Shopping Cart

No products in the cart.

การตรวจหลอดเลือดสมอง ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง

การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Carotid Duplex Ultrasound, Transcranial Doppler Ultrasound) เป็นการสร้างภาพสะท้อนจากคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อประเมินลักษณะทางกายภาพและการไหลเวียนโลหิตที่ไปเลี้ยงสมอง ปัจจุบันการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงสามารถนำมาใช้ตรวจคัดกรองได้ดี ทั้งหลอดเลือดแดงบริเวณคอและภายในกะโหลกศีรษะ

 

การตรวจหลอดเลือดสมองโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง แบ่งเป็น 2 ส่วนหลักคือ

  1. การตรวจหลอดเลือดใหญ่บริเวณคอ ได้แก่ หลอดเลือด Carotid และหลอดเลือด Vertebral (Carotid Duplex Ultrasound)
  2. การตรวจหลอดเลือดในกะโหลกศีรษะ (Transcranial Doppler Ultrasound)

1. การตรวจหลอดเลือด Carotid และหลอดเลือด Vertebral บริเวณคอ

  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน
  • ผู้ป่วยที่เคยมีอาการสมองขาดเลือดไปเลี้ยงชั่วคราว (Transient Ischemic Attack; TIA)
  • ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคหลอดเลือด เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่/สัมผัสควันบุหรี่ และผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 50 ปี)
  • ผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ, ผู้ป่วยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ
  • ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต เพื่อดูรอยโรคของหลอดเลือดแดง Carotid ติดตามการรักษา และประเมินแนวทางการรักษา

ประโยชน์ของการตรวจหลอดเลือดบริเวณคอด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง

  • สามารถตรวจหลอดเลือดแดงดูทั้งการไหลเวียนและดูลักษณะของผนังหลอดเลือด, ตรวจหาภาวะเส้นเลือดตีบ, ตรวจดูความหนาตัวของผนังหลอดเลือด, ตรวจดูคราบไขมัน ขนาดของคราบไขมัน ลักษณะของคราบไขมัน เพื่อช่วยในการวินิจฉัยประเมินความเสี่ยง นำไปสู่การรักษาและการป้องกันโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
  • สามารถตรวจกลุ่มอาการแขนลักเลือด (Subclavian Steal Syndrome) ได้
  • เป็นการตรวจด้วยคลื่นความถี่สูง (Ultrasound) ซึ่งมีความสะดวกและปลอดภัย และไช้เวลาในการตรวจไม่นาน (ประมาณ 15-20 นาที)

ตรวจหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง

การนำผลตรวจไปใช้

  1. ทีมแพทย์สามารถนำไปใช้ประเมินการรักษาผู้ป่วย ซึ่งในบางรายสามารถรักษาหลอดเลือดด้วยวิธีการผ่าตัดแก้ไขหลอดเลือด เป็นการรักษาและป้องกันการเกิด TIA หรือ Stroke ในอนาคตได้ โดยใช้วิธีการตรวจคัดกรองด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงร่วมกับการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (computed tomography angio-graphy) หรือการตรวจหลอดเลือดด้วยพลังงานแม่เหล็ก (magnetic resonance angiography; MRA)
  2. เพื่อนำไปวิเคราะห์ลักษณะของคราบไขมันที่เกาะบริเวณผนังหลอดเลือด ว่ามีผิวขรุขระหรือมีแผล หรือมีก้อนเกล็ดเลือดเกาะ ซึ่งเชื่อมโยงกับความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองขาดเลือดมากน้อยเพียงใด
  3. ตรวจวินิจฉัยความหนาของผนังหลอดเลือดชั้น Intima-Media ว่ามีความหนาเกินเกณฑ์ปกติหรือไม่ เพื่อพิจารณาความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองและสามารถบอกภาวะความผิดปกติเฉพาะได้ และนำไปสู่การรักษาและป้องกันการเกิดโรค Stroke/TIA ในอนาคตได้
  4. วัดความเร็วการไหลของเลือดบริเวณที่มีการตีบโดยประเมินเป็นภาพและกราฟ (หาภาวะเส้นเลือดตีบ)

ข้อจำกัดในการตรวจหลอดเลือดบริเวณคอด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง

  1. ข้อจำกัดในผู้ป่วยที่มีแผลหรือแผลเป็นบริเวณคอ
  2. ผู้ป่วยที่มีคอสั้นหรือความหนาของคอมาก
  3. ผู้ป่วยที่มีการแตกแขนงของหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนคอที่ค่อนข้างสูงชิดกับขากรรไกรล่าง ทำให้ไม่สามารถตรวจหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนคอที่ขึ้นไปเลี้ยงสมองได้ชัดเจน

2. การตรวจหลอดเลือดในกะโหลกศีรษะ (Transcranial Doppler Ultrasound)

ประโยชน์ของการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านกะโหลกศีรษะ

  • ประเมินรูปแบบการไหลเวียนและความเร็วทิศทางการไหลของเลือดในหลอดเลือดสมอง
  • ประเมินการตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดใหญ่ในสมอง
  • ติดตามและวินิจฉัยภาวะวิกฤตบางอย่างได้ เช่น หลอดเลือดหดตัว ในผู้ป่วยเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (subarachnoid hemorrhage)
  • ใช้เฝ้าระวังติดตามภาวะลิ่มเลือดขนาดเล็กที่หลุดมายังหลอดเลือดสมอง (Microembolic signal (MES)
  • ตรวจการปรับสมดุลของหลอดเลือดแดงในสมองโดยอัตโนมัติ โดยดูการตอบสนองของหลอดเลือดแดงในสมองต่อภาวะต่างๆ หลังจากทำให้มีการเปลี่ยนแปลงระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดหรือหลังจากการให้ยา Acetazolamide

ข้อจำกัดในการตรวจหลอดเลือดในกะโหลกศีรษะ

  1. ผู้ป่วยที่มีส่วนบางของกะโหลกที่คลื่นเสียงความถี่สูงผ่านได้ (Bone Window) หนาเกินไปหรือแคบมากจนคลื่นเสียงไม่สามารถผ่านได้ดีพอ
  2. ในรายที่ตรวจไม่พบการไหลเวียนของเลือด หรือแยกได้ยากว่าตรวจไม่พบหลอดเลือดหรือมีการอุดตันจริง
Share
ผู้ที่เขียนบทความ
พญ. ประวีณา ดิเรกวัฒนชัย
DR. PRAVEENA DIREKWATTANACHAI
Neurologist Thainakarin Hospital
ข้อมูลแพทย์