Shopping Cart

No products in the cart.

‘เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร’ แบคทีเรียร้าย ภัยแฝงในกระเพาะอาหาร

เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori) แบคทีเรียที่กรดในกระเพาะอาหารฆ่าไม่ตาย และอาการเริ่มต้นที่พบบ่อยของการติดเชื้อชนิดนี้คือ ท้องอืด อาหารไม่ย่อย

อาการปวดท้องมีหลายแบบ แต่ส่วนใหญ่แล้วความแตกต่างอยู่ที่กับความรุนแรง ตำแหน่งที่ปวด แต่อาการที่พบบ่อยและต้องระวังคือ ท้องอืด ซึ่งสาเหตุของอาการผิดปกติในช่องท้องสามารถเกิดได้จากพฤติกรรมส่วนหนึ่งที่รักษาด้วยยาให้หายขาด แต่มีผู้ป่วยบางรายที่ติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori : H.pylori) ทำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง มีภาวะลมในช่องท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องอืด

โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะซื้อยารับประทานยาเอง และมาพบแพทย์เมื่ออาการไม่ดีขึ้น หรือเป็นๆ หายๆ แพทย์ก็จะตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เช่น ตรวจอุจจาระหาเชื้อแบคทีเรีย การตรวจอัลตราซาวนด์เพิ่มเติม รวมถึงการส่องกล้องทั้งในส่วนของทางเดินอาหารส่วนบน และทางเดินอาหารส่วนล่าง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยที่ถูกโรค มีโอกาสรักษาหายขาดได้มากขึ้น

เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร คืออะไร

เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร เป็นแบคทีเรียตัวเดียวที่สามารถมีชีวิตรอดในกระเพาะได้ เพราะปกติในกระเพาะของมนุษย์มีภาวะเป็นกรดที่สามารถฆ่าแบคทีเรียได้ทุกตัว ยกเว้นแบคทีเรียตัวนี้ จึงทำให้เกิดอาการอักเสบ แผลในกระเพาะอาหารได้ และสามารถก่อมะเร็งต่อมน้ำเหลืองของกระเพาะอาหารในอนาคตได้

แบคทีเรียชนิดนี้พบได้จากการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ไม่ผ่านความร้อน และในอาหารแช่เย็นที่ติดเชื้อชนิดนี้จากกระบวนการผลิตที่ไม่สุก ไม่สะอาดเพียงพอ ทำให้มีแบคทีเรียเจือปน เมื่อเข้าสู่ร่างกายก็จะแฝงตัวในกระเพาะอาหารจนกระทั่งมีอาการผิดปกติแสดงออกมา

“หัวใจสำคัญคือ การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง ก็จะรักษาได้ตรงโรค แทนที่จะรับประทานยารักษาไปเรื่อยๆ เมื่อเป็นก็รับประทานยา สุดท้ายก็กลับมาเป็นอีก เป็นๆ หายๆ เรื้อรังต่อเนื่องเป็นปี”

จากกรณีศึกษาของผู้ป่วยรายหนึ่งที่เข้ามาพบแพทย์ที่ไทยนครินทร์มีความเข้าใจว่าตัวเองเป็นกรดไหลย้อน มีอาการแสบร้อนกลางอก แน่นหน้าอกเวลารับประทานจำนวนมาก อาหารไม่ย่อย ซึ่งผู้ป่วยซื้อยารับประทานเองเป็นเวลานานหลายปี

แม้กระทั่งมาที่โรงพยาบาลแล้ว ได้รับคำแนะนำจากแพทย์แล้ว ผู้ป่วยก็ยังคงคิดว่าตัวเองเป็นกรดไหลย้อน เพราะด้วยอายุยังน้อยอาการของโรคยังไม่รุนแรง รับการรักษาด้วยยาอาการดีขึ้นแต่ไม่หายขาด มาพบแพทย์เมื่อมีอาการทุกครั้ง ซึ่งรักษาแบบนี้มานานถึง 2 ปี โดยปกติหากเป็นโรคกรดไหลย้อนจะใช้เวลารักษาด้วยการรับประทานยาในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 2 เดือน ก็จะรักษาหายได้

