อาการมะเร็งปอด มีสัญญาณเตือนและปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง รักษาด้วยวิธีไหนได้บ้าง วันนี้ไทยนครินทร์มีคำตอบ
มะเร็งปอด (Lung Cancer) เกิดจากการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์ภายในปอดอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและพัฒนาเป็นก้อนเนื้อร้ายในที่สุด โดยทั่วไปมะเร็งปอดจะเริ่มจากเป็นจุดเล็กๆ ที่ปอด ทำให้ไม่แสดงอาการในระยะแรก กว่าที่ผู้ป่วยจะมีอาการมักอยู่ในระยะที่รุนแรงหรือระยะลุกลามแล้ว
ใครบ้างมีความเสี่ยงมะเร็งปอด
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด สามารถจำแนกเป็นปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ และปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้
ปัจจัยที่ควบคุมได้
- สูบบุหรี่ : บุหรี่เป็นปัจจัยหลักต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดมากที่สุด คาดการณ์ว่ากว่า 80-90% ของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด เกี่ยวข้องโดยตรงกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ทั้งในแง่ปริมาณและระยะเวลาที่สูบ นอกจากนี้ควันบุหรี่มือสองก็เป็นสาเหตุสำคัญต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดด้วย
- สัมผัสกับก๊าซเรดอน (Radon) : เป็นสารกัมมันตภาพรังสีที่เกิดจากการสลายตัวของเรเดียมหรือยูเรเนียม มักพบในอาคารหรือสิ่งก่อสร้าง ซึ่งมีหิน ดิน ทราย เจือปนแร่เรเดียม
- แร่ใยหิน : ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมผลิตวัสดุก่อสร้าง ผ้าเบรก ฉนวนกันความร้อน พบว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคนปกติถึง 7 เท่า
- สารก่อมะเร็งอื่น ๆ : เช่น สารหนู ถ่านหิน สารพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ รวมถึงฝุ่น PM 2.5
ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้
- พันธุกรรม หรือมีประวัติเป็นมะเร็งในครอบครัว ย่อมมีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มที่ไม่มีประวัติมะเร็งในครอบครัว
- อายุที่มากขึ้น โดยทั่วไปความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหลังอายุ 40 ปี แต่สามารถพบได้ในคนอายุน้อยกว่า 40 ปี โดยเฉพาะคนที่สูบบุหรี่
อาการมะเร็งปอด
ในระยะแรกของมะเร็งปอดมักจะไม่แสดงอาการ แต่อาการมักจะเพิ่มขึ้น เมื่อมะเร็งมีการเจริญเติบโตขึ้น และอาการขึ้นอยู่กับตำแหน่งของก้อน โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่
- ไอเรื้อรัง พบได้ประมาณ 50-75%
- ไอมีเสมหะปนเลือด ซึ่งอาจมีปริมาณเล็กน้อย หรือเลือดสดก็ได้
- เหนื่อยง่ายหายใจลำบาก เจ็บแน่นหน้าอก หายใจมีเสียงดังผิดปกติ เสียงแหบ
- เบื่ออาหารหรือน้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ
- รวมถึงอาการที่เกิดจากการลุกลามของมะเร็ง เช่น ปวดกระดูก ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดศีรษะ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
มะเร็งปอด VS วัณโรคปอด ต่างกันอย่างไร
วัณโรคเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาการมักจะค่อยเป็นค่อยไป ส่วนมะเร็งปอดเกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซล์ปอด ซึ่งต้องใช้เวลาในการแสดงอาการ ทำให้อาการมีความคล้ายคลึงกันได้ เช่น ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด หรือเบื่ออาหาร น้ำหนักลดได้ ทำให้การแยกโรคจากอาการได้ยาก จึงต้องอาศัยการตรวจเพิ่มเติม เช่น เก็บเสมหะเพาะเชื้อ หรือส่องกล้องหลอดลมเพื่อเอาชิ้นเนื้อในปอด
