ภาวะหัวใจเต้นระริก (Atrial Fibrillation) หรือ AF คือภาวะหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ เกิดในหัวใจด้านบนทั้ง 2 ข้าง มีทั้งเต้นเร็ว เต้นช้า และไม่สม่ำเสมอ ซึ่งภาวะเหล่านี้ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายลดลง ทำให้ร่างกายส่วนอื่นขาดเลือด อาหาร และออกซิเจน ซึ่งทำให้เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke ได้
สาเหตุของภาวะหัวใจเต้นระริก
- โรคหัวใจ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคลิ้นหัวใจ หัวใจห้องล่างโตเกินปกติ
- ความดันโลหิตสูง ไทรอยด์ เบาหวาน หลอดเลือดแข็งตัว
- ผ่าตัดหัวใจ ผ่าตัดลิ้นหัวใจ ผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ
- ความเครียด อ่อนล้า ดื่มสุราจัด ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน สูบบุหรี่
อาการของภาวะหัวใจเต้นระริก หรือ หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ
ผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นระริก หรือ AF ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่มาพบแพทย์ด้วยผลแทรกซ้อน โดยเฉพาะอัมพาตตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ส่วนที่เหลือผู้ป่วยมาพบแพทย์เนื่องจากอาการดังต่อไปนี้
- มีอาการสมองขาดเลือดไม่ทราบสาเหตุ
- ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว เต้นไม่สม่ำเสมอ
- เจ็บหรือแน่นหน้าอก หายใจลำบาก
- เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
- เหนื่อยมากขณะออกกำลังกาย
- เป็นลมหมดสติ
การตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจระริก หรือ หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ
1. การตรวจชีพจรและอัตราการเต้นของหัวใจ
2. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram)
3. การตรวจอื่นๆ ทางห้องปฎิบัติการ เช่น
- การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram)
- การตรวจเอกซเรย์ปอด
- การตรวจหาภาวะซีดโลหิตจางหรือไตวาย
- การตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์
ทำอย่างไรถึงจะทราบว่าเป็นโรคหัวใจเต้นระริก หรือ AF
ทุกคนสามารถทำเองได้ง่ายๆ โดยการฝึกตรวจชีพจรข้อมือ เริ่มต้นโดยหงายข้อมือที่ไม่ถนัด คลำโดยใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางของมือข้างที่ถนัด สัมผัสการเต้นของชีพจร (จะรู้สึกเหมือนมีอะไรมากระทบนิ้วเราเบาๆ) ในขณะที่จับชีพจรให้จับเวลาด้วย นับการเต้นของชีพจรเต้นตุ๊บๆ ของชีพจร นับไปจนครบ 1 นาที ถ้าจับชีพจรแล้วได้น้อยกว่า 60 หรือมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที หรือเต้นตุ้บๆๆๆ ไม่สม่ำเสมอ เบามั่งแรงมั่งโดยที่ไม่ได้ไปออกแรงออกกำลังมาก่อน หรือไม่มีสาเหตุอื่นๆ ให้สงสัยว่าอาจจะเป็นโรคหัวใจ และควรไปพบแพทย์ทันที
แนวทางในการรักษาโรคหัวใจเต้นระริก
การรักษาภาวะหัวใจระริกเพื่อรักษาอาการและลดภาวะแทรกซ้อนเป็นหลัก ซึ่งมีผลช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและลดอัตราการเข้าโรงพยาบาลได้ โดยมีวิธีการหลายอย่าง ดังนี้
- ใช้ยาละลายลิ่มเลือด (Warfarin)
- การใช้ไฟฟ้ากระตุกเพื่อปรับการเต้นของหัวใจ (Cardioversion) ให้กลับเต้นปกติ
- การใช้สายสวนหัวใจเพื่อตัดวงจรไฟฟ้าผิดปกติในหัวใจด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง (Radiofrequency Ablation) หรือความเย็นจัด (Cryoablation) ทำให้หัวใจกลับเต้นปกติ