Shopping Cart

No products in the cart.

โรคไตวายเรื้อรัง ในผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องไกลตัว

ผู้สูงอายุเสี่ยงเป็นโรคไตวายเรื้อรังมากกว่าวัยอื่นจริงหรือไม่?

โดยทั่วไปแล้วคนปกติแข็งแรงเมื่ออายุมากกว่า 35 ปี ขึ้นไป ในทุก ๆ 1 ปี ที่อายุมากขึ้น ค่าการทำงานของไตจะมีการเสื่อมลงประมาณ 1% ต่อปี  จะเห็นได้ว่าถ้าผู้ป่วยโรคไตที่อายุเยอะ สมมติว่ามากกว่า 70 ปี ก็จะเห็นได้ว่าค่าการทำงานของไตจะลดลงไปได้มากถึง 35% ก็ คือ ลดลงทุกๆ 1% ต่อปี นั่นเอง ดังนั้น ด้วยอายุเพียงอย่างเดียวก็มีผลต่อค่าการกรองของไต โดยจะเสื่อมลงไปทุกๆ ปีอยู่แล้ว ดังนั้นผู้สูงอายุก็ควรจะต้องดูแลตัวเอง รับประทานอาหารดีมีประโยชน์ แล้วก็รับประทานอาหารที่ป้องกันชะลอความเสื่อมของไตไปด้วย จึงจะสามารถป้องกันไตวายในผู้สูงอายุได้ หากไม่ดูแลตนเองและรับประทานอาหารหรือยาบางชนิดที่ส่งผลต่อไตเมื่อผู้ป่วยมีอายุมากขึ้นก็จะเป็นเหตุทำให้ไตเสื่อมเร็วมากขึ้นกว่าปกติ

สาเหตุของการเป็น โรคไตวายเรื้อรัง ในผู้สูงอายุ

สาเหตุสามารถแบ่งออกได้เป็นได้หลายสาเหตุ แต่ว่าสาเหตุที่สำคัญสำหรับคนไทย คือ เรื่องของอาหาร อาหารจำพวก น้ำพริก กะปิ น้ำปลา เป็นอาหารที่มีโซเดียมค่อนข้างสูง คนไทยควรจะลดของเค็มลงเพื่อป้องกันชะลอความเสื่อมของไต

อาการของ โรคไตวายเรื้อรัง ในผู้สูงอายุ

ในผู้สูงอายุอาการนำที่อาจบ่งชี้เป็นโรคไตวายเรื้อรังสามารถสังเกตได้ คือ อาจจะมีอาการอ่อนเพลียเหนื่อยง่าย  มีปัสสาวะเป็นฟอง เป็นต้น เป็นสิ่งที่เตือนคนไข้อาจนำไปสู่โรคไตวาย ถ้าหากมีการดังกล่าวและเกิดความสงสัยควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและตรวจวินิจฉัยอาการ

โรคไตวายเรื้อรัง

ผู้สูงอายุสามารถปลูกถ่ายไตได้หรือไม่ และยิ่งอายุเยอะ ยิ่งเสี่ยงสูงหรือไม่?

ข้อบ่งชี้ของการปลูกถ่ายไต คือ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทุกราย ควรจะรับการประเมินด้วยการปลูกถ่ายไตยกเว้นมีข้อห้าม

ในปัจจุบันเรื่องของอายุก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ที่เราอาจจะพิจารณา ปลูกถ่ายหรือไม่ปลูกถ่ายไต อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อกำหนดห้ามการปลูกถ่ายไตด้วยตัวเลขอายุ  ดังนั้นผู้สูงอายุควรมีอายุเท่าไรที่ไม่ควรแนะนำในการปลูกถ่ายไตยังไม่มีข้อกำหนดนี้ อย่างไรก็ตามพอจะมีหลักเกณฑ์คร่าว ๆ หากผู้ที่สูงอายุอย่างเช่น  อายุมากกว่า 70 ปี ได้รับการประเมินแล้วว่า แข็งแรงพอสามารถทนต่อการผ่าตัดปลูกถ่ายไตและการประมาณการมีชีวิตอยู่มากกว่า 1 ปี ขึ้นไป ควรจะได้รับการพิจารณาปลูกถ่ายไต

โดยทั่วไปผู้สูงอายุจะได้รับการพิจารณาปลูกถ่ายไตจากทีมแพทย์ผู้ปลูกถ่ายไตอย่างน้อย 3 สาขา ได้แก่ ทีมอายุรแพทย์โรคไต อายุรแพทย์โรคหัวใจ และศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะ หากประเมินแล้วมีความเห็นพ้องตรงกันว่าผู้ป่วยสามารถที่จะทนต่อการปลูกถ่ายไตได้และเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย ผู้ป่วยสูงอายุสามารถที่จะเข้ารับการปลูกถ่ายไตได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย

โรคไตวายเรื้อรัง

หลังปลูกถ่ายไตผู้สูงอายุควรดูแลตัวเองอย่างไร

หลักการดูแลตนเองภายหลังการปลูกถ่ายไตในผู้ป่วยสูงอายุมีหลักการที่สำคัญเหมือนกับผู้ป่วยปลูกถ่ายไตทั่วไป คือ รับประทานยาตรงเวลาสม่ำเสมอ พบแพทย์ตามนัด ยามเจ็บป่วยควรพบแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยสูงอายุย่อมมีการดูแลอื่นๆ ที่พิเศษกว่าผู้ป่วยในวัยหนุ่มสาว เช่น การเตือนรับประทานยา การระวังการพลัดตกหกล้ม การดูแลควบคู่กับโรคประจำตัวอื่น ๆ การระมัดระวังการต่อต้านและเสริมฤทธิ์ของปฏิกิริยาระหว่างยาในกรณีผู้ป่วยมียารับประทานหลายตัว เป็นต้น

Kidney Transplantation Center

Thainakarin Hospital
02-340-7777

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
รศ.นพ.ณัฐพล อาภรณ์สุจริตกุล
รศ.นพ.ณัฐพล อาภรณ์สุจริตกุล
ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะ โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์