โรคซึมเศร้า (Depression) เป็นความผิดปกติของสมองที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ และความคิด สารในสมองขาดความสมดุลทำให้เกิดพฤติกรรมที่แสดงออกหรือการปฏิบัติตัวต่างๆ ที่ผิดปกติ อีกทั้งยังบวกกับปัจจัยในเรื่องของกรรมพันธุ์ นิสัยส่วนตัว และสิ่งแวดล้อมหรือคนรอบตัวด้วย
แต่ละคนจะมีปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบไม่เหมือนกัน ดังนั้น ‘อย่าเปรียบเทียบ’ กับใคร เหตุการณ์เดียวกันคนหนึ่งอาจรู้สึกเสียใจรุนแรง แต่อีกคนหนึ่งอาจสามารถรับมือกับเรื่องนั้นได้สบายๆ ถ้าคิดว่าตนเองอาจมีภาวะซึมเศร้า ควรปรึกษาแพทย์ที่มีความรู้เฉพาะทาง เพื่อให้รักษาเรื่องความสมดุลของสารในสมอง รวมถึงวิธีคิดกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วย
ทดสอบสัญญาณเตือนอาการภาวะซึมเศร้า
สมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา (American Psychiatric Association) ได้กำหนดเกณฑ์การวินิจฉัยผู้ที่อาจจะเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า
- มีอารมณ์เศร้า ท้อแท้
- เบื่อไม่เพลิดเพลิน ไม่อยากทำกิจกรรมที่เคยชอบ
- เบื่ออาหาร หรือกินมากเกินไป
- นอนไม่หลับ หรือหลับมากเกินไป
- กระสับกระส่ายอยู่ไม่สุขหรือเชื่องช้าลง
- อ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีแรง
- รู้สึกตนเองไร้ค่า
- สมาธิไม่ดี ใจลอย หรือลังเลใจไปหมด
- คิดทำร้ายตนเอง หรือคิดอยากตาย
ถ้ามีอาการอย่างน้อย 5 อาการจาก 9 ข้อ มีอาการเกิดขึ้นนานอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และส่งผลต่อการทำงานหรือชีวิตประจำวัน ผู้ทดสอบอาจมีแนวโน้นเป็นโรคซึมเศร้า ควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ด้านจิตเวชโดยเฉพาะ ยิ่งพบแพทย์เร็วและรักษาภาวะซึมเศร้าตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ก็มีโอกาสหายได้เร็วและสามารถรักษาได้โดยยังไม่ต้องใช้ยา