แต่สุดท้ายผู้ป่วยก็ตัดสินใจเข้าส่องกล้องระบบทางเดินอาหารเพื่อวินิจฉัยจึงพบสาเหตุของโรคซึ่งมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ทำให้กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง โดยหลังจากพบสาเหตุแล้วทำการรักษาต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ อาการดังกล่าวก็หายขาด ซึ่งถ้าไม่ส่องกล้องก็จะไม่สามารถสาเหตุของโรคที่แท้จริงได้ และทำให้รักษาไม่ตรงจุด

ปวดท้องแบบไหน ต้องรีบพบแพทย์

อาการที่ควรจะรีบมาพบแพทย์เร่งด่วนคือ อาการปวดท้องรุนแรงและมีโรคร่วมหลากหลาย เคยผ่าตัดทางช่องท้องมาก่อน การขับถ่ายผิดปกติ มีอาการอาเจียนรุนแรง หายใจลำบาก ปัสสาวะผิดปกติ หรือมีการตั้งครรภ์ ซึ่งต้องยอมรับว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เคยมีอาการปวดท้องมาก่อนแต่ไม่รุนแรง ซึ่งต้องสังเกตอาการด้วยตัวเอง 2-3 วัน ถ้ามีอาการร่วมอื่นๆ เช่น มีอาการปวดร้าวไปบริเวณอื่น เช่น บริเวณไหล่ โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี บริเวณทรวงอก โรคหัวใจ หรือ ปวดร้าวไปหลังก็จะเป็นอัวยวะที่อยู่ในช่องท้องด้านหลัง แนะนำให้มาพบแพทย์

โดยอาการปวดด้านล่างของช่องท้องใต้สะดือ ได้แก่ ปวดบริเวณตรงกลางรอบสะดือ หรือด้านขวาล่างก็ต้องระวังเรื่องเป็นไส้ติ่งอักเสบ ส่วนอาการปวดที่มีความสัมพันกับการขับถ่ายที่ผิดปกติ เช่น ท้องอืดมีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ ก็ต้องเฝ้าระวังโรคร้ายแรงในช่องท้อง เช่น มะเร็งลำไส้ เป็นต้น อีกทั้ง ต้องสนใจอาการร่วมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมอาการปวดท้อง เช่น สังเกตสีอุจจาระ ถ้าเริ่มปวดท้องเรื้อรังมากกว่า 3 สัปดาห์ควรมาพบแพทย์

ส่วนอาการปวดช่องท้องส่วนบน จะตรวจพบในช่วงวัยกลางคนเนื่องจากพฤติกรรมการรับประทาน เช่น รับประทานอาหารรสจัด อาหารสุกๆ ดิบๆ ดื่มแอลกอฮอลล์ สูบุหรี่ เป็นต้น จึงจะพบผู้ป่วยที่ปวดท้องเรื้อรังตั้งแต่อายุ 25 ปีขึ้นไป และในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ถ้ามีอาการผิดปกติทางช่องท้องควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุที่ถูกต้อง

เฝ้าระวัง สังเกต สุขภาพช่องท้อง

การรับประทานอาหารเป็นสิ่งบ่งชี้สำคัญที่จะบอกถึงความเสี่ยงของการเกิดอาการผิดปกติในช่องท้องได้ ซึ่งพฤติกรรมการรับประทานสำหรับหลายคนปรับเปลี่ยนได้ยาก เช่น ถ้าชอบรับประทานอาหารประเภทบุฟเฟต์ที่มีการรับประทานปริมาณเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น ทั้งเนื้อแดง เนื้อสัตว์แปรรูปเป็นความเสี่ยงหลักของโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นต้น  ดังนั้นผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย ท้องผูก เพราะฉะนั้นจึงเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่จะต้องได้รับการดูแล

อย่างไรก็ตาม ถ้ายังไม่มีอาการที่ชัดเจนสามารถเข้ามาตรวจสุขภาพประจำปีได้ ซึ่งเป็นการตรวจพื้นฐาน เช่น การตรวจอุจจาระ การตรวจอัลตราซาวนด์ ซึ่งถ้ามีอาการผิดปกติที่ชัดเจนก็ต้องเริ่มด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และหากอาการไม่ดีขึ้นก็ต้องมีการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อการรักษาที่ตรงกับสาเหตุของโรคนั้นๆ

 

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
พญ. ประพิมพรรณ อำพันทรัพย์
DR.PRAPIMPHAN AUMPANSUB
Gastroenterologist, Thainakarin Hospital
ข้อมูลแพทย์