Shopping Cart

No products in the cart.

จาก เชื้อไวรัส HPV ถึง ‘มะเร็งปากมดลูก’: ตัวร้ายที่ผู้หญิงต้องระวัง

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization :WHO) มะเร็งปากมดลูก พบได้บ่อยสุดในมะเร็งสตรี และพบบ่อยเป็นอันดับ 4 ของสตรีทั่วโลก โดยในปี 2022 มีการรายงานพบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 660,000 ราย และมีผู้เสียชีวิต 350,000 ราย นอกจากนี้ ในประเทศไทยเอง พบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่มากกว่า 10,000 คนต่อปี และเสียชีวิตมากกว่า 5,200 คนต่อปี แม้จะมีการพัฒนาด้านการป้องกันและการรักษา แต่ตัวเลขนี้ยังสะท้อนถึงความจำเป็นในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ HPV การขาดความรู้และการเข้าถึงบริการสุขภาพ เช่น การฉีดวัคซีน HPV และการตรวจคัดกรอง ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากยังคงเสี่ยงต่อการพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูกในอนาคต

ภาพผู้หญิงตั้งคำถามเกี่ยวกับเชื้อไวรัส HPV พร้อมข้อความ 'HPV คืออะไร?' จากโรงพยาบาลไทยนครินทร์ ให้ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูก

HPV คืออะไร?

HPV (Human Papillomavirus) คือเชื้อไวรัสที่แพร่ระบาดอย่างกว้างขวางทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีเพศสัมพันธ์ เชื้อไวรัสนี้มีหลายสายพันธุ์ และในบางกรณีอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพร้ายแรง เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งในอวัยวะอื่นๆ เช่น หลอดคอ ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย และทวารหนัก นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุของหูดที่อวัยวะเพศ ที่มือ นิ้วหรือฝ่าเท้าได้

HPV เป็นไวรัสที่สามารถติดต่อได้ง่ายมาก เนื่องจากมีการแพร่เชื้อผ่านการสัมผัสผิวหนังโดยตรง โดยเฉพาะในบริเวณที่อ่อนนุ่ม เช่น เยื่อบุผิวในอวัยวะเพศ ช่องคลอด หรือทวารหนัก แม้แต่การสัมผัสระหว่างผิวหนังในระหว่างการสัมผัสทางเพศโดยไม่ต้องมีการสอดใส่ก็อาจทำให้ติดเชื้อได้

เชื้อ HPV มีมากกว่า 200 สายพันธุ์

ประเภทของ HPV

เชื้อ HPV มีมากกว่า 200 สายพันธุ์ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลักตามความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในอนาคต

  1. สายพันธุ์ความเสี่ยงต่ำ (Low-risk HPV): สายพันธุ์เหล่านี้มักไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง แต่ก่อให้เกิดโรคที่ไม่ร้ายแรง เช่น หูดที่อวัยวะเพศหรือบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย สายพันธุ์ที่พบบ่อย ได้แก่ HPV 6 และ HPV 11 ซึ่งเป็นสาเหตุของหูดในอวัยวะเพศมากถึง 90%
  2. สายพันธุ์ความเสี่ยงสูง (High-risk HPV): สายพันธุ์เหล่านี้มีศักยภาพในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่อาจพัฒนาไปเป็นมะเร็ง สายพันธุ์ที่สำคัญ ได้แก่ HPV 16 และ HPV 18 ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกกว่า 70% และยังมีสายพันธ์อื่นๆที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูง เช่น สายพันธุ์  31 33 35 39 45 51 52 53 56 58 59 66 68
การติดต่อของเชื้อ HPV

การติดต่อของ HPV         

เชื้อ HPV ติดต่อได้ง่ายมาก และวิธีการแพร่เชื้อที่พบบ่อยที่สุดคือ

  • การสัมผัสทางเพศ: การมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่ การมีเพศสัมพันธ์ทางปาก หรือการสัมผัสผิวหนังในบริเวณอวัยวะเพศโดยตรง การติดเชื้อ HPV ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่สมบูรณ์ แม้แต่การสัมผัสทางกายก็สามารถแพร่เชื้อได้
  • การสัมผัสเยื่อบุและผิวหนังโดยตรง: การสัมผัสบริเวณที่มีเชื้อ HPV เช่น แผลเล็กๆ หรือบริเวณผิวหนังที่เปิด
  • การคลอดบุตร: แม่ที่ติดเชื้อ HPV สามารถถ่ายทอดเชื้อไปยังลูกในระหว่างการคลอดผ่านช่องคลอดได้ แม้ว่าจะพบได้น้อย

