ดีขึ้น

Breast Care Center โรงพยาบาลไทยนครินทร์ อุ่นใจ ใกล้คุณ

ครบครัน ครอบคลุมตั้งแต่การคัดกรองโรค วินิจฉัย วางแผนรักษามะเร็งเต้านมอย่างเหมาะสมที่สุดเฉพาะบุคคล ศูนย์โรคเต้านม โรงพยาบาลไทยนครินทร์นั้นมีทีมแพทย์และทีมสหสาขาวิชาชีพร่วมให้คำปรึกษาและแนะนำการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมทุกระยะ พร้อมเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย

ติดตามข่าวสารสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: https://www.facebook.com/ThainakarinHospital

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
พญ.พุทธิพร  เนาวะเศษ
DR.PUTTIPORN NAOWASET
Surgery, Surgical Oncology Thainakarin Hospital.
ข้อมูลแพทย์