เราทุกคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าการสูบบุหรี่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ นำไปสู่โรคมะเร็งและโรคร้ายต่างๆ มากมาย แต่การจะเลิกบุหรี่ให้สำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นไปได้! เพียงมี ‘พลังใจ’ ที่เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็น กำลังใจจากคนรอบข้าง หรือกำลังใจของผู้สูบเอง ซึ่งมีส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้สามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ
บุหรี่ ก่อให้เกิดโรคอะไรบ้าง
บุหรี่ มีสารประกอบที่เรียกว่านิโคติน (Nicotine) มีฤทธิ์ทำให้ผู้สูบเกิดการเสพติด นำมาสู่ภาวะติดบุหรี่ได้ และยังมีสารประกอบอื่นๆ ในควันที่ได้จากการเผาไหม้ ซึ่งเต็มไปด้วยสารก่อมะเร็งมากมาย ก่อให้เกิดโรคมะเร็งของระบบต่างๆ ในร่างกาย นอกจากนี้ การสูบบุหรี่สามารถก่อให้เกิดโรคทางกายเรื้อรังได้ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง เป็นต้น อันนำมาสู่ความทุพพลภาพและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
อาการแบบไหน? เรียกว่า ‘เสพติดบุหรี่’
อาการที่พบได้บ่อย คือ มีการสูบบุหรี่ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน มีอาการอยากสูบบุหรี่ (Craving) มีความรู้สึกยากลำบากในการลด/เลิกบุหรี่ มีอาการถอน (Withdrawal) เวลาที่ไม่ได้สูบ หรือดื้อต่อบุหรี่ (Tolerance) ส่งผลให้เพิ่มปริมาณการสูบมากขึ้น โดยการสูบบุหรี่นั้น มักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในด้านต่างๆ เช่น ปัญหาสุขภาพ ปัญหาความสัมพันธ์ และอื่นๆ
เสพติดบุหรี่ ส่งผลต่อสุขภาพจิต จริงไหม?
จริง เนื่องจากบุหรี่มีสารนิโคติน อันมีผลต่อระบบประสาทและสมอง โดยส่งผลให้ระดับสารสื่อประสาทในสมองเปลี่ยนแปลงไป อันนำไปสู่ผลกระทบต่อด้านอารมณ์ได้
อาการลงแดงในช่วงแรกของการเลิกบุหรี่
อาการลงแดง หรือเรียกทางการแพทย์ว่าอาการถอน (Withdrawal) มีอาการได้ตั้งแต่หลักไม่กี่ชม.หรือนานเป็นหลักสัปดาห์หลังจากที่เลิกสูบบุหรี่ มักมีอาการ…
- หิวมากขึ้น
- อยากสูบบุหรี่
- ปวดศีรษะ
- มึนงง
- อ่อนเพลีย
- หงุดหงิดง่าย
- เศร้า
- วิตกกังวล
ยาช่วยเลิกบุหรี่ได้จริงไหม
อาการถอนและอาการอยากบุหรี่ มักเป็นอุปสรรคที่สำคัญของผู้ที่มีภาวะติดบุหรี่ อันนำมาสู่การกลับมาสูบบุหรี่ซ้ำได้ ซึ่งยาสำหรับช่วยเลิกบุหรี่ในปัจจุบัน มีฤทธิ์ในการช่วยลดอาการถอนและอยากนิโคตินในช่วงระหว่างการเลิกบุหรี่ได้ อย่างไรก็ตาม การเลิกบุหรี่ได้นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ของผู้ป่วยแต่ละคนร่วมด้วย
วิธีเลิกบุหรี่ด้วยตัวเองให้สำเร็จ
อย่างแรก คือ เปิดใจยอมรับถึงปัญหาการสูบบุหรี่ของตนเองว่าเข้าสู่ภาวะติดบุหรี่ สร้างความตั้งใจอย่างแน่วแน่ในการเลิกบุหรี่ ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน หาแรงบันดาลใจสำหรับการเลิกบุหรี่ เช่น เพื่อสุขภาพตนเอง เพื่อครอบครัว ฯลฯ มองหาอุปสรรคอันจะนำไปสู่การกลับไปสูบบุหรี่ซ้ำ และกำจัดปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นให้เหลือน้อยที่สุด
- นอกจากนี้ อาจลองหาสิ่งทดแทนพฤติกรรมการสูบหรือทดแทนบุหรี่ เช่น การเคี้ยวหมากฝรั่ง ลูกอม เป็นต้น
- ไม่แนะนำ ให้ใช้การสูบรูปแบบอื่นทดแทน เช่น บุหรี่ไฟฟ้า (E-cigarette)
อยากเลิกบุหรี่ให้สำเร็จ ‘กำลังใจ’ เป็นสิ่งสำคัญ
กำลังใจเป็นส่วนสำคัญมากในการเลิกบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นกำลังใจจากคนรอบข้าง หรือแม้แต่กำลังใจของ ‘ผู้สูบ’เองในการเลิกบุหรี่ จะช่วยให้ผู้ที่ตัดสินใจเลิกสูบบุหรี่ มีความหวัง และผลักดันให้การเลิกบุหรี่สำเร็จได้มากขึ้น
บทความโดย
พญ.ณัฐชา เลิศอิทธิพร
จิตแพทย์ แผนกสราญรมย์ โรงพยาบาลไทยนครินทร์