Shopping Cart

No products in the cart.

ไตวายเฉียบพลัน ต่างจากไตวายเรื้อรังอย่างไร

โดยปกติ ไต จะทำหน้าที่ในการกรองของเสียออกจากเลือด ทั้งยังสร้างความสมดุลให้กับระดับน้ำ เกลือแร่ และแร่ธาตุต่างๆ ในร่างกายอีกด้วย แต่ในทางกลับกัน สำหรับผู้ที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังหรือไตวายเฉียบพลันนั้น ของเสียจะยังคงตกค้างอยู่ในร่างกาย เนื่องจากไตไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ หากปล่อยไว้อาจส่งผลทำให้ระบบภายในร่างกายจะทำงานผิดปกติ และร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

ดังนั้นหากมีอาการคล้ายกับคนเป็นโรคไต ก็ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยกับแพทย์ทันที แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีอีกหลายคนที่สับสนเกี่ยวกับเรื่องความแตกต่างระหว่างโรคไตวายเรื้อรังและไตวายเฉียบพลันอยู่ ซึ่งทั้งสองโรคนี้ผู้ป่วยจะมีแสดงอาการคล้ายคลึงกันหรือไม่ และความผิดปกติแบบไหนเรียกว่าภาวะไตวายเรื้อรังหรือไตวายเฉียบพลันกันแน่ 

ไตวายเรื้อรัง และไตวายเฉียบพลัน มีอาการต่างกันอย่างไร

ภาวะไตวาย จะเกิดขึ้นได้ 2 ประเภท คือ ไตวายเฉียบพลันและไตวายเรื้อรัง สำหรับโรคไตวายเฉียบพลันนั้น ผู้ป่วยจะมีอาการกำเริบในระยะเวลาวันถึงสัปดาห์ อาการจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และรุนแรงกว่าโรคไตวายเรื้อรัง ซึ่งสามารถสังเกตได้จากค่าเกลือแร่ในร่างกายที่มีความผิดปกติ ค่าโพแทสเซียมสูง เลือดมีความเป็นกรด ปัสสาวะออกน้อยลง รวมไปถึงทำให้ผู้ป่วยมักเบื่ออาหารและคลื่นไส้อาเจียนอยู่บ่อยครั้ง หากผู้ป่วยรีบหาสาเหตุของโรคและทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที ไตก็จะฟื้นคืนสภาพกลับมาทำงานได้เป็นปกติ

ไตวายเฉียบพลัน

แต่ในทางกลับกัน โรคไตวายเรื้อรัง จะค่อยๆ แสดงอาการออกมา ซึ่งอาจกินระยะเวลาเป็นเดือนหรือเป็นปี ซึ่งจะต่างกับโรคไตวายเฉียบพลันตรงที่ไตจะถูกทำลายอย่างถาวร แม้อาการเริ่มแรกอาจดูไม่รุนแรง เพราะร่างกายมีการปรับสภาพตามความผิดปกติไปเรื่อยๆ จนถึงขนาดที่ผู้ป่วยบางคนอาจไม่รู้ตัวเลยว่าไตกำลังทำงานผิดปกติอยู่ กระทั่งการทำงานของไตลดลงครึ่งต่อครึ่งหรือ 50 เปอร์เซ็นต์ อาการไตวายเรื้อรังจะเริ่มเห็นชัดมากขึ้น เช่น ร่างกายเริ่มบวมมากขึ้น ความดันโลหิตสูง คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร หรือในขั้นร้ายแรง ผู้ป่วยอาจเป็นลมหมดสติและเสียชีวิต