แม้ว่า HPV จะเป็นโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยที่สุด แต่ในหลายกรณี ผู้ที่ติดเชื้ออาจไม่มีอาการหรือความผิดปกติใดๆ ทำให้การป้องกันและการตรวจคัดกรองเป็นสิ่งสำคัญมากเพื่อป้องกันการแพร่กระจายและการพัฒนาของโรคร้ายแรงที่เกี่ยวข้องกับเชื้อ HPV

ใครบ้างที่มีความเสี่ยง ติดเชื้อ HPV?

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย
  • มีคู่นอนหลายคนหรือไม่ใช้ถุงยางอนามัย
  • ภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ที่ติดเชื้อ HIV
  • ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกัน HPV
เชื้อไวรัส HPV ป้องกันได้

วิธีป้องกันการติดเชื้อ HPV

การป้องกันการติดเชื้อ HPV เป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงในการพัฒนาไปสู่โรคมะเร็งปากมดลูกและโรคร้ายแรงอื่นๆ ต่อไปนี้คือวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ การป้องกันที่ดีสุดในปัจจุบันคือการฉีดวัคซีน HPV ปัจจุบันมี 3 ชนิด ขึ้นกับจำนวนสายพันธ์ไวรัสที่ครอบคลุม  ซึ่งประสิทธิภาพการป้องกันรอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูกขั้นสูงและมะเร็งปากมดลูกได้ถึงร้อยละ 90-95  โดยแนะนำให้ฉีดในวัยเด็กตั้งแต่อายุ 9 ปี จนถึงอายุ 45ปี  ( ตามข้อมูลจากงานวิจัย ) นอกจากวัคซีนแล้ว  ยังแนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยเริ่มตั้งแต่อายุ 25 ปี  หรือหลังจากเริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกแล้ว โดยการคัดกรองจะทำให้สามารถวินิจฉัยรอยโรคก่อนมะเร็ง  และรักษามะเร็งระยะต้นได้ ทำให้เพิ่มอัตราการรอดชีวิต ลดอัตราการเสียชีวิตของจากมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามได้

แผนกสูติ-นรีเวช โรงพยาบาลไทยนครินทร์ ให้บริการทั้งการป้องกันและรักษามะเร็งปากมดลูก  

  • ให้บริการฉีดวัคซีน  HPV  ทั้งชนิด 4 และ 9 สายพันธุ์
  • บริการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยวิธี Liquid Cytology Test และ HPV Test  ที่เพิ่มความแม่นยำในการคัดกรองมะเร็งมากขึ้น รวมไปถึงตรวจเพิ่มเติมด้วยกล้องคอลโปสโคป (Colposcopy)  และ/หรือ ตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกด้วยห่วงลวดไฟฟ้า  กรณีผลคัดกรองผิดปกติเพื่อค้นหาโรค

ผลตรวจว่า พบมะเร็งปากมดลูก?

กรณีที่ผลการตรวจพบเป็นมะเร็งปากมดลูกแล้ว  จะทำการส่งตรวจเพื่อบอกระยะด้วย CT scan หรือMRI  เมื่อสรุประยะโรคได้แล้ว แนวทางการรักษาจะเป็นการผ่าตัดเอามดลูกออก  หรือตัดเฉพาะปากมดลูก  และเก็บมดลูกในกรณีที่ยังต้องการมีบุตร  ในผู้ป่วยระยเริ่มแรกที่ยังไม่ลุกลาม 

ในระยะที่ 2 ถึง 4   จะทำการรักษาด้วยการฉายแสง  และเคมีบำบัด  เป็นการรักษาหลัก สามารถทำได้ที่โรงพยาบาลไทยนครินทร์โดยแพทย์ชำนาญการสาขาต่างๆ  ที่ร่วมรักษาแบบสหสาขาวิชาชีพทั้ง แพทย์ผ่าตัดเฉพาะทางมะเร็ง แ พทย์เฉพาะทางรังสีวิทยาและมีเครื่องฉายแสงที่ทันสมัย  แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเคมีบำบัด ทีมพยาบาล ที่พร้อมให้บริการเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย 

บทความโดย
แผนกสูติ-นรีเวช โรงพยาบาลไทยนครินทร์

Share