Shopping Cart

No products in the cart.

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง สัญญาณเตือนเมื่อคลำเจอก้อนที่คอ รักแร้ ขาหนีบ…

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง คืออะไร

เป็นเนื้องอกที่มีต้นกำเนิดจากระบบทางเดินน้ำเหลืองของร่างกาย ประกอบด้วย ต่อมน้ำเหลือง ม้าม ต่อมไทมัส และไขกระดูก โดยระบบทางเดินน้ำเหลืองของเรามีหน้าที่สร้างเม็ดเลือดขาว เพื่อมากำจัดเชื้อโรคที่เข้ามาในร่างกาย เม็ดเลือดขาวที่สร้างออกมาจะมีอยู่ 2 ชนิด คือ เม็ดเลือดขาวชนิด B cell และเม็ดเลือดขาวชนิด T cell เมื่อเม็ดเลือดขาวเหล่านี้เกิดการแบ่งตัว และเพิ่มจำนวนมากขึ้นผิดปกติก็จะนำไปสู่การเกิดเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ โดยสามารถเกิดได้ทุกที่ในร่างกายตามระบบทางเดินน้ำเหลือง

สาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

สาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ในปัจจุบันเรายังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เราอาจจะพบมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ในกรณีที่คนไข้
  • อายุมากขึ้น
  • มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำลง
  • การติดเชื้อบางชนิด เช่น เชื้อไวรัส EBV หรือ เชื้อ H.pyroli

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) คืออะไร

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง อาการบ่งชี้มีอะไรบ้าง

คนไข้ส่วนใหญ่จะมาด้วยอาการคลำได้ก้อนตามที่ต่าง ๆ ของร่างกาย โดยตำเหน่งที่พบได้บ่อยคือ คอ รักแร้ หรือขาหนีบ ก้อนที่คลำได้จะมีลักษณะแข็ง กดไม่เจ็บ นอกจากนี้อาจจะมีอาการไข้ เหงื่อออกช่วงกลางคืน หรืออาจจะมีน้ำหนักลดมากผิดปกติร่วมด้วย ในคนไข้บางรายมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอาจจะอยู่ในช่องอก หรือช่องท้อง ทำให้ไม่สามารถคลำก้อนได้จากภายนอกร่างกาย คนไข้จะมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวก ถ้ามีก้อนอยู่ในช่องอก หรือถ้าก้อนอยู่ในระบบทางเดินอาหารก็จะทำให้ขับถ่ายลำบาก หรือมีอาการแน่นท้องได้

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง - อาการเตือน

การวินิจฉัย มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

  • ขั้นตอนที่ 1 แพทย์จะตรวจร่างกายหาตำแหน่งของก้อนที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • ขั้นตอนที่ 2 ต้องทำการตัดชิ้นเนื้อ เพื่อไปตรวจทางพยาธิวิทยา โดยการตรวจชิ้นเนื้อนี้นอกจากจะช่วยวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้แล้ว ยังช่วยบอกถึงชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้อีกด้วย
  • ขั้นตอนที่ 3 จะมีการประเมินระยะของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โดยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอกและช่องท้อง การเจาะไขกระดูก

การรักษา มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ปัจจุบันการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง มีความก้าวหน้าและมีการศึกษาวิจัยมากมายนำไปสู่การตอบสนองของโรคที่ดีมากขึ้น สามารถรักษาให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตเทียบเท่าคนปกติได้ การพิจารณารักษาขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง นอกจากนี้ความแข็งแรงของผู้ป่วยแต่ละคนก็มีผลต่อการรักษาเช่นเดียวกัน

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิดอาจจะไม่มีอาการและมีการเติบโตที่ช้า ทำให้เราไม่จำเป็นต้องรักษาโดยทันที โดยจะอาศัยการตรวจติดตามเฝ้าสังเกตอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และเริ่มให้การรักษาก็ต่อเมื่อเริ่มมีอาการ หรืออาการนั้นรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วย

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง - การรักษา

การรักษาของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในปัจจุบันประกอบการให้ยาเป็นหลัก เนื่องจากเป็นโรคที่สามารถกระจายไปตามทางเดินน้ำเหลืองที่อยู่ทั่วร่างกายจึงไม่สามารถใช้การผ่าตัดที่ส่วนใดส่วนหนึ่งออกไปได้ โดยยาที่ใช้รักษาประกอบด้วย

  • ยาเคมีบำบัด
  • รักษาด้วยยามุ่งเป้า (Targeted therapy) โดยให้ยาไปกำจัดที่เซลล์มะเร็งโดยตรง
  • รักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ใช้ภูมิต้านทานของตัวคนไข้เองไปกำจัดเซลล์มะเร็ง

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง - วิธีป้องกัน

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง – วิธีป้องกันและลดความเสี่ยง 

  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ดี
  • หมั่นตรวจสุขภาพและสังเกตอาการของตัวเอง ถ้ามีอาการผิดปกติ หรือคลำได้ก้อนตามร่างกาย ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด และทำการรักษาตั้งแต่ระยะตั้งต้น

Share