สาเหตุที่ทำให้เกิด ไตวายเรื้อรัง และไตวายเฉียบพลัน

โรคไตวายเฉียบพลัน

  • ขาดสารน้ำที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น กินไม่ได้หรืออ่อนเพลีย
  • ติดเชื้อ เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด และการติดเชื้อต่างๆ ในร่างกาย ที่ส่งผลให้ร่างกายมีอาการช็อค
  • รับประทานยาบางตัวที่มีผลกับไตโดยตรง ได้แก่ ยาคลายเส้น และยาสมุนไพรบางตัวที่มีฤทธิ์ทำให้ไตวายเฉียบพลันทันทีที่รับประทานเข้าไป
  • อุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ โดยเฉพาะผู้ชายที่เมื่ออายุมากขึ้นต่อมลูกหมากจะโต ส่งผลให้ปัสสาวะไม่ออกจนเกิดการอุดกั้นในทางเดินปัสสาวะ และมีโอกาสเป็นไตวายเฉียบพลันได้ในท้ายที่สุด

โรคไตวายเรื้อรัง

  • เกิดจากโรคประจำตัว เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะไตอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น
  • เกิดจากลักษณะพันธุกรรมของคนในครอบครัว ที่ทำให้มีโอกาสเป็นโรคไตวายเรื้อรัง

ไตวายเฉียบพลัน

ไตวายเรื้อรัง กับไตวายเฉียบพลัน มีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง?

ในผู้ป่วยโรคไตวายเฉียบพลัน แพทย์จะทำการรักษาโดยมุ่งเน้นไปที่ต้นเหตุ เพื่อให้โรคหายขาดและไตสามารถกลับมาทำงานได้เป็นปกติอีกครั้ง เช่น หากต้นเหตุของโรคไตวายเฉียบพลันมาจากการติดเชื้อ แพทย์ก็จะใช้ยาฆ่าเชื้อทำการรักษาอย่างเต็มที่ หรือถ้าสาเหตุมาจากการรับประทานยาที่เป็นอันตรายต่อไต ผู้ป่วยก็ต้องหยุดรับประทานยาตัวนั้นโดยทันทีตามคำสั่งของแพทย์ เป็นต้น ซึ่งในขณะที่อาการของโรคไตวายเฉียบพลันกำเริบ แพทย์จะคอยควบคุมสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกายให้คงที่เป็นปกติ นอกจากนี้หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงอาจมีการใช้เครื่องฟอกไตเทียมช่วยกำจัดของเสียในร่างกายจนกว่าไตจะฟื้นฟูกลับมาสมบูรณ์แข็งแรง

ไตวายเฉียบพลัน

ส่วนในกรณีของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง แพทย์จะชะลอความเสื่อมของไตให้ช้าลง โดยการควบคุมความดันและน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รวมถึงคอยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนใดๆ ขึ้นระหว่างทำการรักษา เนื่องจากภาวะไตวายเรื้อรังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ สำหรับการบำบัดทดแทนไตในกรณีที่ไตไม่ทำงานได้ตามปกติ เช่น การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การฟอกไตทางหน้าท้อง และการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายไตใหม่ ซึ่งแผนการรักษาจะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคนเป็นสำคัญ

ไตวายเฉียบพลัน

สรุป

ลักษณะของโรคไตวายเรื้อรังและไตวายเฉียบพลันต่างกันตรงที่ ภาวะไตวายเฉียบพลันเมื่อเป็นแล้วสามารถรักษาให้หายได้ แต่ต้องรีบเข้าพบแพทย์ในทันทีที่มีอาการเพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี สำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง อาการจะค่อยๆ แย่ลงโดยผู้ป่วยไม่ทันรู้ตัว กระทั่งไตทำงานได้เพียง 50 เปอร์เซ็นต์ ความผิดปกติจึงจะเริ่มเด่นชัดมากขึ้น ซึ่งโรคนี้ต่างจากโรคไตวายเฉียบพลันตรงที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ นอกเสียจากการบำบัดทดแทนไตเพื่อประคองอาการด้วยการฟองเลือดหรือล้างไต และวิธีสุดท้ายคือการปลูกถ่ายไตใหม่ ที่สามารถช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีกว่าการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ

Kidney Transplantation Center

Thainakarin Hospital
02-340-7777

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
ผศ.นพ. ธนรร งามวิชชุกร
ผศ.นพ. ธนรร งามวิชชุกร
อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์