ความดันโลหิตสูง (Hypertension) คือภาวะที่ตรวจพบว่ามีความดันเลือดสูงกว่าปกติ คือมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท โดยส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการใดๆ แต่บางรายอาจมีอาการได้ เช่น ปวดหัว เลือดกำเดาไหล หายใจไม่ทัน ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวควรพบแพทย์ เพื่อควบคุมความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะหากปล่อยไว้นาน อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น หัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมองได้
ความดันโลหิตสูง คืออะไร
ความดันโลหิตสูง คือภาวะที่ตรวจพบว่ามีความดันเลือดสูงกว่าปกติ คือมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท มักไม่แสดงอาการ แต่สามารถสร้างความเสียหายต่อหลอดเลือดและหัวใจ โดยอาจนำไปสู่สภาวะการแข็งตัวของหลอดเลือด การอุดตันของหลอดเลือดหรือหลอดเลือดแตกได้ จึงถือว่าถือว่าเป็นสภาวะที่ต้องควบคุม
ปัจจัยเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง
- อายุ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นความดันเลือดจะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
- อารมณ์ ความเครียด จะส่งผลให้ความดันเลือดสูงผิดปกติ
- ประวัติครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง
- รับประทานเกลือมากเกินไป อาหารรสจัด
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือภาวะไขมันในเลือดสูง
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- สูบบุหรี่
- พักผ่อนไม่เพียงพอ
อาการของโรคความดันโลหิตสูง
ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการใดๆ แต่บางรายพบว่ามีอาการปวดหัว เลือดกำเดาไหล หายใจไม่ทัน ซึ่งหากทิ้งไว้นาน โดยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง เช่น หัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมองได้
ภาวะแทรกช้อนจากโรคความดันโลหิตสูง
- หัวใจ ได้แก่ ภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- ไต อาจเป็นโรคไตวายเรื้อรัง
- สมอง อาจเป็นโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต
- ตา อาจเกิดความผิดปกติที่จอประสาทตา
สาเหตุที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง
แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
1.กลุ่มไม่ทราบสาเหตุ (Essential Hypertension) พบมากกว่า 90% พบได้บ่อยในรายที่มีประวัติครอบครัวเป็นความดันโลหิตสูง อายุมากส่วนใหญ่
2.กลุ่มที่ทราบสาเหตุ (Secondary Hypertension) พบได้น้อย โดยพบในผู้ป่วยที่มีโรคอยู่แล้ว เช่น
- ผู้ที่มีปัญหาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
- โรคไต, หลอดเลือดที่ไตตีบ
- เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต
- โรคต่อมไทรอยด์
- ความผิดปกติของหลอดเลือด
- ภาวะอ้วนลงพุง
- ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยารักษาโรคไข้หวัด ยาลดความอ้วน ยาแก้ปวด และยาอื่นๆ
- การใช้สิ่งเสพติดที่ผิดกฎหมาย ตัวอย่าง เช่น โคเคน และยาบ้า
จะรู้ได้อย่างไรว่าความดันโลหิตสูง
ตารางแสดงค่าความดันโลหิต
ประเภท | ความดันโลหิตตัวบน (มม.ปรอท) | ความตันโลหิตตัวล่าง (มม.ปรอท) | |
ความดันโลหิตที่ดี | ต่ำกว่า 120 | และ | ต่ำกว่า 80 |
ความดันโลหิตปกติ | 120 – 129 | และ/หรือ | 80 – 84 |
ความดันโลหิตค่อนข้างสูง | 130 – 139 | และ/หรือ | 85 – 89 |
ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย (ระยะที่ 1) | 140 – 159 | และ/หรือ | 90 – 99 |
ความดันโลหิตสูงปานกลาง (ระยะที่ 2) | 160 – 179 | และ/หรือ | 100 – 109 |
ความดันโลหิตสูงมาก (ระยะที่ 3) | ตั้งแต่ 180 ขึ้นไป | และ/หรือ | ตั้งแต่ 110 ขึ้นไป |
ความดันโลหิตสูง ต้องกินยาไปตลอดชีวิต จริงไหม?
ไม่จริง แต่ต้องได้รับการประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน เนื่องจากความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ทั้งหัวใจ สมองและไตได้ จึงจำเป็นที่ต้องรับประทานยาควบคุมความดันโลหิตอย่างต่อเนื่อง
ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อรักษาระดับความดันโลหิตเฉลี่ยให้ต่ำกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ถ้าแพทย์พิจารณาเห็นว่าผู้ป่วยมีความดันลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ รวมถึงภาวะทางร่างกายและโรคร่วมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องควบคุมได้ดีแล้ว เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน ปริมาณไขมันในเลือด แพทย์อาจพิจารณาลดยาความดันโลหิตบางอย่างลง จนในที่สุดผู้ป่วยก็สามารถหยุดยาได้ตามที่แพทย์เห็นสมควร
ความดันโลหิตสูง จะต้องปวดหัว จริงไหม?
ไม่จริง เนื่องจากผู้ป่วยความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการใดๆ
ความดันโลหิตสูง พบในผู้สูงอายุเท่านั้น จริงไหม?
ไม่จริง เนื่องจากสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง ส่วนหนึ่งเกิดจากโรคที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดและฮอร์โมน จึงสามารถพบได้ทุกกลุ่มอายุ
ความดันโลหิดสูง หายขาคได้ไหม?
ในกลุ่มผู้ป่วยความดันโลหิดสูงที่ทราบสาเหตุ เช่น เนื้องอกของต่อมหมวกไต หากได้รับการผ่าตัดแก้ไข สามารถหายได้ แต่ในกลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ควบคุมได้ ด้วยการรับประทานยาเป็นประจำและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
วิธีดูแลตัวเอง สำหรับผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง
- เปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ลดอาหารเค็ม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักอย่าให้อ้วน งดบุหรี่เพราะบุหรี่เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้หลอดเลือดแดงตีบตัน
- รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ปรับยาเอง
- วัดความดันโลหิตเป็นประจำ
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ป้องกันความดันโลหิตสูง
- ลดน้ำหนักให้ดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ในช่วง 18.5-24.9 กก/ตรม
- ควบคุมอาหาร จำกัดเกลือในอาหาร รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นรับประทานเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อปลา และผลไม้รสหวาน
- ออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น การเดินเร็วๆ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน อย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์
- จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เกิน 2 Drinks/วัน ในผู้ชาย (Ethanol 30 กรัม/วัน เช่น เบียร์ 720 มล., ไวน์ 300 มล., วิสกี้ที่ยังไม่ผสม 90 มล.) และไม่เกิน 1 Drink/วัน ในผู้หญิงและคนน้ำหนักน้อย
- เลิกสูบบุหรี่