‘หูตึง’ เป็นอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เนื่องจากหูชั้นในเกิดการเสื่อมตามวัย ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการได้ยิน โดยในคนที่มีความผิดปกติของการได้ยิน ลักษณะเสียงพูดจะผิดเพี้ยนไปในระดับที่มากน้อยขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ ดังนั้นเมื่อรู้สึกว่าตนเองมีอาการผิดปกติของการได้ยินควรพบแพทย์เพื่อตรวจ วินิจฉัย และรักษา เพราะหากปล่อยไว้ อาการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในเรื่องการสื่อสารระหว่างคนรอบข้างและครอบครัวได้
กลไกของการได้ยินเสียง
การได้ยินเสียงของคนเรานั้น เริ่มต้นเมื่อมีคลื่นเสียงจากการสั่นสะเทือนของอากาศผ่านเข้ามาในหูชั้นนอกและเข้าไปกระทบเยื่อแก้วหู ทำให้เกิดการสั่นของเยื่อแก้วหูและส่งผ่านการสั่นสะเทือนต่อไปยังกระดูกรูปค้อน กระดูกรูปทั่งและกระดูกรูปโกลนในหูชั้นกลางตามลำดับ กระดูกรูปโกลนติดต่ออยู่กับก้นหอยของหูชั้นในจะส่งผ่านการสั่นสะเทือนเข้าไปในหูชั้นใน ซึ่งมีของเหลวและเซลล์ขนอยู่ การสั่นสะเทือนจะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า และถูกส่งผ่านเซลล์ขนไปสู่เส้นประสาทหูไปยังสมองเพื่อให้เกิดการรับรู้ และแปลความหมายของเสียงที่ได้ยิน
การสูญเสียการได้ยินที่พบบ่อย
- การติดเชื้อของหูชั้นกลาง (Otitis Media) หรือหูน้ำหนวก เป็นสาเหตุของการสูญเสียการได้ยินชั่วคราว มักพบในเด็ก
- การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงอึกทึก (Noise-Induced) เป็นสาเหตุของการสูญเสียการได้ยินชนิดถาวร
- สูญเสียการได้ยินเนื่องจากวัยชรา (Presbyacusis) มีการสูญเสียการได้ยินในช่วงเสียงที่มีความถี่สูง
สาเหตุบางอย่างของการสูญเสียการได้ยิน
- ความผิดปกติแต่กำเนิดจากสาเหตุทางกรรมพันธุ์
- มารดามีความผิดปกติขณะตั้งครรภ์, คลอด
- การติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส เช่น โรคไข้สมองอักเสบ คางทูม งูสวัด เป็นต้น
- การได้รับยาบางตัวที่ก่อให้เกิดพิษต่อประสาทหู เช่น ยาต้านมะเร็ง ยาปฏิชีวนะบางชนิด เป็นต้น
- การประกอบอาชีพ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดัง
- อุบัติเหตุต่อศีรษะที่กระทบถึงประสาทหู
- โรคบางชนิด เช่น เนื้องอกของเส้นประสาทที่เกี่ยวกับการได้ยิน ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติ โรคแพ้ต้านทานตัวเอง โรคเบาหวาน โรคไต และโรคไขมันในเลือดสูง
- เสื่อมตามธรรมชาติ
อาการของการสูญเสียการได้ยิน
- ได้ยินเสียงเบาลง รู้สึกหูสองข้างได้ยินไม่เท่ากันหรือการรับฟังเสียงมีปัญหาเมื่ออยู่ในที่มีเสียงรบกวน
- ได้ยินเสียงพูดแต่ไม่สามารถเข้าใจคำพูดของผู้พูด
- ถามคำถามซ้ำๆ
- เปิดเสียงวิทยุหรือโทรทัศน์ดังกว่าคนที่มีการได้ยินปกติ
- ไม่สามารถเข้าใจเสียงคำพูดทางโทรศัพท์
- มีเสียงรบกวนในหูร่วมกับอาการหูอื้อ อาจมีอาการเวียนศีรษะร่วมด้วย
การตรวจด้วยตนเองอย่างง่าย
- ถูนิ้วที่ข้างหู
- พูดเสียงกระซิบ
- เสียงเข็มนาฬิกาเดิน
การรักษา
การสูญเสียการได้ยินที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของหูชั้นนอกหรือหูชั้นกลาง สามารถรักษาได้โดยการรับประทานยา หรือการผ่าตัด ส่วนการสูญเสียการได้ยินที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของหูชั้นใน ซึ่งมีผลทำให้ประสาทหูเสื่อม จะไม่สามารถรักษาให้หายได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาภายใน 2-3 สัปดาห์แรกหลังหูดับ อาจต้องใส่เครื่องช่วยฟังเพื่อช่วยรับฟังเสียง