‘โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์’ (Rheumatoid Arthritis) เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังที่พบบ่อยที่สุด เพราะสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย พบมากในช่วงอายุ 30-50 ปี โดยจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย อาการสำคัญของโรค ได้แก่ ข้อรยางค์ โดยเฉพาะข้อขนาดเล็กมีอาการอักเสบ ปวด บวมอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความเจ็บปวด จนไม่สามารถใช้ข้อต่างๆ ได้ หากเกิดการอักเสบอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ข้ออาจถูกทำลายและเกิดข้อผิดรูป จนเกิดภาวะทุพพลภาพได้
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด จากการศึกษาพบว่าเกิดจากผลของปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ร่วมกันมากระตุ้นทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติไป โดยปัจจัยเสี่ยง ได้แก่
- พันธุกรรมและกระบวนการเหนือพันธุกรรม (Genetics และ Epigenetics)
- ฮอร์โมน (Hormones)
- สิ่งแวดล้อม (Environment) ที่สำคัญ ได้แก่ การสูบบุหรี่ ซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดโรคที่รุนแรง การติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียบางชนิด
อาการของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มีอาการแสดงได้หลายระบบของร่างกาย ซึ่งแบ่งหลักๆ เป็นอาการทางข้อและนอกข้อ ดังนี้
อาการทางข้อ เป็นอาการหลัก โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
- ผู้ป่วยจะมีข้ออักเสบ (Arthritis) ซึ่งมีอาการ ปวด บวม แดง ร้อน กดเจ็บ โดยมักจะเป็นที่ข้อขนาดเล็ก ได้แก่ ข้อกลางนิ้วมือ, ข้อโคนนิ้วมือ, ข้อมือ, ข้อนิ้วเท้า ส่วนข้อขนาดใหญ่ เช่น ข้อศอก ข้อเข่า ข้อสะโพกสามารถพบได้น้อยกว่า โดยมักมีอาการปวดหลายข้อและเป็นแบบสมมาตร (Symmetrical Polyarthritis) อย่างไรก็ตามในระยะแรกของโรคอาจมีอาการอักเสบเพียงแค่ข้อเดียว และไม่สมมาตรได้
- ข้อฝืดตึง (Joint Stiffness) ตอนเช้าหรือหลังการหยุดใช้งานข้อเป็นระยะเวลานาน โดยอาการฝืดตึงมักเป็นนานเกิน 1 ชั่วโมง
- ข้อพิการผิดรูปมักเกิดในผู้ป่วยที่เป็นโรคมานาน เกิดจากการทำลายข้อ เอ็นและกล้ามเนื้อรอบข้อหย่อนยานและอ่อนแรง พบได้บ่อยที่บริเวณนิ้วมือ ข้อมือ
- ปวดต้นคอและบริเวณท้ายทอย เกิดจากการอักเสบของข้อต่อกระดูกสันหลังระดับคอระดับที่ 1 และ 2 และอาการเกิดการเคลื่อนของกระดูก (C1-C2 subluxation) จนกดเบียดไขสันหลังและเส้นประสาทได้
อาการนอกข้อ อาจพบหรือไม่ก็ได้
- ปุ่มรูมาตอยด์ มักพบตำแหน่งของร่างกายที่มีการกดทับ
- อาการทางตา เช่น ตาแห้ง เยื่อบุตาขาวอักเสบ ตาขาวอักเสบที่รุนแรงจนทำให้ทะลุได้
- ระบบโลหิต พบภาวะซีดจากการอักเสบเรื้อรัง เกล็ดเลือดสูง ภาวะม้ามโตและเม็ดเลือดขาวต่ำ (Felty’s Syndrome) ต่อมน้ำเหลืองโต
- ระบบทางเดินหายใจ พบเยื่อหุ้มปอดอักเสบ ปอดอักเสบและปอดเป็นพังผืด
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด พบภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) ได้ก่อนวัย
- หลอดเลือดอักเสบ
- ภาวะกระดูกพรุน
การวินิจฉัยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
การสืบค้นและวินิจฉัยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ต้องอาศัยประวัติ อาการและอาการแสดงที่ตรวจร่างกายพบ ร่วมกับการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ เพื่อช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยและแยกโรคอื่นๆ ที่มีอาการคล้ายกันออกไป ปัจจุบันยังไม่มีการตรวจที่จำเพาะกับโรค
โดยการตรวจพบสารรูมาตอยด์ (Rheumatoid factor) หรือ Anti-Cyclic Citrullinated Peptides (Anti-CCP) ช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยและบอกพยากรณ์โรคที่รุนแรงด้วย การตรวจค่าการอักเสบ (ESR, CRP) บางกรณีอาจต้องเจาะตรวจน้ำไขข้อเพื่อแยกจากโรคอื่นๆ เช่น โรคข้ออักเสบติดเชื้อ
การตรวจทางภาพรังสีมีหลายวิธี โดยภาพถ่ายรังสี (Plain Radiography) จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของข้อในผู้ป่วยที่โรคดำเนินมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) และการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging; MRI) มีความไวกว่าภาพถ่ายรังสี และสามารถตรวจพบการอักเสบได้ในระยะแรกที่การตรวจร่างกายยังไม่ชัดเจน โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกการตรวจที่เหมาะสม
ภาพถ่ายรังสีมือของผู้ป่วยรูมาตอยด์ระยะท้าย พบข้อและกระดูกถูกกัดกร่อนทำลายจนผิดรูป
การรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
การรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์นั้นมีเป้าหมายให้โรคสงบ ไม่มีอาการปวดบวมข้อ สามารถใช้ข้อทำกิจวัตรต่างๆ ได้ หยุดการทำลายข้อและยับยั้งข้อพิการผิดรูป โดยยิ่งรักษาให้โรคสงบได้เร็วเท่าใดยิ่งส่งผลดีต่อผู้ป่วยมากขึ้น
การรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โดยการใช้ยา
เป็นการรักษาหลักของโรค ประกอบด้วยยาต้านรูมาติกที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค (Disease Modifying Antirheumatic Drugs; DMARDs) ซึ่งเป็นยามาตรฐานควรใช้ยาตั้งแต่ระยะแรกของโรคและปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย มักต้องใช้ยานี้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเพื่อควบคุมโรคไม่ให้กำเริบใหม่ โดยขณะที่โรคยังไม่สงบแพทย์จะพิจารณาใช้ร่วมกับยาต้านการอักเสบ ได้แก่ ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs; NSAIDs), ยาสเตียรอยด์ ซึ่งจะค่อยๆ ลดขนาดยาลงเมื่ออาการดีขึ้นจนกระทั่งหยุดยากลุ่มนี้ได้
การรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ แบบไม่ใช้ยา
ได้แก่ การให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค การหลีกเลี่ยงการใช้ข้อที่มากเกินไปและพฤติกรรมที่ส่งผลทำลายข้อ เช่น การกระโดด การนั่งยอง ควบคุมน้ำหนักและหยุดสูบบุหรี่ การทำกายภาพบำบัดและออกกำลังเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของข้อและกล้ามเนื้อโดยรอบซึ่งควรทำภายใต้การดูแลของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อหากมีการทำลายข้อผิดรูปมากหรือมีอาการปวดจะช่วยลดความเจ็บปวดและทำให้ข้อทำงานได้ดีขึ้น
หากปวดข้อติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์
ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องทันเวลา
เพื่อควบคุมให้อาการของโรคสงบ
คงสภาพข้อและการทำงานของข้อ
ให้ปกติคู่กับเราไปยาวนาน