Shopping Cart

No products in the cart.

เลือดออกในสมอง…ภาวะอันตรายที่ก่อให้พิการได้

เลือดออกในสมอง (Intracerebral Hemorrhage) เป็นโรคที่พบได้บ่อย สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ที่มักใช้ชีวิตด้วยความเร่งรีบ มีภาวะเคร่งเครียดสะสม ขาดการออกกำลังกาย รับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ และพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดภาวะเลือดออกในสมอง ซึ่งมีอาการเตือนของโรค ได้แก่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว ตามัว ซึมลง และชัก หากมีอาการหรือสงสัยว่าตนเองมีเลือดออกในสมอง ควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางโรคสมองอย่างเร่งด่วน เพราะหากปล่อยไว้ไม่รักษา อาจก่อให้เกิดความพิการ หรือเสียชีวิตได้

 

เลือดออกในสมอง เกิดได้จากหลายสาเหตุ

โดยจะแบ่งอย่างง่ายๆ ได้ 2 ชนิด ได้แก่ เกิดจากเส้นเลือดสมองเอง และเกิดจากภาวะอื่นๆ

  1. โรคหลอดเลือดสมองแตกจากเส้นเลือดสมองเอง
    1.1.เส้นเลือดฝอยแตกจากความดันโลหิตสูง
    1.2.เส้นเลือดใหญ่แตกจากภาวะโป่งพองของเส้นเลือด
    1.3.เส้นเลือดขอดในสมอง ซึ่งมีการพบแตกได้ตั้งแต่อายุน้อย
    1.4.เส้นเลือดแตก จากความผิดปกติอื่นๆ ของเส้นเลือด (พบไม่บ่อย)
  2. เกิดจากภาวะอื่นๆ
    2.1.อุบัติเหตุ
    2.2.เนื้องอกในสมอง
    2.3.โรคเลือด
    2.4.โรคตับ

โรคเลือดออกในสมอง

อาการของโรคเลือดออกในสมอง จะขึ้นอยู่กับบริเวณที่เลือดออก ขนาดของก้อนเลือดและสาเหตุ มีอาการดังนี้

  • ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ
  • อ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก อัมพฤกษ์ อัมพาต
  • พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว
  • ตามัว
  • ซึมลง หรือไม่รู้สึกตัว
  • ชัก

จะทราบได้อย่างไรว่ามีเลือดออกในสมอง

  1. ตรวจร่างกายโดยแพทย์ร่วมกับ
  2. ตรวจสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์ต่างๆ
    2.1.CT scan ทราบผลเร็ว บอกได้ว่ามีเลือดออกหรือไม่ และออกตรงไหน
    2.2.MRI บอกได้ละเอียดรวมถึงบอกสาเหตุได้เกือบทั้งหมด (ถ้าตรวจร่วมกับ MRA และ/หรือ MRV)
    2.3.Angiogram (CT Brain) เป็นการตรวจอย่างละเอียด ดูการไหลเวียนของเลือดได้ครบ ในปัจจุบันสามารถทำเป็นภาพสามมิติได้

เลือดออกในสมอง (Intracerebral Hemorrhage)

การรักษาเลือดออกในสมองในระยะฉุกเฉิน

ต้องทำแข่งกับเวลาเพื่อช่วยชีวิต ลดความพิการที่จะเกิดขึ้น โดยมีการรักษาดังนี้

  1. รักษาตามอาการ ด้วยการใช้ยา
  2. ผ่าตัดเจาะระบายน้ำในสมอง ทำในกรณีเกิดน้ำคั่งในสมองร่วมหรือเพื่อวัดและลดความดันในสมอง
  3. ผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ นำเลือดในสมองออกลดสมองบวม และแก้ไขสาเหตุที่เลือดออก
  4. การอุดรอยรั่วของโรค ซึ่งไม่ต้องมีแผลผ่าตัด สามารถทำได้โดยการอุด
    • ขดลวด กรณีเส้นเลือดโป่งพอง
    • กาว กรณีเส้นเลือดขอด

การรักษาเลือดออกในสมองต่อเนื่องหลังพ้นภาวะฉุกเฉิน

  1. การทำกายภาพบำบัด โดยจำเป็นต้องฟื้นฟูให้เหมาะสมกับผู้ป่วย
  2. การดูแลต่อเนื่อง เพื่อป้องกันภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายหลัง โดยเฉพาะภาวะน้ำคั่งในสมอง หรือชัก
  3. การป้องกันการเกิดซ้ำ โดยหมั่นวัดความดันโลหิต เบาหวาน ลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น งดสูบบุหรี่ งดนอนดึก งดเครียดทั้งกายและใจ

โรคเลือดออกในสมอง (Intracerebral Hemorrhage)

เลือดออกในสมองก่อให้เกิดความพิการ และเสียชีวิตได้ มีผลกับทั้งคนไข้ รวมถึงคนในครอบครัวที่ต้องดูแล การป้องกันไม่ให้เกิดจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ด้วยการดูแลสุขภาพ ตรวจเช็คร่างกายสม่ำเสมอ ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ก็จะลดการเกิดโรคได้ แต่ถ้ามีอาการหรือสงสัยว่าเรามีเลือดออกในสมอง ควรพบแพทย์ทางสมองอย่างรวดเร็ว จะทำให้การรักษาได้ผลดีขึ้น

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
นพ. วิวัฒน์ จรัญเรืองธีรกุล
DR. WIWAT CHARANRUANGTERAKUL
Neurosurgeon, Thainakarin Hospital
ข้อมูลแพทย์