การผ่าตัดส่องกล้อง หรือ Minimally Invasive Surgery (MIS) ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยเทคนิคและเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงการช่วยผ่าตัดโดยใช้แขนกลของหุ่นยนต์ พบว่าในการเลือกวิธีผ่าตัดที่เหมาะสมที่สุด ไม่ว่าจะเป็นผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง (Open Surgery) หรือผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Minimally Invasive Surgery, MIS) ขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละรายเป็นปัจจัยสำคัญ
การผ่าตัดส่องกล้อง หรือ Minimally Invasive Surgery (MIS) คืออะไร
ผ่าตัดแบบส่องกล้อง เป็นการผ่าตัดโดยการเจาะผ่านช่องท้องและสอดอุปกรณ์ผ่าตัด มีกล้องขนาดเล็กเข้าไปเพื่อบันทึกภาพและส่งมายังจอรับซึ่งทำหน้าที่แทนตาของศัลยแพทย์ รวมไปถึงใส่อุปกรณ์แทนมือของศัลยแพทย์ หรือแขนกลของหุ่นยนต์ มีข้อดีคือ แพทย์มองเห็นรายละเอียดของตำแหน่งที่ต้องการผ่าตัดได้ชัดเจนด้วยกำลังขยายของกล้อง ทำให้ผ่าตัดได้ตรงจุดจึงลดการกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ ทำให้การผ่าตัดสะดวกขึ้นไม่จำเป็นต้องเปิดแผลยาว เจ็บปวดหลังผ่าตัดน้อยกว่า เสียเลือดน้อยกว่า ฟื้นตัวใช้เวลาน้อยกว่า แต่มีข้อด้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องคือระยะเวลาผ่าตัดนานกว่า ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดสูงกว่า เนื่องจากต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ ต้องอาศัยความชำนาญของทีมแพทย์ ทีมพยาบาลผู้ช่วยผ่าตัด
ใครบ้างเหมาะกับการผ่าตัดแบบส่องกล้อง (MIS)
ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถได้รับการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ซึ่งเป็นตัวเลือกแรกที่ได้รับความนิยม แต่มีข้อจำกัด เช่น ถ้าเป็นโรคมะเร็งลำไส้ที่มีขนาดใหญ่หรือมีการลุกลามติดอวัยวะข้างเคียงมาก อาจไม่เหมาะในการผ่าตัดส่องกล้อง และไม่สามารถใช้วิธีนี้กับผู้ป่วยในบางราย เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคปอดและหัวใจขั้นรุนแรง หรือผู้ที่เคยผ่าตัดและมีพังผืดในท้องมาก
การผ่าตัดแบบส่องกล้อง เจ็บปวดหรือไม่
การผ่าตัดทั้งหมดทำให้มีความเจ็บปวด แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบการผ่าตัดแบบส่องกล้อง กับการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแบบส่องกล้อง จะรู้สึกปวดทั้งในระยะสั้นและระยะยาวน้อยกว่ามาก เนื่องจากแผลที่ผ่าตัดมีขนาดเล็ก
ระยะพักฟื้นนานแค่ไหน?
แต่ละกรณีแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น การผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ ผู้ป่วยจะใช้เวลาฟื้นตัวสั้นมากและไม่เจ็บปวด แต่ถ้าโรคมะเร็งลำไส้ก็จะใช้เวลานานกว่า แต่ในเกือบทุกกรณี ระยะพักฟื้นและความเจ็บปวดสำหรับการผ่าตัดส่องกล้องนั้นน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
อัตราความสำเร็จและภาวะแทรกซ้อนเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
การผ่าตัดแบบส่องกล้องมีอัตราความสำเร็จสูงมากและมีความเสี่ยงต่ำที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน อัตราการครองเตียงน้อยกว่า ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน และโรคแทรกซ้อนต่างๆ จากการนอนบนเตียงนานๆ เช่น การมีหลอดเลือดอุดตันที่ขา การติดเชื้อในทางเดินหายใจ เป็นต้น ทำให้ไม่ต้องชะลอเวลาก่อนที่จะเริ่มการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี ลดการเกิดพังผืดในช่องท้องจากการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง ที่สำคัญอัตราการรอดชีพเทียบเท่ากับการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง
มีเทคโนโลยีล่าสุดที่ช่วยให้การผ่าตัดแบบส่องกล้อง ดีขึ้นหรือไม่
มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากมายที่ช่วยให้การผ่าตัดแบบส่องกล้องดีขึ้น เช่น แขนกลหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด และประสิทธิภาพของกล้องผ่านเทคโนโลยี Medical Grade 4K Display ทำให้ได้ภาพคมชัดแม่นยำ นอกจากนี้ ยังมีการฉีดของเหลวพิเศษ คือ Indocyanine Green และตรวจจับด้วยกล้องตรวจ Fluorescence เพื่อช่วยศัลยแพทย์ให้สามารถมองเห็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า วิธีนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จในการผ่าตัดและลดภาวะแทรกซ้อนได้อย่างมาก
ฝากถึงผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัด
ต้องคิดถึงสิ่งที่ดีและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วย อย่าเพิ่งเชื่อที่บอกว่าการผ่าตัดแบบเปิดเป็นทางเลือกเดียว สามารถค้นคว้าข้อมูล วิจัยเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจได้เสมอ