Shopping Cart

No products in the cart.

อาการแบบไหน…เรียกว่า ไตวายเรื้อรัง

ไตวายเรื้อรัง (Kidney Failure) ในปัจจุบันกำลังเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก เพราะจากข้อมูลการศึกษาและวิจัยของ ‘สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย’ พบว่า คนไทยมีอาการของโรคไตเรื้อรังคิดเป็นประมาณร้อยละ 17.6 ของผู้ป่วย 8 ล้านคน และยังพบด้วยว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตวายระยะสุดท้ายอีกราว ๆ 80,000 คน ซึ่งตัวเลขมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นในทุก ๆ ปี

รู้จักและทำความเข้าใจ ไตวายเรื้อรัง

โรคไต คือ ภาวะที่ไตถูกทำลายโดยเฉพาะจุดที่เป็นเนื้อไต ซึ่งส่งผลกระทบให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ไม่ว่าจะเรื่อง การรักษาสมดุลของเหลวในร่างกาย, การควบคุมน้ำและแร่ธาตุต่าง ๆ ในเลือด, การกำจัดของเสียออกจากเลือด, การกำจัดยาและพิษออกจากร่างกาย และการหลั่งฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือด เป็นต้น ทั้งหมดล้วนเป็นผลมาจากอาการโรคไตวาย ทำให้ไตไม่สามารถกลับมาทำงานได้ดีดังเดิม

ทำความรู้จัก โรคไตวายเรื้อรัง

ทั้งนี้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไตวาย เริ่มแรกจะไม่ค่อยแสดงอาการใด ๆ ให้เห็น ทว่าหากเราไม่หมั่นตรวจเช็กร่างกายหรือสังเกตความผิดปกติ และเลือกที่จะปล่อยไว้ไม่ทำการรักษา ไตจะเสื่อมสภาพลงจนเข้าสู่ระยะสุดท้าย มีของเสียคั่งอยู่ในกระแสเลือด ซึ่งต้องทำการรักษาด้วยวิธีการบำบัดทดแทนไต อาทิเช่น การฟอกเลือด ล้างไตทางช่องท้อง หรือรักษาด้วยการปลูกถ่ายไต เป็นต้น

ใครบ้างที่มีความเสี่ยง

  • ผู้มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป เพราะไตจะยิ่งเสื่อมสภาพเมื่ออายุมากขึ้น
  • คนที่น้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือเป็นโรคอ้วน
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือไขมันในเลือดสูง
  • ผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคไตและเบาหวาน
  • คนที่สูบบุหรี่เป็นประจำทุกวัน

โรคไตวายเรื้อรัง 6 สัญญาณอันตราย

6 สัญญาณเตือนอาการ ไตวายเรื้อรัง ที่ควรพึงระวัง

  • ปัสสาวะมีความผิดปกติ เช่น ปัสสาวะบ่อยขึ้น มีฟองมาก และมีเลือดเจือปน
  • เบื่ออาหาร
  • กล้ามเนื้อเป็นตะคริวตอนกลางคืน
  • เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย และใบหน้าซีดเซียว
  • ปวดหลังหรือบั้นเอวข้างใดข้างหนึ่ง
  • มีอาการบวมตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น หน้าบวม ตาบวม หรือเท้าบวม เป็นต้น

ป่วยเป็น โรคไตวายระยะสุดท้าย รักษาด้วยวิธีไหนได้บ้าง ?

  • การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) เป็นการนำเลือดของผู้ป่วยที่มีของเสียคั่งค้างอยู่ มาผ่านกระบวนการกรองเลือด เพื่อแยกของเสียออกจากเลือด จากนั้นค่อยนำเลือดที่ถูกกรองจนสะอาดดีแล้ว ใส่กลับคืนสู่ร่างกายผู้ป่วย
  • การล้างช่องท้องด้วยน้ำยา (CAPD) โดยผู้ป่วยจะต้องใส่น้ำยา CAPD เข้าไปในช่องท้องตนเอง ครั้งละ 2 ลิตร ความถี่ 3-4 ครั้ง/วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของผู้ป่วย
  • การปลูกถ่ายไต (Kidney Transplantation) คือวิธีรักษาโรคไตวายขั้นสุดท้ายและให้ผลดีที่สุด

โรคไตวายเรื้อรัง รักษาแบบไหนได้บ้าง

รู้ก่อนป้องกันได้ทันท่วงที !

โรคไตในระยะแรกเริ่มจะไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคไตอยู่ จนกระทั่งอาการแย่ลง ซึ่งวิธีป้องกันโรคไตที่ดีที่สุด คือ การตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีกับแพทย์เฉพาะทาง ที่เมื่อตรวจพบจะได้ทำการรักษาแต่เนิ่น ๆ ส่งผลให้โรคไตอาการคงตัวและหายได้ เพราะหากปล่อยไว้อาการจะยิ่งแย่ลง จนไตไม่สามารถกลับมาใช้งานได้เหมือนเดิมอีกเลย

Kidney Transplantation Center

Thainakarin Hospital
02-340-7777

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
รศ.นพ.ณัฐพล อาภรณ์สุจริตกุล
รศ.นพ.ณัฐพล อาภรณ์สุจริตกุล
ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะ โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์