มะเร็งปอด มีกี่ชนิด อะไรบ้าง
มะเร็งปอด สามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภท ตามขนาดของเซลล์มะเร็ง
- มะเร็งปอดชนิดขนาดเซลล์ไม่เล็ก (Non-small cell lung cancer) มะเร็งปอดชนิดที่พบบ่อยที่สุดโดยทั่วไป มะเร็งปอดชนิดขนาดเซลล์ไม่เล็กเป็นมะเร็งที่เติบโตและแพร่กระจายได้ช้ากว่ามะเร็งปอดชนิดขนาดเซลล์เล็ก สามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรก
- มะเร็งปอดชนิดขนาดเซลล์เล็ก (Small cell lung cancer) เป็นมะเร็งปอดชนิดที่สามารถเติบโตได้อย่างรุนแรงและรวดเร็วกว่ามะเร็งปอดชนิดขนาดเซลล์ไม่เล็ก มะเร็งปอดชนิดขนาดเชลล์เล็กมักพบได้ในผู้ป่วยที่มีประวัติการสูบบุหรี่ รักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัด และการฉายแสง
การวินิจฉัยมะเร็งปอด
การวินิจฉัยต้องยืนยันจากการตรวจขึ้นเนื้อ ซึ่งจำเป็นต้องพบก้อนเนื้อที่ผิดปกติก่อน ดังนั้นการพบก้อนเนื้อตั้งแต่ระยะแรกสามารถรักษาด้วยการผ่าตัดให้หายขาดได้ อย่างที่ทราบ CXR เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งที่ไม่ดีนัก เนื่องจากไม่สามารถเห็นความผิดปกติในระยะแรกได้ จึงต้องอาศัยการตรวจที่ละเอียดขึ้น ปัจจุบันจึงแนะนำการตรวจด้วย Low-Dose CT Chest screening (LDCT) หรือการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์รังสีต่ำ ซึ่งจะเห็นรายละเอียดได้มากกว่า CXR ในกรณีที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งปอด อาจจะพิจารณาส่งตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์, PET สแกน และส่องกล้องหลอดลม
การรักษามะเร็งปอด
การรักษามะเร็งปอดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น อายุ สุขภาพโดยทั่วไปของผู้ป่วย ชนิดและระยะของโรค หรือการตัดสินใจร่วมกันระหว่างแพทย์ ผู้ป่วย และคนในครอบครัวผู้ป่วย
- ผ่าตัด (Surgery): เพื่อนำเนื้องอกมะเร็งภายในปอดออก การผ่าตัดเป็นทางเลือกหลักสำหรับผู้ป่วยมะเร็งปอดที่ยังไม่มีการแพร่กระจายเพราะสามารถหายขาดได้ ในบางกรณี อาจใช้การฉายแสงหรือใช้เคมีบำบัดเพื่อลดขนาดก้อนมะเร็งก่อนการผ่าตัด
- บำบัดด้วยรังสี (Radiotherapy): ใช้รังสีที่มีพลังงานสูงเพื่อลดขนาดเนื้องอกโดยการฆ่าทำลายเซลล์มะเร็ง มักใช้ร่วมกับเคมีบำบัดในช่วงก่อนหรือหลังการผ่าตัด การรักษาด้วยรังสีอาจเป็นทางเลือกหลักในการรักษาสำหรับผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะลุกลาม
- ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy): เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต้านหรือทำลายเซลล์มะเร็ง โดยมีเป้าหมายสำคัญคือเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวเร็ว และต่อเนื่อง ยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง หลายรูปแบบ ทำให้เซลล์ไม่สามารถแบ่งตัวต่อไปและตายในที่สุด
- ยาแบบมุ่งเป้า (Targetedtherapy): การรักษาด้วยยามุ่งเป้าจะเน้นการทำให้เซลล์มะเร็งตายโดยไปหยุดยั้งการเจริญเติบโตที่ผิดปกติโดยไม่ส่งผลต่อเซลล์ปกติข้างเคียง แต่จำเป็นต้องตรวจการกลายพันธุ์ของยีนมะเร็งก่อน
- ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy): อาศัยหลักการใช้ภูมิคุ้มกันเพื่อจัดการกับเซลล์มะเร็งในร่างกาย
สาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปอด คือการสูบบุหรี่ รวมถึงควันบุหรี่มือสอง เพราะฉะนั้นการงดบุหรี่ จึงเป็นสิ่งที่ดี นอกจากนี้การตรวจคัดกรองสภาพปอดอย่างสม่ำเสมอทุกปีเป็นสิ่งที่แนะนำ เนื่องจากปัจจุบันสามารถเพิ่มโอกาสรักษาให้หาย ถ้าตรวจพบมะเร็งปอดตั้งแต่ระยะแรก